กระตุ้นอสังหาฯ - กระตุ้นเศรษฐกิจ

กระตุ้นอสังหาฯ - กระตุ้นเศรษฐกิจ

มาตรการกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่กระทรวงการคลัง จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)

 ในเร็วๆนี้ เนื้อหาที่ทยอยนำเสนอในสื่อมวลชนเกือบทุกแขนงมาอย่างต่อเนื่อง  

ค่อนข้างชัดว่า กระทรวงการคลังจะเสนอครม.พิจารณาลดค่าธรรมเนียมการโอน จาก 2% ของราคาประเมิน ลงเหลือ 0.01% เช่นเดียวกับการลดค่าธรรมเนียมการจดจำนอง จาก 1% ของราคาประเมิน เหลือ 0.01% ของราคาประเมิน 

พร้อมไปกับ มาตรการผ่อนปรน"เงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยให้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ หรือ ธอส. 

จัดโปรโมชั่นสินเชื่อ วงเงิน  “1 หมื่นล้านบาท” 

นอกจากนี้ ยังจะกำหนดให้ยืดเวลาการผ่อนชำระจากเพดานสูงถึง 30 ปี เป็น 35-40 ปี หรือเพิ่มขึ้นอีก 5-10 ปี รวมถึงการกำหนดสัดส่วนรายได้ที่นำมาเป็นเกณฑ์ในการคำนวณเงินผ่อนชำระต่องวด 

จาก 30% เพิ่มเป็น 50% ของรายได้

แม้ว่าระยะเวลาในการดำเนินมาตรการ จะค่อนข้างสั้น เพียง 6 เดือน สิ้นสุดมาตรการ ณ สิ้นเดือนมี.ค.2559

แต่หากมาตรการดังกล่าว เป็นไปตามคาด...!! นอกจากผู้ประกอบการอสังหาฯจะตีปีก เนื่องจากที่ผ่านมายอดขายเกือบทุกค่ายพลาดเป้า ขณะที่ไตรมาสสุดท้ายของปี มีอสังหาฯรอโอน มูลค่าสูงถึง 8 หมื่นล้านบาท แล้ว

เศรษฐกิจในภาพรวมหรือคนส่วนใหญ่ของประเทศ จะได้อะไรจากมาตรการนี้ !! 

หากพิจารณาจากตลาดรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จากการบอกเล่าของผู้ประกอบการอสังหาฯ ระบุว่า ตลาดรวมอสังหาฯมีมูลค่าต่อปีเฉลี่ยสูงถึง 5 แสนล้านบาท  ถือเป็นวงเงินไม่น้อย 

ยังประเมินกันว่า มูลค่าตลาดรวมดังกล่าว มีผลต่อระบบเศรษฐกิจ คิดเป็น 1.7-1.8 ล้านล้านบาท หรือเท่ากับ 13% ของอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ที่อยู่ที่ประมาณ 13 ล้านล้านบาท

การช่วย กระตุ้นตลาดอสังหาฯให้คึกคัก โดยเฉพาะในช่วงโค้งสุดท้ายปลายปี 

จึงนับว่า มีส่วนในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ 

แม้ในอีกมุมหนึ่ง จะมีผู้เห็นแย้งว่า สมควรหรือไม่...? ที่จะออกมาตรการเช่นนี้ โดยเฉพาะการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง 

เนื่องจากมาตรการดังกล่าว ถือว่ามีส่วนช่วยผู้ประกอบการอสังหาฯถ้วนหน้า โดยเฉพาะรายใหญ่ ที่มีสถานะภาพทางการเงินที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง มีมาร์จิ้นค่อนข้างสูง เรียกว่าแต้มต่อทางธุรกิจอยู่แล้ว 

ที่ผ่านมาบริษัทเหล่านี้ยัง “ติดสปีด” ผุดโครงการจำนวนมาก รองรับดีมานด์จริงและดีมานด์เทียม ที่เกิดขึ้น  

ดังนั้น บริษัทเหล่านี้ จำต้องแบกรับความเสี่ยงทางธุรกิจ แทนการโยนเป็นภาระของรัฐ หรือไม่ อย่างไร 

ซึ่งเป็นเรื่องน่าคิด .. !! 

ทว่า รัฐอาจจะชั่งน้ำหนักดูแล้วว่า มาตรการที่จะออกมา จะเน้นช่วยเหลือ ผู้มีรายได้น้อย ให้มีที่อยู่อาศัย เป็นหลัก

เนื่องจาก ผลพวงจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มหลักที่ได้รับผลกระทบ มีอัตราเติบโตของรายได้ลดลง เมื่อเทียบค่าใช้จ่าย  

ส่งผลให้ “หนี้ครัวเรือน” เพิ่มขึ้น บางรายเกินหรือชนเพดานที่สถาบันการเงินจะปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย

ส่งผลให้ยอดการ ปฏิเสธสินเชื่อ  พุ่งขึ้นถึง 30-35%

จึงจำเป็นที่รัฐ ต้องยื่นมือมา “คลายเงื่อนปม” ที่รัดคอผู้บริโภคกลุ่มนี้ 

เพื่อส่วนรวมของประเทศ