กระตุ้นแก้ระยะสั้น ปฏิรูปแก้ระยะยาว

กระตุ้นแก้ระยะสั้น ปฏิรูปแก้ระยะยาว

รัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ออกมาอย่างต่อเนื่องทั้งระยะสั้น

 ระยะกลางและระยะยาว โดยหวังว่ามาตรการทั้งหมดจะช่วยฟื้นภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชบเซามาต่อเนื่องหลายปี จากเศรษฐกิจในกลุ่มพัฒนาแล้วเกิดปัญหาหลายด้าน จนส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวทั่วโลก ซึ่งผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกชะลอตัวในครั้งนี้ ทำให้หลายประเทศเริ่มกลับมาทบทวนนโยบายเศรษฐกิจของตัวเอง อย่างเช่น จีนที่เคยมุ่งไล่ตามประเทศอุตสาหกรรม ได้เริ่มกลับมาหาพื้นฐานที่แท้จริงของประเทศ หรือที่เรียกกันว่า “บรรทัดฐานเศรษฐกิจใหม่”

หลักการของบรรทัดฐานใหม่ทางเศรษฐกิจ เริ่มมีการนำมาใช้ในระดับ นโยบายของแต่ละประเทศมากขึ้น แม้ว่าแนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ในทางเศรษฐศาสตร์ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการกล่าวถึงกันมานานแล้ว เพียงแต่แนวนโยบายไม่ได้รับการกล่าวถึงหรือปฏิบัติกันในระดับรัฐบาลของแต่ละประเทศเท่านั้น แต่จากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้ทำให้แนวคิดนี้เริ่มมีการนำมาใช้อย่างจริงจัง โดยหวังว่าหากมีระบบเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับประเทศของตัวเอง ก็จะทำให้มีพลังมากพอในการรับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่มาจากภายนอกในยุคโลกาภิวัตน์ที่ทุกอย่างเชื่อมโยงและเกี่ยวเนื่องกัน

 ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลหลายคนเริ่มให้ความสนใจกับแนวคิดนี้ เช่นเดียวกับผู้นำทางเศรษฐกิจภาคเอกชนหลายคน ก็เริ่มพูดถึงสิ่งเดียวกันนี้มากขึ้นและต้องการให้มีการผลักดันการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประเทศอย่างจริงจัง ซึ่งนับเป็นช่วงจังหวะที่ดีอย่างยิ่งทำให้ผู้ที่มีบทบาทในการกำหนดนโยบายหันมาพิจารณาในนโยบายเศรษฐกิจใหม่ แทนที่การวิ่งไล่ตามกระแสโลกมานานกว่าครึ่งศตวรรษ ซึ่งในที่สุดแล้วก็พบว่าการพัฒนาที่ผ่านมา แม้ว่ามีด้านดีทำให้การขยายตัวเศรษฐกิจเป็นไปในระดับที่น่าพอใจ แต่ก็ได้ทิ้งปัญหาตามมามากมายและต้องใช้เวลาแก้ไขกันอีกยาวนาน

การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น โดยการอัดฉีดเงินในระดับฐานราก เพื่อหวังให้เกิดการหมุนเวียนของเงินทุนและเพิ่มสภาพคล่องในระดับล่าง ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะสินค้าเกษตรตกต่ำมานานนับปี โดยมาตรการดังกล่าวได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากบรรดาภาคธุรกิจ ซึ่งหวังว่าการกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในระดับกว้างลงไป จะสามารถกระตุ้นกำลังซื้อของประเทศในช่วงที่ยังคาดหวังกับภาคส่งออกได้ไม่มากนัก ซึ่งยังไม่แน่ว่าภาคส่งออกจะฟื้นตัวในปีนี้ตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ เพราะมีหลายปัจจัยที่ไม่อาจคาดการณ์ได้

 แน่นอนว่าการกระตุ้นดังกล่าวแม้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ในหลายด้าน แต่ก็ถือว่าเป็นมาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่กำลังเกิดปัญหา และดูเหมือนว่ามาตรการต่างๆ ที่ออกมานั้น แทบจะเป็นพิมพ์เขียวอันเดียวกันที่มีการนำมาใช้แทบทุกรัฐบาล โดยจะมีความแตกต่างกันก็เพียงในเรื่องของความเข้มข้นของแต่ละนโยบายว่าจะมีมากน้อยแค่ไหนเท่านั้น ดังนั้นความท้าทายในระยะต่อไปของรัฐบาล ซึ่งไม่เฉพาะรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เท่านั้น แต่เป็นเรื่องของรัฐบาลต่อๆไปในการวางนโยบายของประเทศ โดยยึดบทเรียนจากวิกฤติเศรษฐกิจโลกในครั้งนี้

เราเห็นว่าปัญหาในภาคเกษตรซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่าถึงที่สุดแล้วเศรษฐกิจไทย ยังต้องพึ่งพาภาคเกษตรต่อไปอีกนาน ดังจะเห็นได้จากทั้งรัฐบาลและภาคธุรกิจตั้งความหวัง ว่ามาตรการกระตุ้นในครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจ ระดับฐานรากของประเทศกระเตื้องขึ้นมา ดังนั้นในเมื่อรัฐบาลประกาศตั้งแต่แรกในเรื่องของการปฏิรูปภาคเกษตรในหลายด้าน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตรของไทย ซึ่งสิ่งที่อาจมีความจำเป็นอย่างมากต่อไปคือทำอย่างไร จะมีการขับเคลื่อนการปฏิรูปนี้ให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว แม้เป็นเรื่องที่ยุ่งยากและมีความซับซ้อนอย่างมาก