'บริโภค-ลงทุน' ต้องกระตุ้นจากความเชื่อมั่น

'บริโภค-ลงทุน' ต้องกระตุ้นจากความเชื่อมั่น

การกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผ่านการผ่อนปรนเงื่อนไขสินเชื่อ และลดอัตราภาษีการโอน

 และจดจำนองเหลือ 0.01% ของราคาประเมิน เป็นอีกหนึ่งในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณา หวังเป็นช่องทางกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ

มาตรการที่ว่านี้ ไม่ได้ถือว่า เป็นมาตรการใหม่ที่รัฐบาลคิดและนำมาใช้ แต่ถือว่า เป็นมาตรการที่ Win-Win สำหรับฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสองฝ่าย คือ ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ ผู้ซื้อ ขณะเดียวกัน ผลประโยชน์ทางอ้อมจะเกิดแก่รัฐบาล และ ธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เพราะเมื่อคนซื้อบ้าน การบริโภคสินค้าอื่นภายในบ้านก็ต้องเกิดขึ้น จุดนี้

ทั้งนี้จะทำให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น รายได้ที่รัฐสูญเสียจากการลดภาษีดังกล่าว ก็จะกลับมาในรูปแบบภาษีอื่นทดแทน เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีเงินได้นิติบุคคล

อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าว เป็นเพียงมาตรการระยะสั้นที่จะเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจ และ ช่วยลดภาระผู้ซื้อเพียงช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งการซื้อบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์สำหรับคนที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ถือเป็นภาระหนี้ที่หนักและมีระยะเวลายาวนานสูงสุด 30 ปี เป็นปัจจัยที่ผู้ซื้อต้องตระหนักมากกว่าแรงจูงใจระยะสั้น

ความเชื่อมั่นต่อรายได้ในอนาคตของผู้ซื้อ ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลที่จะบริหารและวางรากฐานเศรษฐกิจในอนาคต ฉะนั้น แนวทางที่รัฐบาลจะต้องทำควบคู่ คือ การสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ซื้อ เป็นโจทก์ใหญ่ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่สามารถทำงานได้ดีทั้งการส่งออก

 การบริโภคและการลงทุน

ระยะสั้นรัฐบาลพยายามกระตุ้นกำลังซื้อและลงทุน โดยออกมาตรการที่คาดจะเห็นผลภายใน 3 เดือนนับจากนี้ ผ่านการอัดฉีดเงินสินเชื่อเข้ากองทุนหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยได้เข้าถึงแหล่งทุน คิดเป็นเงินประมาณ 7 หมื่นล้านบาท ขณะนี้ เม็ดเงินผ่านเข้ากองทุนหมู่บ้านแล้วประมาณ 2 หมื่นล้านบาท จัดงบลงทุนให้ตำบลละ 5 ล้านบาททั่วประเทศ  และอัดฉีดสินเชื่อแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีผ่านการค้ำประกันวงเงิน 1 แสนล้านบาท พร้อมขยายสิทธิประโยชน์แก่บีโอไอ

ขณะนี้ รัฐบาลกำลังหามาตรการส่งเสริมการลงทุนระยะสั้นและระยะยาว โดยรัฐมนตรีคลัง อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ ยืนยัน มาตรการส่งเสริมการลงทุนระยะสั้นที่จะออกมาภายใน 2-3 สัปดาห์นี้ จะต้องทำให้นักลงทุนเชื่อมั่นและตัดสินใจที่จะลงทุน หรือ เรียกว่า คุ้มค่าที่จะลงทุน ส่วนมาตรการส่งเสริมการลงทุนระยะยาวนั้น จะเป็นการช่วยรายภาคธุรกิจ ให้น้ำหนักไปยังธุรกิจที่เห็นว่า เป็นอนาคตของประเทศ ขณะเดียวกัน สำหรับธุรกิจที่คาดว่า จะมีปัญหา ก็จะหามาตรการ เพื่อไม่ให้เป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจ แน่นอนว่า มาตรการทางภาษี เป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะจูงใจ

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่า มาตรการหลักๆ ที่ออกมาเป็นการสร้างแรงจูงในการบริโภคและการลงทุน แต่การตัดสินใจซื้อหรือการลงทุน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแรงจูงใจจากมาตรการของรัฐเพียงอย่างเดียว แต่ขึ้นอยู่กับความเชื่อมั่น โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมั่น ผ่านการดำเนินนโยบายที่ชัดเจนและต่อเนื่อง สำหรับการลงทุนของภาครัฐถือเป็นหัวใจสำคัญ ที่ผู้บริโภคและนักลงทุนอยากเห็นควบคู่ไปด้วย