จับตาสัญญาณเสี่ยงการเงินโลก

จับตาสัญญาณเสี่ยงการเงินโลก

สัญญาณความเสี่ยงที่แท้จริงของ Glencore บริษัทลงทุนและซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์

 รายใหญ่ที่สุดของโลกสัญชาติอังกฤษ-สวิส ที่กำลังประสบปัญหาหนี้ท่วมจากภาวะขาดทุน กำลังถูกมองว่าเป็นอันตรายต่อระบบความเสี่ยง Systemic Risk ท่ามกลางความผันผวนของการเทรดสินค้าโภคภัณฑ์ และตลาดตราสารอนุพันธ์ที่เชื่อมโยงกันนับล้านล้านดอลลาร์ ประกอบกับและราคาที่ตกต่ำลง ส่งผลให้อัตราประกันความเสี่ยงทางการเงิน หรือ Credit Default Swap พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยที่อัตราความเสี่ยงทางการเงินของ Glencore จากที่เคยอยู่ในระดับต่ำเพียง 1.7% ซึ่งมีผลให้ได้ต้นทุนการเงินถูกๆ กลับกลายเป็นต้นทุนแพงที่พุ่งขึ้นถึง 7.57% ในปัจจุบัน ขณะเดียวกัน ยังส่งผลกระทบมายังความเสี่ยงทางการเงิน ของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่พุ่งสูงขึ้นด้วยจากระดับ 3% เป็นระดับ 4% โดยที่เม็ดเงินลงทุนของต่างชาติได้เกิดการไหลออกอีกจำนวนมหาศาล ทำให้นักลงทุนทั่วโลกต่างจับตาบทสรุปของ Glencore จะเจอบทสรุปแบบเดียวกับ Lehman Brothers เมื่อปี 2551 หรือไม่ หลังจากที่วันจันทร์ราคาหุ้นของ Glencore ที่จดทะเบียนในตลาดลอนดอนดิ่งลงในวันเดียว 29% ต่อเนื่องถึงวันอังคาร ราคาหุ้น Glencore ในตลาดฮ่องกงร่วงลงถึง 27%

สำหรับกรณีไทย ที่ต้องมีการระดมทุน เพื่อนำไปใช้ในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ต้องเผชิญกับการมีต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในภาวะที่สหรัฐมีการดึงเม็ดเงินดอลลาร์ให้ไหลกลับ ทำให้สภาพคล่องที่มีต้นทุนราคาถูกที่เกิดขึ้นในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ก็จะหายไป ประกอบกับธนาคารกลางสหรัฐ อาจจะตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.นี้ โดยนับตั้งแต่ต้นปีมานี้ ไทยต้องพบกับภาวะเงินทุนไหลออกจำนวนมาก จากการเทขายของนักลงทุนต่างชาติทั้งในตลาดเงินและตลาดทุนไทย ทำให้ต้องเผชิญกับปัญหาเงินทุนไหลออกถึง 5,9000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 210,000 ล้านบาท โดยเป็นการขายออกในตลาดบอนด์ 2,900 ล้านดอลลาร์ และขายออกในตลาดหุ้นอีก 3,000 ล้านดอลลาร์ ล่าสุด สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ฟิทซ์ เรทติ้งส์ ระบุถึงความเสี่ยงของไทยที่อาจจะมีผลกระทบจากการจัดอันดับเครดิตครั้งใหม่ จากระดับปัจจุบันอยู่ที่ BBB+ หรือระดับที่ลงทุนได้ ภายใต้บริบทที่ภาวะการเติบโตของเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับต่ำ โดยปีนี้จะขยายตัวเพียง 2.7% ที่มีแนวโน้มความเสี่ยงที่สูงขึ้น รวมถึงปัญหาการเมือง และปัญหาสินเชื่อของภาคธนาคารที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก

โดยที่ ฟิทซ์ เรทติ้งส์ ชี้จุดอ่อนจุดแข็งของไทยในประเด็นของสถานะปัจจุบัน และแนวโน้มเศรษฐกิจในภาพรวมอยู่ในระดับกลาง แม้เสี่ยงเติบโตน้อยลง ส่วนฐานะการคลังอยู่ในระดับกลางมีแนวโน้มที่เป็นเสถียรภาพ เช่นเดียวกับสถานะหนี้สินต่างประเทศยังคงเข้มแข็งและมีเสถียรภาพ จากการที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 สำหรับปัญหาโครงสร้างมีความอ่อนแอและมีแนวโน้มที่แย่ลง อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปข้างหน้ายังมีปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการปรับอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ โดยมีด้านบวกหากเศรษฐกิจอาจจะฟื้นตัวในอนาคตข้างหน้า และความขัดแย้งในสังคมลดลง แต่ก็มีปัจจัยด้านลบที่มีแนวโน้มต้องระมัดระวังจากการที่เศรษฐกิจโตต่ำมาหลายปี และอาจมีความขัดแย้งการเมืองรอบใหม่ ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะจะเพิ่มขึ้นมาก เช่นเดียวกับภาคธนาคารที่มีการปล่อยเงินกู้สะสมตัวมากและเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา โดยแนวโน้มอันดับเครดิตโดยรวมมีเชิงลบ ถึงแม้ธนาคารใหญ่ๆ ของไทยจะยังมีความแข็งแกร่งในปัจจุบัน เนื่องจากมีเงินทุน และกันสำรองเผื่อหนี้สูญไว้สูง แต่หากเศรษฐกิจไทยยังโตในระดับต่ำต่อไปหลายปี ก็จะส่งผลทางลบ เนื่องจากขนาดของสินเชื่อเทียบผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) มีมากถึง 160%

ขณะที่รายงานเซอร์เวย์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่า ในช่วงเวลาที่จะเปลี่ยนผ่านจากปัจจัยความไม่แน่นอน ในกรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด อาจจะพิจารณาปรับขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.นี้ เพื่อเข้าสู่ภาวะการเงินปกติที่เรียกว่า Normalization และช่วงเปลี่ยนผ่านในการปฏิรูปทางเศรษฐกิจของจีนที่มีอัตราเติบโตชะลอตัวลง ล้วนกำลังส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกเติบโตเชื่องช้าลง หากว่าการเติบโตเศรษฐกิจโลกย่ำแย่ลงกว่าที่คาดการณ์ไว้ หากเกิดภาวะที่นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นอาจส่งผลให้ไอเอ็มเอฟต้องปรับลดประมาณการ อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลกลงในเดือนต.ค.นี้ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาในตลาดเกิดใหม่มีภาวะความเสี่ยงทางการเงินสูงขึ้น เนื่องจากจำนวนหนี้ของภาคธุรกิจ (ไม่ใช่สถาบันการเงิน) ที่เพิ่มขึ้นสูงมากกว่า 4 เท่าตัวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปี 2004-2014 โดยในปี 2004 ปริมาณหนี้ภาคธุรกิจอยู่ที่ 4 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเป็น 18 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2014 ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินของประเทศในตลาดเกิดใหม่ อาจต้องใช้เครื่องมือทางการเงิน ที่มีความระมัดระวังอย่างสูง หรือ Macroprudential เพื่อจำกัดการก่อหนี้ของภาคธุรกิจไม่ให้มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น