หนุนรัฐดันโครงข่ายคมนาคม โยงแผนกระตุ้นศก.ระยะยาว

หนุนรัฐดันโครงข่ายคมนาคม โยงแผนกระตุ้นศก.ระยะยาว

การประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม2558 ที่ผ่านมา หลายคนลุ้นว่าที่ประชุมครม.

 ซึ่งมี“ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ซึ่งเคยเห็นด้วยกับมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ในสมัยที่เป็นรมต.คลังมาแล้ว จะพิจารณาและผ่านความห็นชอบมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ที่ภาคเอกชนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นำเสนอไปก่อนหน้านี้

แต่ที่ประชุมครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ยังไม่มีวาระเกี่ยวกับมาตรการอสังหาฯ ตามที่เอกชนให้รายละเอียดไว้ ซึ่งประกอบด้วย การผ่อนปรนการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย การลดค่าธรรมเนียมการโอน 2% และจดจำนอง 1% เหลือ 0.01 % และขยับเพดานราคาการปล่อยกู้บ้านผู้มีรายได้น้อย ตามนโยบายของรัฐบาล ให้ธอส.ปล่อยกู้ไม่เกิน 1.5 ล้านบาท เป็นไม่เกิน 3 ล้านบาท แต่หลายคนก็คาดว่ามาตรการอสังหาฯ จะถูกนำเสนอเข้าที่ประชุมครม.ในเร็วๆ นี้

ส่วนวาระที่ถูกนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมครม.วันที่ 6 ตุลาคม 2558 คือ มติให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2553 ในการดำเนินการคัดเลือกเอกชนลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและรับจ้างดำเนินกิจการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแคและช่วงเตาปูน-ท่าพระ ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 มาดำเนินการ ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการ ของรัฐ พ.ศ. 2556 

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “กฏหมายเดิม ชี้นำไปในการประมูลอย่างเดียว แต่ตอนนี้โครงสร้างการขนส่งเปลี่ยนไป และถ้ามีหลายเจ้ามาดำเนินการจะต้องมีการซ่อมบำรุง มีอู่คนละกลุ่มงานกัน ซึ่งตามนโยบายของรัฐบาลนี้จะยึดประชาชนได้ประโยชน์เป็นหลัก ประชาชนต้องสะดวก ขณะที่รัฐต้องประหยัดการลงทุน โดยทางคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ที่มี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะเป็นผู้พิจารณาตามที่คณะกรรมการฯเห็นว่าเหมาะสม”

ถ้าให้เปรียบเทียบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 2 เรื่อง ระหว่างการเร่งโครงข่ายคมนาคมโดยเร่งงานพัฒนารถไฟฟ้า กับมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ โดยส่วนตัวแล้วเห็นด้วยหากรัฐบาลจะเร่งเดินหน้างานก่อสร้างรถไฟฟ้า เพื่อให้การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมมีความสมบูรณ์โดยเร็วที่สุด เพราะมองว่าการเดินทางที่สะดวกด้วยระบบราง น่าจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ กระตุ้นการลงทุนตามแนวเส้นทาง แก้ปัญหารถติด ลดการใช้พลังงาน และลดภาระผู้บริโภคได้ในระยะยาว

ส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์หากรัฐจะมีมาตรการส่งเสริม โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่า ควรเป็นมาตรการที่ช่วยกระตุ้นให้ อสังหาริมทรัพย์ที่สร้างเสร็จที่เหลือตกค้างในตลาด สามารถขายออกไปได้ จะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจต่อเนื่อง เพราะปัญหาที่เป็นอยู่ในขณะนี้ คือ หลายโครงการเดินหน้าก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่ติดขัดที่ลูกค้าขอสินเชื่อไม่ผ่าน ยอดปฏิเสธสินเชื่อสูงถึง 40% ในบางบริษัท  

“ปัญหาของตลาดบ้านตอนนี้ ไม่ได้อยู่ที่ค่าโอน 2% หรือค่าจดจำนอง 1% เพราะผู้ประกอบการหลายราย ใช้วิธีจัดแคมเปญฟรีค่าโอนฟรีค่าจดจำนอง ฟรีทุกอย่างในวันโอน เพื่อกระตุ้นตลาดอยู่แล้ว ่ปัญหาส่วนใหญ่ที่ทำให้ยอดขายอสังหาฯไม่เดินหน้า จึงไม่น่ามาจากเงื่อนไขค่าธรรมเนียมดังกล่าว แต่เกิดจากการที่ผู้บริโภคซื้อสินค้าแล้วไม่สามารถขอสินเชื่อเพื่อโอนได้" 

อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าเอกชนต้องการเสนอให้มีมาตรการลดค่าธรรมเนียมต่างๆ เพื่อหวังผลทางจิตวิทยาการตลาด แต่อย่าลืมว่า ปัญหารอบนี้ไม่เหมือนหลายครั้งที่ผ่าน เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยลูกค้ามีภาระทางการเงินสูง เครดิตบูโรมีฐานข้อมูลที่เก็บต่อเนื่องมาหลายปี ขณะที่สถาบันการเงินเองก็ระมัดระวังตัวเองสูงขึ้น ทำให้ลูกค้าถูกปฏิเสธสินเชื่อมากเป็นประวัติการณ์

ปัญหาจึงน่าจะอยู่ที่ภาระทางการเงินของลูกค้าตามฐานข้อมูลเครดิตบูโร หลักเกณฑ์ที่ทำให้ธนาคารเข้มงวด ส่งผลให้ยอดปฏิเสธสินเชื่อสูง ฉุดยอดขายที่ีลูกค้าตัวจริงจองซื้อไว้หดหายไปเท่ากับจำนวนที่ถูกปฏิเสธสินเชื่อ 

ส่วนลูกค้าใหม่ในภาวะที่เศรษฐกิจถดถอย การซื้อสินค้าราคาแพงที่สุดในชีวิตอย่างที่อยู่อาศัย ย่อมลดน้อยถอยลงตามปกติ ต่อให้รัฐมีมาตรการเสนอ.. ฟรีทุกค่าธรรมเนียม!! ก็ไม่อาจกระตุ้นการซื้อได้ หากลูกค้าไม่ได้ตั้งใจซื้อ และเตรียมตัวเตรียมเงินในการซื้อไว้ก่อนหน้าแล้ว

เพราะซื้ออสังหาฯไม่เหมือนซื้อเสื้อผ้า ที่จะตัดสินใจได้ง่ายตามแคมเปญ แบบไม่ต้องเตรียมตัวมาก่อน!!..”