ผลพวงการปรับโครงสร้างราคา LPG

ผลพวงการปรับโครงสร้างราคา LPG

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากภาคประชาชนและพรรคการเมือง รัฐบาลประยุทธ์ 1 ได้เดินหน้าปรับโครงสร้างราคาก๊าซ LPG

 ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ผ่านมาครึ่งปี เกิดผลพวงที่ดีหรือเลวร้ายอย่างไร?

อดีต : การตรึงราคา LPG เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด ที่มีผลกระทบมหาศาล

ด้านอุปทาน เมื่อราคาขายต่ำกว่าต้นทุนจริง รัฐบาลสามารถสั่งโรงแยกก๊าซ ปตท.ให้ขายขาดทุนได้ แต่สั่งให้ลงทุนขยายกำลังผลิตรองรับความต้องการไม่ได้ โรงกลั่นและการนำเข้าได้รับการชดเชยจากกองทุนน้ำมันเพื่อมิให้ LPG ขาดตลาด โดยเก็บเงินเข้ากองทุนจากผู้ใช้เบนซินและแก๊สโซออล์ในอัตราสูง

กองทุนน้ำมันจ่ายอุดหนุนโรงกลั่น-การนำเข้า LPG กว่า 50,000 ล้านบาท/ปี (2555 – 2557) อนึ่ง ภาคปิโตรเคมีที่ใช้ LPG เป็นวัตถุดิบมีโครงสร้างราคาเนื้อก๊าซและภาษี-กองทุนที่แตกต่าง จึงตกเป็นเป้าโจมตีอย่างหนัก แต่ความจริงเขาจ่ายแพงกว่า! 

ด้านอุปสงค์ การกำหนดราคาขายปลีกแยกประเภทผู้ใช้ ทำให้เกิดการลักลอบเอาของถูกจากภาคครัวเรือน ไปใช้ในรถยนต์และอุตสาหกรรมที่ควรจะซื้อแพงกว่ามาก ประกอบกับการลักลอบไปขายประเทศเพื่อนบ้านที่ราคาสูงกว่ามาก (เขมร ลาว พม่า) ทำให้ยอดการใช้ LPG โตมากถึง 10% ต่อปี เกือบ 3 เท่าของ GDP (2547-2555) LPG รถยนต์เกือบ 6 เท่า!

LPG ที่ผลิตในประเทศไม่พอ ต้องนำเข้าในราคาสูงมาก จึงต้องเก็บเงินกองทุนเพิ่มจากผู้ใช้เบนซินและแก๊สโซฮอลล์ไปอุดหนุนให้นำเข้ามาขายในราคาควบคุม ยิ่งราคามีความแตกต่าง ก็ยิ่งมีการลักลอบ ยิ่งต้องนำเข้าเพิ่มเพื่อสนองความต้องการที่มากขึ้น และต้องใช้เงินอุดหนุนมากขึ้น ราคาแตกต่างมากขึ้น เกิดเป็น “วงจรอุบาทว์” ที่สถานการณ์แย่ลงๆ หากไม่มีการแก้ไข 

ปรับโครงสร้าง : ต้นปี 2556 มีการปราบปรามการลักลอบขายข้ามประเภททำให้ยอดการใช้ LPG ครัวเรือนลดลงมาก ไตรมาสสามเริ่มปรับราคาครัวเรือนขึ้นสู่ราคาตลาดเดือนละ 50 สต./ก.ก. โดยผู้มีรายได้สามารถน้อยซื้อ LPG ในราคาเดิมที่ 18.13 บาท/ก.ก.

ปลายปี 2557 ราคาขายปลีกเชื้อเพลิง 3 ภาคส่วนเปลี่ยนเป็นราคาเดียว และจาก ก.พ.58 ก็ได้ปรับโครงสร้างราคาตั้งต้นของการใช้ LPG ทุกชนิด ทั้งที่เป็นเชื้อเพลิงและวัตถุดิบให้เป็นราคาเดียวกัน โดยใช้ค่าเฉลี่ยของต้นทุนจาก 3 แหล่งจัดหาด้านล่าง (LPG pool price) และใช้กองทุนน้ำมันเป็นกลไกบริหารจัดการ เลิกการอุดหนุนข้ามประเภท 

(1) โรงแยกก๊าซ เป็นราคาต้นทุนวัตถุดิบ + ค่าลงทุน + ค่าดำเนินการ รวม 498 ดอลลาร์/ตัน (ก.พ.58) เทียบกับ 333 ที่ตรึงไว้ตั้งแต่ 2551 (2) โรงกลั่นน้ำมัน เป็นราคาตลาดโลก คือ CP-20 ดอลลาร์/ตัน โดย CP คือราคาที่ประกาศในประเทศซาอุดิอาระเบีย ซึ่งเป็นตลาดที่มีการส่งออก LPG ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค 20 ดอลลาร์ เป็นค่าขนส่งจากประเทศไทยไปจีนใต้ ซึ่งเป็นตลาดซื้อหากต้องส่งออก (3) ราคานำเข้า เป็นราคาตลาดโลก คือ CP+85 ดอลลาร์/ตัน 85 ดอลลาร์ เป็นค่าขนส่งจากตะวันออกกลางและค่าคลังนำเข้า

ปัจจุบัน : ปัญหา “วงจรอุบาทว์” ข้างต้นแก้ไขได้สำเร็จแล้ว!

LPG ราคาเดียวทำให้ไม่มีการใช้ผิดประเภท การลักลอบขายข้ามชายแดนก็ลดลงมาก เพราะขาดแรงจูงใจ ในเมื่อราคาราคาประเทศเพื่อนบ้านมิได้สูงกว่าในประเทศมากนัก ทำให้ตัวเลขการใช้ LPG ครัวเรือนลดลง 6% การใช้ LPG ในรถยนต์ลดลง 7.7% มีผลให้การนำเข้า LPG ลดลงถึง 35% (ครึ่งแรก 2558)

ผู้ใช้เบนซิน-แก๊สโซฮอล ได้รับความเป็นธรรม ไม่ต้องแบกภาระกองทุนน้ำมัน ขณะที่ตลาดโลกลดลงฮวบฮาบ ราคาเนื้อน้ำมันเบนซิน 95 ลดลง 10.5 บาท/ลิตร (ต้นมิ.ย.57 - กลาง ก.ย.58) แต่ราคาขายปลีกลดได้มากถึง 15.9 บาท/ลิตร

ภายใต้โครงสร้างราคาใหม่ ราคาขายปลีก LPG ลดลงจาก 24.16 บาท/ก.ก. เป็น 22.29 บาท/ก.ก.ใน ก.ย.58 สะท้อนราคาตลาดที่ลดลง ตามน้ำหนักในสูตรแหล่งที่ (2) กับ (3) และสะท้อนต้นทุนของแหล่งที่ (1) ซึ่งล่าสุดลดมาอยู่ที่ 464 ดอลลาร์/ตัน แต่ไม่ 100% เพราะคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้สะสมเงินกองทุนไว้เผื่อสถานการณ์ตลาดผันผวน ทั้งนี้ ทราบมาว่ามีการตรวจสอบต้นทุนโรงแยกก๊าซโดย สตง.ซึ่งจะช่วยพิสูจน์ความโปร่งใสให้กับระบบนี้ด้วย

แม้ผู้ใช้ LPG จะไม่ได้ลดราคาหากเทียบกับช่วงก่อนปรับโครงสร้าง แต่ความจริงถือได้ว่าได้ลดไปล่วงหน้านานมากแล้ว และสำหรับคนยากจนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วย/เดือน รวมทั้งหาบเร่แผงลอยที่ขายอาหารผู้มีรายได้น้อย ก็ยังสามารถซื้อ LPG ในราคาดั้งเดิมที่ 18.13 บาท/ก.ก.ได้

แต่กระทรวงพลังงานควรปรับปรุงวิธีการให้สะดวกขึ้น และประชาสัมพันธ์ให้มาก เพราะ ปตท.ที่เป็นฝ่ายรับภาระนี้ตั้งแต่ ก.พ.58 ไม่มีแรงจูงใจจะขยายฐานผู้ใช้สิทธิ ทั้งที่ ปตท.น่าจะทำ เพราะเป็นโอกาสกอบกู้ศรัทธาประชาชนทางหนึ่ง

ผลพวงอีกอย่างของการปรับโครงสร้างราคาคือ ปตท.ได้อนุมัติการขยายกำลังผลิตโรงแยกก๊าซ (debottleneck) ระดับหนึ่ง แต่การลงทุนใช้เวลา 2-3 ปี

ส่วนจะสร้างโรงแยกก๊าซเพิ่มหรือไม่? โดย ปตท.หรือใคร? เพื่อใช้ประโยชน์ให้มากขึ้นจาก 30% ของก๊าซธรรมชาติอ่าวไทย ที่ปัจจุบันถูกเผาเป็นเชื้อเพลิง คงจะขึ้นอยู่กับปริมาณก๊าซที่จะมาเข้าระบบ ซึ่งอาจไม่เกิดขึ้น หากรัฐบาลไม่สามารถฝ่ากระแสเดินหน้านโยบายการสำรวจ-ผลิตปิโตรเลียมได้