กฎหมายโมฆะ

กฎหมายโมฆะ

ทิศทางการเมืองเริ่มชัดเจนอีกครา เมื่อได้ตัวผู้ที่จะมาเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง เขียนกฎหมายสูงสุดของประเทศ

ในมุมของห้องเล็กๆ ผมได้นั่งทบทวนเหตุการณ์หนึ่งกับนักกฎหมายอาวุโส

เราย้อนกันไปถึงปี 2551 ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยวางหลักการเกี่ยวกับเรื่ององค์ประชุมของฝ่ายนิติบัญญัติไว้ คือ ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2551 เรื่อง ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. .... ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 141 คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 3/2551 เรื่อง ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยความชอบ ด้วยรัฐธรรมนูญของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่..) พ.ศ. ... ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 141 คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2551 เรื่อง ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. ... ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 141

สาระสำคัญ คำวินิจฉัย คือว่า

1. เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดองค์ประชุมไว้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา ย่อมมีความหมายว่า การประชุมสภาผู้แทนราษฎร และการประชุมวุฒิสภา ที่มีจำนวนสมาชิกเข้าร่วมประชุม ไม่ครบองค์ประชุม จะถือว่าเป็นการใช้อำนาจนิติบัญญัติโดยองค์กรสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ไม่ได้

2. หากมีการออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรและที่ประชุมวุฒิสภาที่ “ไม่ครบองค์ประชุม” จะถือว่าเป็นการออกเสียงลงคะแนนของสมาชิกในสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาที่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญไม่ได้

ตุลาการรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยให้ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้ง 3 เป็นอันตกไป ใช้บังคับไม่ได้ ดำเนินการต่อไม่ได้ ต้องกลับไปตั้งต้น ตราขึ้นมาใหม่

โดยที่ในวันและเวลาที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการของร่างกฎหมาย 3 ฉบับนั้น มีสมาชิกเข้าประชุม ไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนั้น สภานิติบัญญัติจึงไม่มีอำนาจที่จะพิจารณาในวาระที่สอง และวาระที่สาม ดังนั้น การตราร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับ จึงไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

ผลคือทำให้ร่างกฎหมายที่ผ่านสภานิติบัญญัติไปแล้ว กลายเป็นร่างกฎหมายที่ใช้ไม่ได้ ด้วยเป็นการตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญเลยทีเดียว

ตุลาการรัฐธรรมนูญ ชี้ว่า “การอ้างเอกสิทธิของสมาชิกสภา ที่จะไม่ออกเสียงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 130 นั้น เห็นว่า เป็นคนละเรื่องกับองค์ประชุมที่ต้องประกอบด้วยจำนวนสมาชิกไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสภา และแม้สมาชิกมีเอกสิทธิ์ที่จะออกเสียง แต่สมาชิกที่ไม่ประสงค์ออกเสียงต้องอยู่ในที่ประชุมเพื่อแสดงเจตนาให้ปรากฏความเห็นของตนในที่ประชุม

การที่ความจริงไม่ได้อยู่ในที่ประชุม แต่อ้างว่าเป็นการใช้สิทธิไม่ออกเสียง หรืออ้างว่าอยู่ในที่ประชุมแต่ไม่ได้เสียบบัตรแสดงตน จึงนับเป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอย ไร้สำนึกความรับผิดชอบ และเสื่อมเสียเกียรติของความเป็นสมาชิกรัฐสภาอย่างยิ่ง”

ที่เขียนมาทั้งหมดเราไม่รู้ว่ากำลังพูดถึงใคร แต่ไม่ว่าใครก็ตามที่เป็นผู้ทำให้ร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเป็นโมฆะ ตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ย่อมจะต้องรับผิดชอบ ในฐานะเป็นเจ้าพนักงาน ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามกฎหมายอาญา มาตรา 157