divergence diversity and convergence สถาบัน รัฐ ตลาด (43)

divergence diversity and convergence สถาบัน รัฐ ตลาด (43)

ถ้า Schumpeterian creative destruction และการแข่งขันคือหัวใจของทุนนิยมตลาดเสรี

และเป็นพลังขับเคลื่อนที่สำคัญของการประดิษฐ์คิดค้น (invention) และการนำไปใช้ให้เกิดผลในเชิงพาณิชย์ มีผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ซึ่งก็คือ Innovation เราก็สามารถตั้งคำถามได้เหมือนกันว่า creative destruction นี้ ไม่ว่ามันจะทำให้เกิดนวัตกรรม ซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับใคร เช่น บริษัท อุตสาหกรรมหรือสังคมก็ตาม มันสามารถทำให้เกิดนวัตกรรมที่มากเกินความจำเป็น หรือสูงกว่า optimum ในมุมมองของสังคมได้หรือไม่

เพราะผลของการแข่งขันมีทั้งด้านบวกและด้านลบเสมอ ผู้ผลิตรายใหม่อาจจะทำลายคู่แข่งรายเก่า ให้ล้มหายตายจาก แต่เป็นไปได้ไหม ผลลัพธ์ที่มีต่อสังคมบวกลบคูณหารหักกลบ สำหรับสิ่งใหม่อาจจะไม่ได้มากกว่าส่วนที่ถูกทำลาย โดยเฉพาะถ้ามองในมุมสังคม คือ มันเป็นการทำลายที่ไม่ทำให้เกิดการสร้างสรรค์อะไร ไม่ต้องดูอื่นไกล นวัตกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นมากมายในรอบหลายสิบปีที่อเมริกาเป็นผู้นำนั้น มันทำให้เกิดธุรกรรมและผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สลับซับซ้อนมากมาย ปริมาณการซื้อขายตราสารการเงิน ที่อาจจะทำให้เกิดสภาพคล่อง แต่ผลลัพธ์ที่มีต่อสังคมจริงๆ น้อยมาก และอาจจะติดลบด้วยซ้ำไป เห็นได้จากความเสียหายที่เกิดจากวิกฤติซับไพรม์ที่เริ่มจากสหรัฐฯ

ความแตกต่างของสหรัฐฯ กับยุโรปโดยรวม (ต้องไม่ลืมเสมอว่ายุโรปมีหลายยุโรป ซึ่งแตกต่างกันสูงมาก) ในเรื่องของการแข่งขัน และ Creative Destruction นี้ แม้ว่าทั้งสองซีกของ Atlantic จะเป็นทุนนิยมทั้งคู่ แต่ก็มีส่วนที่เหมือนและส่วนที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ ทุนนิยมลักษณะผสมมีความแตกต่างกันในรายละเอียด เช่น อังกฤษก่อนสมัย Thatcher ต้นทศวรรษ 80 อุตสาหกรรมสำคัญๆ หลายอย่างเป็นของชาติไม่ใช่เอกชน ตั้งแต่กลางทศวรรษ 80 จนถึงปลายทศวรรษ 90 รัฐบาลฝรั่งเศสต้องทำใจ ไม่สามารถทวนกระแสโลกานุวัตร แปรรูปกิจการอุตสาหกรรมให้เป็นของเอกชน และแก้ไขระบบบรรษัทภิบาล ทั้งๆ ที่ฝรั่งเศสเป็นสังคมที่นิยมรัฐ และไม่ไว้วางใจตลาด หรือรัฐบาลญี่ปุ่นครั้งหนึ่ง ก็แทรกแซงภาคเอกชนค่อนข้างมาก แต่ไม่เหมือนเกาหลี รัฐญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ไม่สนใจทำอุตสาหกรรม

คนอเมริกันอาจจะไม่ชอบความใหญ่โตและไม่ไว้ใจรัฐบาล เราจึงเห็นคนอเมริกัน คงไม่ยอมรับการที่รัฐจะมาเป็นเจ้าของกิจการอุตสาหกรรม อย่าลืมว่าแม้กระทั่งกิจการรถไฟ การสำรวจน้ำมันของอเมริกานั้น เอกชนก็เป็นผู้ให้บริการ คนชั้นกลางของอเมริกันกลับชอบเสียอีก เพื่อจะได้มีบ้านง่ายขึ้นและได้ราคาดี เมื่อรัฐบาลอเมริกันเข้ามาจัดตั้งและรับประกัน Fannie Mae & FreddieMac หรือคนอเมริกันไม่เคยประท้วงหรือโวยวายที่ประเทศของตนต้องนำทรัพยากรร้อยละ 6 ถึง 8 ของ GDP ซึ่งสูงที่สุดในโลกมาใช้ในกิจการทหาร หรือรัฐให้การส่งเสริมอุดหนุนการวิจัยขั้นพื้นฐาน ที่เริ่มแรกมีเป้าหมายเพื่อความมั่นคงและการทหารเท่านั้น และแม้ต่อมาจะมีผลต่อพัฒนาการในเชิงพาณิชย์ของภาคเอกชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการพัฒนายานอวกาศ เรือบินรบ คอมพิวเตอร์ เซมิคอนดักเตอร์ หรือในอุปกรณ์การแพทย์ ฯลฯ

ในบริบทของ Creative Destruction  เราอาจจะเห็นการล้มหายตายจาก หรือความเป็นอนิจจังของอเมริกา ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีและอุตสาหกรรม ตั้งแต่กลางทศวรรษ 70 เรื่อยมา ซึ่งแรกๆ ตัวเองเป็นผู้ค้นคิดหรือเป็นผู้ประดิษฐ์หรือทำนวัตกรรม เช่น ทรานซิสเตอร์ วิทยุ กล้องถ่ายรูป โทรทัศน์  โทรศัพท์ ไฟฟ้า เครื่องถ่ายเอกสาร เป็นต้น หรือการเป็นผู้นำในกระบวนการผลิตรถหรือสินค้าอื่นๆ ระบบสายพาน แบ่งงานเฉพาะไม่ต้องใช้คนงานมีฝีมือและผลิตให้ได้ปริมาณมากๆ แต่กระบวนการโลกานุวัตรสามารถทำให้ญี่ปุ่น (รวมทั้งประเทศอื่นๆ ในเอเชีย โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออก) เลือกที่จะค่อยๆ เข้าไปยึดครองตลาดทั้งในสหรัฐฯ และในระดับโลก ที่สหรัฐฯเคยเป็นผู้นำโดยเฉพาะในสินค้า เช่น เหล็ก สินค้าอิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค คอมพิวเตอร์ และเซมิคอนดักเตอร์

แต่การล้มหายตายจาก หรือบทบาทที่ลดลงไปในตลาดสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นไปตามพลังตลาดเสรี หรือ Creative Destruction ตามตำรา แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการเจรจา การต่อรองของรัฐต่อรัฐ รัฐกับธุรกิจ เช่น การใช้ Quota การลดการส่งออกโดยความสมัครใจ หรือการย้ายฐานการผลิตไปลงทุนโดยตรงในสหรัฐฯ เพราะฉะนั้นเราต้องระลึกเสมอว่า ตลาดทำงานได้มากน้อยดีเลวแค่ไหน มันมักจะต้องอยู่ในบริบทที่ถูกกำกับโดยรัฐหรือสังคมเสมอ มันไม่สามารถทำงานของมันเองได้โดดๆ เหมือนที่มันบรรยายไว้ในตำรา

ไม่ต้องดูอื่นไกลคนอเมริกัน (ซึ่งจริงๆ ก็รวมประเทศทุนนิยมขั้นสูงทั้งหลาย) ก็ไม่มีทางเลือกถึงที่สุดเมื่อรัฐบาลอเมริกันอ้างถึงความจำเป็นเพื่อรักษาระบบทุนนิยม (ซึ่งฟังไม่ขึ้น) เมื่อรัฐบาลอเมริกันใช้ปรัชญา Too big to fail ซึ่งใช้สำหรับกรณีของธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงิน โดยโอนกิจการรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดของอเมริกา คือ General Motors มาเป็นของรัฐ รวมทั้งสถาบันการเงิน บริษัทประกัน AIG กระนั้นก็ตาม Creative Destruction มีข้อยกเว้นเสมอ

อย่างไรก็ตามที่น่าสนใจมากก็คือ การที่นักวิชาการค้นพบว่า ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา การที่อเมริกาเริ่มนำยุโรปทางด้าน productivity ญี่ปุ่นมีปัญหาในเชิงโครงสร้างและวิกฤติเศรษฐกิจการเงิน แต่บทบาทของเศรษฐกิจใหม่ อันเป็นผลส่วนหนึ่งที่สำคัญในบทบาทของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม ซึ่งอเมริกาเป็นผู้นำโลก เห็นได้ชัดจากการที่มีบริษัทอย่าง Apple, Google, Ebay , Microsoft, Amazon, Facebook แต่ไม่มียุโรปให้เปรียบเทียบ มันหมายถึงอะไรในเชิงวิชาการ และการทำนโยบายของรัฐบาล ทั้งบริษัทของยุโรปและอเมริกาต่างก็ทำนวัตกรรม แต่ที่มาและลักษณะของนวัตกรรมที่ต่างกันก็ดี หรือการที่เราพบว่าบริษัทใหญ่ๆ หนึ่งพันบริษัทของโลกนั้น บริษัทใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นหลังหกสิบปีที่ผ่านมานั้น ของอเมริกามีจำนวนสูงกว่ายุโรปถึงสามเท่านั้นก็ดี มันย่อมมีนัยว่าบริษัทใหม่ๆ ของอเมริกาเมื่อเทียบกับบริษัทใหม่ๆ ของยุโรปมีความสามารถในการทำนวัตกรรมมากกว่าใช่หรือไม่ เป็นเพราะเหตุใด

อะไรกำหนดความแตกต่าง หรือความสามารถของประเทศในการทำนวัตกรรม ปัจจัยความแตกต่างทางด้านสถาบันสำคัญแค่ไหน