TPP vs Maritime Silk Road : มะกันกับจีน : ใครปิดล้อมใคร?

TPP vs Maritime Silk Road : มะกันกับจีน : ใครปิดล้อมใคร?

แม้ไทยจะไม่ได้เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง เพราะไม่แน่ใจว่าจะได้ประโยชน์จริงแท้หรือไม่ แต่เมื่อรัฐมนตรี 12 ประเทศ

ในเอเชีย-แปซิฟิก นำโดยสหรัฐประกาศว่าบรรลุข้อตกลงที่จะตั้ง TPP (Trans-Pacific Partnership) หรือ “หุ้นส่วนแปฟิซิก” เพื่อทำมาค้าขายกันโดยลดกำแพงภาษีต่อกันอย่างเปิดกว้าง เราก็ต้องจับตาเกาะติดความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด

เพราะในโลกวันนี้ไม่มีอะไรที่ไม่เกี่ยวกับอะไรอีกต่อไป

ยิ่งเห็นชัดเจนว่านี่คือยุทธศาสตร์สหรัฐ ที่จะสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลทางการค้าและการเมืองของจีน ก็ยิ่งทำให้ไทยเราต้องวิเคราะห์ว่าไทยควรจะวางจุดยืนของตนไว้ตรงไหน เพื่อไม่ตกอยู่ในภาวะที่ถูกกดดันให้ต้องเลือกในสิ่งที่ไม่ควรจะต้องเลือก

จีนรุกด้วยยุทธศาสตร์ “เส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21” สหรัฐก็สกัดด้วย TPP

สหรัฐมีอิทธิพลในธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ จีนก็ตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหรือ Asian Infrastructure Investment Bank (AIIB)

สหรัฐส่งออกวัฒนธรรมด้วยภาพยนตร์และดนตรี จีนก็ตั้ง “สถาบันขงจื๊อ” เพื่อสอนภาษาจีนไปทั่วโลก และส่งรายการทีวีเกี่ยวกับวัฒนธรรมของตนไปทั่วโลก

แม้สหรัฐกับจีนต่างก็อยู่ใน Apec (Asia-Pacific Economic Cooperation) แต่องค์กรนี้ค่อนข้างเทอะทะ และไม่มีผลงานด้านการเปิดกว้างให้ค้าขายกันอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก จึงกลายเป็นเวทีนัดหมายพบปะประจำปีของผู้นำเท่านั้น

เมื่อ TPP มีสหรัฐและญี่ปุ่นเป็นแกนสำคัญ และจงใจที่จะไม่ให้จีนเข้าร่วมด้วยตั้งแต่ต้น ก็ย่อมเป็นที่แน่ชัดว่านี่คือการแบ่งค่ายเพื่อทำ “สงครามการค้า” อย่างเปิดเผย

สมาชิก TPP มีตั้งแต่ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐ และเวียดนาม

นอกจากจะลดกำแพงภาษีต่อสินค้าของกันและกันแล้ว กติกาของ TPP ก็ยังตั้งมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับสิทธิของคนงานและการปกป้องสิ่งแวดล้อม

ข้อตกลงร่วมของกลุ่มนี้โยงไปถึงนโยบายการปรึกษาหารือเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ยา ผลิตภัณฑ์นม รถยนต์และสินค้าเกษตร

แต่ละหัวข้อย่อมมีทั้งผู้ได้และผู้เสีย และเมื่อลงไปถึงรายละเอียดแล้ว ก็ยังต้องถกแถลงกันว่าประเทศไหนจะยอมสละผลประโยชน์บางด้านเพื่อให้ได้ผลประโยชน์อีกบางด้านอย่างไร

เมื่อสงครามในโลกยุคใหม่จะไม่ใช่เพียงแค่การยิงปืนใส่กันเท่านั้น หากแต่เป็นการแข่งขันชิงความได้เปรียบทางเศรษฐกิจ การรวมตัวของกลุ่มประเทศในค่ายต่าง ๆ จึงมีความสำคัญต่อการวางยุทธศาสตร์ของประเทศอย่างยิ่ง

อีกทั้ง เราไม่อาจแยกยุทธศาสตร์การเมือง ความมั่นคง สังคมออกจากยุทธศาสตร์เศรษฐกิจได้อีกต่อไป เพราะทุกอย่างมีความเกี่ยวโยงกันอย่างลึกซึ้ง

สหรัฐไม่ได้เสนอตั้ง TPP เพื่อเรื่องปากท้องอย่างเดียวแน่นอน เพราะแผนการนี้มาพร้อมกับที่ประธานาธิบดีบารัก โอบามาประกาศยุทธศาสตร์ทางความมั่นคงที่เรียกว่า “Pivot to Asia” หรือ “ปักหมุดเอเชีย” เพื่อเคลื่อนย้ายกองกำลังทางทะเลจากแอตแลนติคมาแปซิฟิกมากขึ้นถึงระดับ 50-50 หรือ 60-40 ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าด้วยซ้ำไป

จีนก็ไม่ได้เสนอยุทธศาสตร์ One Belt, One Road ด้วยการเข้าเสนอช่วยเหลือสร้างถนน ทางรถไฟ ท่าเรือและโครงสร้างพื้นฐานในประเทศต่าง ๆ เพียงเพราะมุ่งหวังผลทางเศรษฐกิจเท่านั้น หากแต่ยังพ่วงเอาแนวทางการเมืองและความมั่นคงเข้ามาเป็นส่วนสำคัญของการชิงความได้เปรียบในการแข่งขันสร้างอิทธิพลกับสหรัฐและญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นก็รุกหนักด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศในภูมิภาคนี้ พร้อมกับการเสนอแก้ไขกฎเกณฑ์ว่าด้วยความมั่นคง ทำให้สามารถส่งทหารออกรบในต่างประเทศในบางกรณีได้ เท่ากับเป็นการพลิกเกมเก่ามาเป็นยุทธศาสตร์ใหม่แห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อคานอำนาจของจีนเช่นกัน

ไม่ต้องพูดถึงรัสเซียที่กระโดดออกมาเล่นบทเป็นพระเอกในซีเรียขณะนี้ พร้อมกับการสร้างเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ กับประเทศในแถบนี้อย่างคึกคักมากกว่าหลายสิบปีที่ผ่านมา

ท่ามกลางกระแสแห่งการยื้อแย่งอำนาจและอิทธิพล ผ่านการรวมกลุ่มและแบ่งค่ายทางด้านการค้าและการลงทุนอย่างนี้ TPP จึงเป็นอีกเวทีแห่งการเผชิญหน้าผสมความร่วมมือ ที่ไทยเราจะต้องเร่งศึกษาวิเคราะห์และวางแนวปฏิบัติให้ชัดเจนและต่อเนื่อง

เพราะเราไม่ได้เป็นสมาชิกร่วมก่อตั้ง เราจึงต้องยิ่งสนใจมากกว่าประเทศที่เป็นสมาชิกด้วยซ้ำไป!