ผสมโรง 'Single Gateway'

ผสมโรง 'Single Gateway'

ความพยายามของรัฐบาล ที่เชื่อกันว่า ต้องการเปลี่ยนวิธีการสื่อสารทางอินเตอร์เน็ต

ระหว่างประเทศของไทย จากหลายช่องทางที่เป็นอยู่ มาเป็นช่องทางเดียว หรือที่เรียกว่า“Single Gateway”(ซิงเกิล เกตเวย์)

ทั้งนี้วัตถุประสงค์สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อธิบายเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า โดยหลักการต้องการบล็อกเว็บที่มาจากต่างประเทศ หาทางป้องกันและระมัดระวัง คือ1.การเผยแพร่ความคิดสุดโต่ง 2.การบ่อนทำลายสถาบันหลักของชาติ 3.การยุยงทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย 4.การเข้ามาแฮกข้อมูลสำคัญ ข้อมูลลับของประเทศ 5.ทำลายระบบคอมพิวเตอร์ของประเทศ และ 6.กระบวนการอาชญากรรมข้ามชาติ ขบวนการค้ามนุษย์ ที่ถือเป็นภัยคุกคามต่อบ้านเรา

ส่วนประชาชนหรือคนวัยทำงานที่ติดต่อกันผ่านเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม รัฐบาลไม่มีนโยบายเข้าไปทำอะไรทั้งนั้น สิ่งที่รัฐบาลทำไม่ใช่มาตรการรุกเข้าไป แต่เป็นการป้องกันตั้งรับเพื่อให้ระบบของเราสามารถป้องกันสิ่งเหล่านี้ได้

อย่างไรก็ตามประเด็นที่หลายฝ่ายคัดค้าน ก็มีเหตุผลไม่น้อย ประเด็นสำคัญอยู่ที่ กลัวว่าช่องทางสื่อสารช่องทางเดียวอาจเกิดปัญหาทางเทคนิคหรือ gateway ล่มใช้งานไม่ได้ และจะส่งผลให้ระบบอินเทอร์เน็ตล่มทั้งประเทศ

ยิ่งกว่านั้น บางส่วนยังเห็นว่า จะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและสิทธิในความเป็นส่วนตัวของประชาชน หากมีการตรวจสอบหรือปิดกั้นข้อมูลต่างๆของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและsocial mediaในประเทศไทย ซึ่งสามารถดำเนินการได้อย่างไม่มีข้อจำกัด

แต่ที่หนักหนาสาหัสกว่า ก็คือ การผสมโรง “ซิงเกิลเกตเวย์” พุ่งเป้าโจมตีรัฐบาล“คสช.”หรืออาจสร้างความเสียหายต่อ ระบบการสื่อสารออนไลน์ในประเทศไทย เพื่อให้มีผลกระทบต่อ “คสช.” ด้วยก็เป็นได้

เพราะเมื่อย้อนรอยกลับไปดู กรณีเว็บไซต์ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ถูกโจมตีจนล่ม เมื่อวันที่30ก.ย.ที่ผ่านมา

นักวิชาการด้านความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ เชื่อว่ามีคน “ผสมโรงกลุ่มเคลื่อนคัดค้าน “ซิงเกิล เกตเวย์” ที่ปลุกกระแสกดปุ่มF5 หรือปุ่มรีเฟรชรัวๆ พร้อมกัน เพื่อทำให้เว็บไซต์กระทรวงไอซีทีล่ม

โดยนรินทร์ฤทธิ์ เปรมอภิวัฒโนกุลนักวิชาการอิสระด้านความมั่นคงปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์ ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า การที่เว็บรัฐบาลล่มกันระนาวนั้น ประชาชนทั่วไปมักจะเข้าใจว่า คนไทยหลักแสนคนมานั่งเปิดเว็บไซต์เว็บเดียวกันแล้วกดปุ่มF5 หรือรีเฟรชหน้าเว็บ แต่ในความจริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น เรื่องเหล่านี้เป็นเพียงฉากหน้าที่มีคนเล่นอยู่เบื้องหลัง โดยการไปเช่าเซิร์ฟเวอร์ที่ต่างประเทศแล้วยิงถล่มกลับเข้ามาในไทย เพราะหากเข้าไปดูTrafficกันจริงๆ มาจากประเทศทางยุโรปแทบทั้งสิ้น

“การยิงDDoSมีผู้ให้บริการที่เปิดเป็นเซิร์ฟเวอร์ในการให้บริการรับยิงถล่มเว็บไซต์ ดังนั้น ใครก็ได้จ่ายเงินซื้อบริการ และแจ้งว่าจะให้ยิงไปที่ไหน เว็บผู้ให้บริการก็จะยิงมาเท่านั้นเอง... ข้อดี คือ เป็นการทดสอบความแข็งแรงของเว็บไซต์ว่า ถ้ามีคนเข้าเว็บจำนวนมากในเวลาเดียวกัน เว็บจะสามารถอยู่รอดได้หรือไม่ แต่บางคนเอาไปใช้ในทางที่ผิด อยากจะถล่มใครก็จ่ายเงินจ้างให้ไปถล่มแทน”

ขณะที่ปริญญา หอมเอนกผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์อีกคน กล่าวว่า“ส่วนตัวผมไม่เชื่อว่า จะมีใครที่นัดกันกดF5 พร้อมกันทีเดียวเป็นแสนคน ส่วนใหญ่ที่นับUIPจริงๆ อาจเป็นกลุ่มคนไม่กี่กลุ่ม 90% ผมเชื่อว่าเป็นการโจมตีทางเทคนิคที่หวังผล ไม่ได้มาจากคนธรรมดา อาจมีการใช้เฟซบุ๊กสร้างกระแสว่าประชาชนกดF5 ถ้าพิสูจน์ได้ว่ามาจากฝั่งตรงข้ามรัฐบาล จะกลายเป็นเรื่องการเมืองทันที แม้คนจะต่อต้านซิงเกิลเกตเวย์จริง แต่ไม่น่าจะมีใครที่ออกมาลุยสุดตัว แต่ผู้ไม่หวังดีอาจมีมุมมองทางการเมืองที่มองว่า ท่านนายกฯ ริดรอนสิทธิประชาชน โดยที่ท่านอาจจะไม่เคยคิดอะไรแบบนั้นเลย ตอนนี้คาดว่าพวกเขายังคงเล่นกันไม่เลิกนะครับ จนกว่าจะได้คำชี้แจงที่ชัดเจนจากภาครัฐ”(ไทยรัฐออนไลน์)

นี่คือ การผสมโรงที่น่ากลัว เพราะเท่ากับว่า รัฐบาลกำลังเผชิญหน้ากับศัตรูตัวฉกาจที่มองไม่เห็น และไม่รู้ว่าจะเอาใครเป็นตัวประกันอีก รู้แต่ว่า ไม่เป็นมิตรอย่างแน่นอน