อย่าถามว่าใครมา ให้ถามว่าจะทำอะไร เพื่อใคร?

อย่าถามว่าใครมา ให้ถามว่าจะทำอะไร เพื่อใคร?

ว่ากันว่ารายชื่อของ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) 21 ท่าน

 และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) 200 ท่านจะประกาศให้สาธารณชนทราบกันโดยทั่วไปวันนี้

โดยธรรมเนียมของการติดตามข่าวสารสังคมไทย ก็จะมีการวิเคราะห์กันว่าใครเป็นใคร มาจากไหน ใครเป็นสายใคร และทำไมคนนั้นคนนี้จึงได้กลับมา แต่อีกส่วนหนึ่งไม่ได้กลับมา

เป็นข่าวตื่นเต้นกันในหน้าหนังสือพิมพ์ วิทยุ ทีวีและสื่อออนไลน์กันอีกวันสองวัน ก็จะตามไล่สัมภาษณ์ท่านทั้งหลายว่าท่านจะทำหน้าที่กันอย่างไร

ทำนายล่วงหน้าได้เลยว่า หน้าตาของบุคคลที่มาทำหน้าที่ในสองส่วนนี้ ก็จะไม่มีอะไรที่สร้างความประหลาดใจมากนัก เพราะแวดวงสังคมไทยของคนมีสิทธิจะเลือก และผู้ถูกเลือกก็ไม่ได้มีมากมายนอกวงการเท่าใด

จะวิเคราะห์กันอย่างไร ตีลังกามองหาแง่มุมว่าใครเป็นใครอย่างไร ก็คงไม่ได้ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ผู้คนคาดหวังอะไรมากนัก

ใครที่เคยเชื่ออย่างไรก็จะยังเชื่ออย่างนั้นต่อไป ที่ไม่เชื่อก็จะไม่เชื่อเหมือนเดิม เพราะหน้าตาของแต่ละท่านที่จะปรากฏเป็นข่าววันนี้และพรุ่งนี้ ก็ไม่ได้ทำให้เห็นว่าจะก้าวข้ามปัญหาความขัดแย้ง หรือจะเดินหน้าปฏิรูปบ้านเมืองได้อย่างจริงจังแต่อย่างใด

เพราะท้ายที่สุดแล้ว ใครจะมาเป็นสมาชิกของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญหรือสภาขับเคลื่อนฯ ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าเนื้อหาสาระแห่งการเดินหน้า เพื่อนำพาประเทศให้เข้าสู่กระบวนการการเมือง ที่สอดคล้องกับความคาดหวังของประชาชนนั้นจะเป็นอย่างไร

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่คงไม่ต้องยกร่างใหม่อะไรมากมาย และก็คงไม่จำเป็นต้องเสียเวลาวิเคราะห์ ว่าทำไมร่างเดิมจึงถูกเสียงส่วนใหญ่ของสภาปฏิรูปแห่งชาติยกมือคว่ำไป

เพราะเป็นที่รู้กันว่าประเด็นที่สังคมถกเถียงกันอย่างกว้างขวางมีอยู่ไม่กี่หัวข้อ และกลุ่มการเมืองไหน กลุ่มผู้มีอิทธิพลใดยืนอยู่ตรงไหนของเรื่องเหล่านั้น

ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะสอดคล้องกับผลประโยชน์ของประเทศ จะต้องสามารถบรรลุเป้าหมายสำคัญสองเรื่องนั่นคือ ประชาธิปไตย ที่สามารถทำให้เกิดการ ปฏิรูป และ ปรองดอง

ใครจะมานั่งในคณะกรรมการร่างฯ ก็ต้องเริ่มด้วยการเข้าใจโจทย์สำคัญก่อน จึงจะตอบคำถามที่ว่าร่างใหม่นี้จะเขียนอย่างไรเกี่ยวกับ

    1. นายกฯ “คนนอก” ควรจะมีหรือไม่?อำนาจ
    2. หน้าที่และที่มาของสมาชิกวุฒิสภาจะเป็นอย่างไร?
    3. จะต้องมีคณะกรรมการที่มีอำนาจพิเศษเพื่อป้องกันเหตุวุ่นวายที่อาจจะเกิดขึ้นช่วงเปลี่ยนผ่านหรือไม่?
    4. จะต้องให้พรรคการเมืองเริ่มนับหนึ่งใหม่หรือไม่?

นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ยืนยันว่าจะเปิดรับฟังความเห็น ของประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างกว้างขวาง เพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้รับใช้ประชาชนอย่างแท้จริง

จึงเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการชุดใหม่นี้ หาวิธีที่จะระดมความเห็นจากผู้คนทุกหมู่เหล่า เพื่อสะท้อนถึงความต้องการอย่างแท้จริง

ความเห็น “หลากหลาย” ที่ว่านี้ย่อมจะต้องไม่ใช่เฉพาะที่มาจากนักการเมือง อดีตนักการเมือง นักเคลื่อนไหวเฉพาะกลุ่ม หรือผู้มีอำนาจในหน่วยงานประจำทั้งหลายที่มีช่องทางแสดงออกผ่านสื่อกระแสหลักหรือ social media เท่านั้น

เพราะความขัดแย้งสังคมไทย ที่ทำให้เกิดวิกฤตในบ้านเมืองยาวนานนั้น มาจากคนที่ยืนอยู่สองข้างตะโกนใส่กัน เพื่อยืนยันความถูกต้องของฝ่ายตนเท่านั้น มิได้มีการสร้าง “ความหลากหลาย” หรือ “ทางเลือกอื่น” ที่สังคมคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีโอกาสแสดงออกให้ประจักษ์ชัด เพื่อหาทางออกให้กับประเทศชาติแต่อย่างใด

จึงกลายเป็นวงจรแห่งความขัดแย้งที่ไม่มีทางออกจนถึงทุกวันนี้

คำถามของวันนี้จึงไม่ใช่ว่า ใครจะมาทำหน้าที่ หากแต่คือท่านทั้งหลายจะทำ อะไรและ เพื่อใครมากกว่า