คนรุ่นใหม่มองอนาคตประเทศไทย (2) :

คนรุ่นใหม่มองอนาคตประเทศไทย (2) :

'ดร.วิรไท'คงไม่มีวันหยุดไปอีกนาน

เดือนตุลาคมเป็นเดือนเริ่มต้นของปีปฏิทินชีวิตรายการของไทย  ปีนี้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีผู้ว่าการฯคนที่ 23 ดร.วิรไท สันติประภพ ชื่อ“วิรไท” แปลว่า “ผู้มีเสรีแกล้วกล้า” น่าจะเป็นการเข้ามารับตำแหน่งท่ามกลางเสียงสองกระแส ทั้งชื่นชมในประวัติการทำงาน และความคิดกับอาการดูแคลนว่าอายุน้อยเกินไปหรือเปล่า สำหรับการเข้ามารับตำแหน่งอันเป็น “ทุกขลาภ” ท่ามกลางปัญหารุมเร้าเศรษฐกิจไทยจะไปกันอีท่าไหน “เรามาถึงจุดนี้ได้ยังไง”

ผมรู้จักดร.วิรไทในยุคธารินทร์ นิมมานเหมินทร์” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย รอบที่สองที่เข้ามาแก้ปัญหาวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 ที่ตกทอดมาจากรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ดร.วิรไทอยู่ในทีมทำงานของรัฐมนตรีคลัง เพื่อประสานกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF ) เพราะก่อนหน้านั้นหลังจากจบปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่ออายุ 24 ปี ได้เข้ามาทำงานไอเอ็มเอฟอยู่ 2 ปีก่อนจะลาออกมาอยู่กระทรวงการคลัง

จึงไม่ได้รู้สึกว่าดร.วิรไท ที่ปีนี้มีอายุ 46 จะอายุน้อยเกินไปสำหรับตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติ  กลับมั่นใจมากๆ ว่าคนรุ่นใหม่อย่างดร.วิรไทที่มีทั้งประวัติการเรียนดีเด่นการทำงานผ่านทั้งระดับโลก-ราชการ-เอกชน และยังแสดงความคิดอ่านใหม่ๆ ห่วงใยประเทศชาติอยู่เป็นระยะๆเยี่ยงนี้

สามารถเข้ามาทำงานช่วยประเทศชาติได้อย่างแน่นอน และน่าจะเหมาะสมกว่าคนรุ่นเก่าๆที่ แสดงตัว” เป็นผู้ทรงอิทธิพลหรือยึดกุมอำนาจทั้งมีตำแหน่งหรือไม่มีตำแหน่ง ในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจและการเงินของประเทศมานานมากแล้ว  จนลากจูงโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่เต็มไปด้วยปัญหาทำให้ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้ยังไงคือไปต่อแทบไม่ได้

ดร.วิรไทได้เขียนบทความสำคัญชิ้นหนึ่งที่ถูกจังหวะอย่างยิ่ง  หัวข้อ“กำลังเกิดอะไรขึ้นกับเศรษฐกิจไทย” ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2558 ก่อนจะได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนที่ 23 ได้อย่างน่าสนใจมากๆ  ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางสำคัญในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจและการเงิน ของผู้ว่าแบงก์ชาติคนนี้ ที่มีเทอมทำงานอีกนานเพียงพอ สำหรับการแก้ไขโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยที่มีปัญหามานาน

ผมเชื่อว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาเชิงโครงสร้างหลายจุด ถ้าจะเปรียบเทียบกับร่างกายคน เศรษฐกิจไทยเวลานี้เหมือนกับคนอ้วนที่เคยปล่อยเนื้อปล่อยตัว  กินตามใจตามปากมานาน มีอาการทั้งโรคเบาหวาน  ความดัน  หัวใจ  กล้ามเนื้ออ่อนแรง  ข้อเข่าเริ่มเสื่อม  กระดูกหลายชิ้นเริ่มทรุด ทางเดียวที่จะทำให้กลับมาแข็งแรงได้อย่างแท้จริงคือต้องปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต  ลดการกินตามใจปาก  หันมาออกกำลังกายรีดไขมัน  สร้างกล้ามเนื้อ  รวมทั้งยอมเจ็บตัวผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าและชิ้นกระดูกที่มีปัญหา  ใครก็ตามที่โดนหมอวินิจฉัยแบบนี้ย่อมทำใจยาก

"การเลิกกินตามใจปากและหันมาออกกำลังกาย ทำให้เกิดผลข้างเคียงหลายอย่าง  ทั้งหน้ามืด  อ่อนแรง  หงุดหงิด จนหลายคนควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ 

 คนไข้ที่ใจอ่อนมักหันกลับไปใช้ชีวิตเหมือนเดิม และหวังว่าจะเจอหมอคนใหม่ที่ชอบเอาใจ  วินิจฉัยโรคไม่ได้เป็นอะไรรุนแรง ทุกคนรู้ดีว่าคนไข้ที่หลอกตัวเอง  มีแต่จะสะสมโรคร้ายมากขึ้น  เสี่ยงที่จะหัวใจวาย หรือเส้นเลือดในสมองแตกตายแบบฉับพลัน 

ถ้าเราปล่อยให้สุขภาพเสื่อมลงถึงจุดนั้นแล้ว การรักษาให้กลับมาปกติใหม่จะยากขึ้น และต้นทุนค่ารักษาก็จะสูงขึ้นมาก (จนอาจจะทำให้คนไข้และญาติพี่น้องหมดเนื้อหมดตัว)

ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้ยังไง?

เดือนก.ค.ปี 2540 ประเทศไทยกลายเป็นต้นต่อวิกฤติเศรษฐกิจที่แพร่เชื้อโรคไปยังประเทศอื่นๆ  แม้ว่าคนไทยจำนวนมากเห็นว่ากองทุนการเงินระหว่างประเทศ มาปล้นอธิปไตยทางเศรษฐกิจของไทยไปปู้ยี้ปูยำ มากกว่ามาช่วยให้เศรษฐกิจประเทศไทยฟื้นกลับมาได้ 

แต่ต้องยอมรับว่าภาคสถาบันการเงินเอกชนของไทยในปัจจุบัน ไม่ได้มีปัญหาสถานะผุกร่อนจนเป็นสาเหตุสำคัญ ของวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 แต่กลับแข็งแกร่งมากกว่าเดิม

ดร.วิรไทที่ทำงานอยู่วงในที่สุด” ของทีมงานกระทรวงการคลังแก้วิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 น่าจะมีคำตอบและเรียนรู้บทเรียนอย่างดี  เหมาะสมอย่างยิ่ง ในการเข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าแบงก์ชาติ ในยุคนี้เพื่อมาแก้ปมปัญหาในเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ที่เสมือนคนอมโรคแห่งเอเชีย

ข้อวินิจฉัยโรคเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ในสายตาของดร.วิรไทจะถูกต้องหรือไม่ ลองอ่านอีกครั้ง

“สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเหมือนคนอ้วนที่เคยกินตามใจปากจนเกินพอดี  เป็นเพราะนโยบายภาครัฐในอดีตหลายเรื่องที่สร้าง”รายได้เทียมให้แก่ประชาชน ส่งเสริมให้คนนำเงินในอนาคตมาใช้ล่วงหน้า และสร้างวัฒนธรรมรอรัฐอุปถัมภ์  หมอที่ชอบเอาใจคนไข้มักเร่งให้คนไข้ดูดี  ด้วยการเร่งการบริโภคและการลงทุน เพื่อทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเร็วในช่วงสั้นๆไม่ว่าจะเป็น

โครงการรถคันแรก(ที่หลายคนกู้เงินซื้อรถเพื่อสิทธิ์เอาภาษีคืนจากรัฐบาล)

โครงการรับจำนำข้าวในราคาที่สูงเกินจริง(ที่สร้างผลขาดทุนกว่าครึ่งล้านล้านบาท  สร้างหนี้สาธารณะ และทำให้เ้กษตรกรถูกหลอกว่าจะมีรายได้ดีต่อเนื่อง จนใช้จ่ายเกินตัว)

การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ(ทำให้แรงงานเชื่อว่าจะมีรายได้สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กไปไม่รอด และราคาสินค้ากระโดดขึ้นเร็ว)

และการขึ้นเงินเดือนข้าราชการแบบก้าวกระโดดโดยไม่เพิ่มประสิทธิภาพ(ได้สร้างข้อจำกัดทางงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ)

ทั้งนี้ยังไม่รวมโครงการขยายสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ และโครงการเร่งลงทุนผ่านรัฐวิสาหกิจที่ไม่คุ้มค่าอีกหลายสิบโครงการ”

เมื่อนโยบายเหล่านี้เริ่มอ่อนฤทธิ์ และร่างกายเริ่มแสดงอาการที่แท้จริง  อย่างที่เห็นกันด้วยเสียงอุทานว่า“ประเทศไทยมาถึงจุดนี้ได้ยังไง”

ดร.วิรไทเคยให้สัมภาาณ์ว่าสไตล์การทำงานจะทำเต็มที่  ไม่มีวันหยุด แต่ถ้าถึงเวลาพักจะไปเที่ยวหลายวัน แอตเมื่อหมอเศรษฐกิจวินิจฉัยโรคร้ายแรงขนาดนี้ คงอีกนานกว่าหมอเศรษบกิจคนนี้จะได้ไปเที่ยวอย่างใจอยาก