โกรธ เกลียด อิจฉา

โกรธ เกลียด อิจฉา

ท่านผู้อ่านมีเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย หรือลูกน้อง ที่มีพฤติกรรมที่แปลกๆ ผิดปกติ ผิดเพี้ยน ทั้งๆ ที่บุคคลผู้นั้น

ไม่ว่าจะด้วยตำแหน่งหน้าที่การงาน สถานะทางสังคม วุฒิการศึกษา หรืออายุ ดูแล้วควรจะเป็นผู้ที่ประพฤติตัวให้สอดคล้องกับสถานภาพของตนเองที่ควรจะเป็น ผมไปพบเจอว่าได้มีการศึกษาวิจัยในหลายๆ ชิ้นงาน ที่พยายามหาคำตอบเพื่ออธิบายต่อพฤติกรรมเพี้ยนๆ เหล่านี้ไว้เหมือนกันครับ ลองมาดูกันนะครับ

เริ่มจากอารมณ์แรกเลยคือ พวกที่ชอบแสดงอารมณ์ฉุนเฉียว โกรธ โมโห หงุดหงิด ในเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และในขณะเดียวกัน พวกที่ชอบแสดงอาการโกรธหรือฉุนเฉียวนั้น ก็มักจะได้รับความสนใจจากบุคคลรอบข้างมากกว่าพวกที่มองโลกในแง่ดี อารมณ์ดีทั้งหลาย มีงานวิจัยจาก School of Pyschology, Bangor University ที่พบว่าเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์ในสังคมนั้น สมองของเราจะรับรู้ต่อสิ่งที่เป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของเราได้ดีกว่า และในขณะเดียวกันก็มีส่วนเล็กๆ ในสมองที่ตอบสนองต่อใบหน้าที่โกรธได้ดีกว่าใบหน้าที่มีความสุขหรือเฉยๆ

ท่านผู้อ่านลองทดลองดูเองง่ายๆ ก็ได้นะครับ ท่านลองทำหน้าโกรธหรือหน้าที่หงุดหงิดมาทำงาน เข้าประชุม เจอคน เชื่อว่าจะต้องมีคนทักหรือถามท่านว่าเกิดอะไรขึ้น? โกรธใครมา? แต่ถ้าวันไหนท่านใช้ในใบหน้าธรรมดาหรือใบหน้าที่อิ่มเอมมีความสุขมาทำงาน คนจะทักหรือถามท่านน้อยกว่าใบหน้าที่โกรธหรือหงุดหงิด

ดังนั้น เมื่อคนต้องการที่จะเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่น วิธีการที่ง่ายที่สุดก็คือ ปลดปล่อยพลังงานความโกรธนั้นออกมา ซึ่งดูเหมือนจะสามารถเรียกร้องความสนใจจากคนอื่นๆ ได้ดีกว่าการปลดปล่อยพลังแห่งความสุข ซึ่งเมื่อปฏิบัติไปนานๆ เข้า ก็จะกลายเป็นนิสัยประจำตัวที่มักจะโกรธและหงุดหงิดตลอดเวลา เพราะเมื่อใดที่โกรธและหงุดหงิดแล้ว ก็มักจะได้ตามสิ่งที่ตนเองต้องการมากกว่า

อารมณ์ที่สองคือ พวกที่มีอารมณ์เกลียดครับ เคยสงสัยไหมว่า ทำไมกับคนบางคนเพียงแค่เห็นหน้าก็รู้สึกเกลียดแล้ว หรือกับบางคนที่รู้จักกันมาก่อนและไม่ชอบหน้ากัน (ถึงขั้นเกลียด) พอพบหน้ากันก็มักจะแสดงอารมณ์หรือพฤติกรรมที่ผิดปกติออกมา ก็ได้มีงานค้นคว้าจากUniversity College Londonที่พบว่า ในสมองของเรานั้นจะมีส่วนๆ หนึ่งที่จะมีปฏิกิริยาขึ้นมาเมื่อเห็นใบหน้าของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่ตนเองเกลียด นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ตั้งชื่อบริเวณนั้นว่าเป็น Hate Circuitครับ

นอกจากนี้ ยังพบต่อไปอีกครับว่า เมื่อเจ้า Hate Circuit นี้ถูกกระตุ้นขึ้นมา เราก็จะมีปฏิกิริยาตอบสนองที่อาจจะผิดปกติได้ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์มองว่า เมื่อต่อมความเกลียดได้รับการกระตุ้นนั้น ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นก็มักจะเหมือนเมื่อต่อมความรักได้รับการกระตุ้น นั่นคือสามารถที่จะมีพฤติกรรมที่ไม่มีเหตุผล ผิดเพี้ยนออกไปได้

ท่านผู้อ่านลองดูตัวท่านเองนะครับว่ามีใครที่ เกลียดเป็นพิเศษหรือเปล่า? และเมื่อพบเจอหน้าหรือแม้กระทั่งเพียงเห็นรูปของบุคคลผู้นั้นแล้ว ท่านจะมีปฏิกิริยาอย่างไรบ้าง? ทั้งหมดนั้นล้วนแล้วแต่มาจากเจ้า Hate Circuit ในสมองของท่านครับ

มาดูอารมณ์สุดท้ายกันครับนั่นคือ อิจฉา ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นได้มีการศึกษาเรื่องนี้ไว้ และตีพิมพ์ในวารสาร Science โดยพบว่า เมื่อเรามีอารมณ์อิจฉาเกิดขึ้น เราจะมีความรู้สึกเหมือนกับได้รับความเจ็บปวดทางร่างกาย แต่เมื่อได้ก็ตามมีอารมณ์ Schandenfreude (แปลเป็นไทยว่าสะใจเมื่อเห็นความโชคร้ายของผู้อื่น) สมองของเรากลับจะรู้สึกว่ามีความสุข

ซึ่งทั้งความรู้สึกอิจฉา และสะใจนั้น ต่างส่งผลต่อสมองเราทั้งสิ้น เมื่อรู้สึกอิจฉา จะรู้สึกเหมือนกับร่างกายเจ็บปวด แต่เมื่อสะใจในความทุกข์ของผู้อื่น กลับรู้สึกมีความสุข ดังนั้น จึงไม่แปลกใจนะครับที่เราพบคนจำนวนหนึ่งที่ถูกความอิจฉาเข้าครอบงำ แล้วรู้สึกทุกข์ทรมาน (เหมือนในละครที่บรรดานางร้ายทั้งหลายเมื่ออิจฉานางเองแล้วจะร้องกรี๊ดๆ) ดังนั้น บรรดาบุคคลขี้อิจฉาทั้งหลาย จึงพยายามที่จะแก้แค้นหรือทำให้ผู้อื่นเป็นทุกข์ เนื่องจากถ้าผู้อื่นโชคร้ายหรือเป็นทุกข์แล้ว ตัวเองจะกลับมามีความสุขอีกครั้ง (เหมือนตัวร้ายขี้อิจฉาในละครที่พยายามกลั่นแกล้งนางเอก และทำใบหน้าสะใจ มีความสุขทุกครั้ง)

เป็นอย่างไรบ้างครับ คงจะพบว่าพฤติกรรมที่ผิดเพี้ยน ผิดปกติ ของคนที่ดูแล้วควรจะปกตินั้น จริงๆ แล้วก็มีที่มาจากอารมณ์ทั้งโกรธ เกลียด และอิจฉาทั้งสิ้น อีกทั้งอารมณ์ทั้งสามประการนั้น นักวิทยาศาสตร์ก็ค้นพบแล้วว่า ล้วนแล้วแต่มาจากการทำงานของส่วนใดส่วนหนึ่งในสมองเราทั้งสิ้น เชื่อว่าบทความนี้คงพอทำให้ท่านผู้อ่านพอจะอธิบายหรือทราบสาเหตุของพฤติกรรมของบุคคลบางคนรอบๆ ตัวท่านได้ดีขึ้นนะครับ