“คลัสเตอร์” เครื่องมือสำคัญที่ SME ควรรู้

“คลัสเตอร์” เครื่องมือสำคัญที่ SME ควรรู้

นับตั้งแต่ ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ภายใต้การนำของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เข้ามารับผิดชอบงานรัฐบาลได้พยามผลักดันในเรื่อง"คลัสเตอร์"ขึ้นมาอีกครั้ง

ท่านผู้ประกอบการหลายท่านคงได้ยินคำว่า คลัสเตอร์ กันมาบ้างแล้ว เริ่มตั้งแต่ปี 2546 รัฐบาลสมัยนั้นได้เริ่มดำเนินการส่งเสริมกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลัก ที่มีบทบาทในการปฎิบัติและขับเคลื่อนเรื่องคลัสเตอร์ ตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU) ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2547 ผ่านมาสิบกว่าปี เรื่องคลัสเตอร์ในประเทศไทยยังคงเป็นเรื่องที่พูดกันในเวทีสัมมนา มากกว่าจะมีการปฏิบัติอย่างจริง 

ผมจึงขอนำเสนอเรื่องคลัสเตอร์ให้ท่านผู้ประกอบการได้ทำความเข้าใจ และเห็นความสำคัญในการดำเนินธุรกิจ

คำว่า “คลัสเตอร์” ริเริ่มโดย ศาสตราจารย์ Michael E.Porter ซึ่งเป็นปรมาจารย์ด้านกลยุทธ์การแข่งขัน แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา ความหมายคือ การที่กลุ่มของธุรกิจและสถาบันที่เกี่ยวข้อง มารวมตัวกันดำเนินกิจกรรมอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกัน (Geographical Proximity) มีความร่วมมือเกื้อหนุน เชื่อมโยงและเสริมกิจการซึ่งกันและกันอย่างครบวงจร (Commonality & Complementarity) ทั้งในแนวตั้งและแนวนอน (Horizontal Linkage) เป็นความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมสนับสนุนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายร่วมกันในการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) โดยรวม

หัวใจสำคัญของคลัสเตอร์ คือ ความร่วมมือ ตรงไหนที่ร่วมมือกันได้เพื่อไปแข่งขันกับผู้อื่นก็ร่วมกัน ตรงไหนที่ยังต้องแข่งขันกัน ก็ให้แข่งขันกันอย่างสร้างสรรค์ เช่น แข่งขันกันพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ แข่งขันกันปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน ไม่แข่งขันกันโดยการตัดราคาคู่แข่ง

การสร้างความร่วมมือในการกำหนดทิศทางและเป้าหมายและกลยุทธ์การพัฒนาร่วม มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความรู้ ตลอดจนทรัพยากรต่าง ๆ ระหว่างกัน ตัวอย่างเช่นร่วมมือกันในการวิจัยและพัฒนา ในเรื่องนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าและบริการ

เรื่องที่เป็นประโยชน์มากๆ คือการลดต้นทุนด้านวัตถุดิบและการตลาด ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการประกอบการ

ด้านวัตถุดิบ ผู้ประกอบการรายเล็ก ซึ่งมีความต้องการซื้อวัตถุดิบในปริมาณน้อย การร่วมกันเป็นคลัสเตอร์จะทำให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล ร่วมกันสั่งซื้อในปริมาณที่มาก เพื่อต่อรองราคาได้

ด้านการตลาด อาจร่วมมือกันบุกเบิกตลาดโดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลในเรื่องราคา ความต้องการของคู่ค้า การเสนอขายผลิตภณฑ์ที่หลากหลาย ร่วมลงทุนเช่าพื้นที่แสดงสินค้าร่วมกัน

องค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนคลัสเตอร์ คือ ภาคเอกชน ซึ่งได้แก่ เจ้าของกิจการ สถาบันการเงินที่สนับสนุนเงินทุน สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยพัฒนา ที่ให้ความรู้ในเรื่องวิจัยพัฒนาและนวัตกรรม และที่สำคัญที่สุด คือ ภาครัฐ ที่จะต้องให้การสนับสนุนและร่วมมือ ผ่านทางนโยบาย / มาตรการ / กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง

ในทุกจังหวัดถ้าเราเริ่มทำอย่างจริงจังโดยความร่วมมือกันตั้งแต่ ผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัย ชมรม ธนาคารจังหวัด อุตสาหกรรมจังหวัด มีระบบการบริหารกลุ่มอย่างชัดเจน ผมเชื่อว่าการจัดตั้งคลัสเตอร์จะประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับที่เกิดในหลายประเทศ

สมัยผมเป็นผู้จัดการธนาคารกรุงไทย ที่อำเภอกระทุ่มแบน เมื่อสิบกว่าปีก่อน เคยแนะนำให้กลุ่มเซรามิคโดยเฉพาะกลุ่มเบญจรงค์ ในเรื่องการตลาดในด้านการส่งออกได้ผลมาแล้ว

การให้ความสำคัญในเรื่องคลัสเตอร์ของรัฐบาลภายใต้ทีมเศรษฐกิจที่รู้เรื่องคลัสเตอร์อย่างลึกซึ้ง ยังเป็นความหวังของ SME ครับ