ธุรกิจ Green Car ทำพิษ

ธุรกิจ Green Car ทำพิษ

ข่าวผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของยุโรปอย่างบริษัท Volkswagen หรือ VW ใช้วิธีติดซอฟต์แวร์ "defeat devices"

โกงการวัดระดับการปล่อยก๊าซมลพิษในรถยนต์ดีเซลจำนวนกว่า 11 ล้านคัน สร้างความผิดหวังและทำลายความเชื่อมั่นใจของผู้บริโภคและนักลงทุนทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มผู้ซื้อที่รักษ์สิ่งแวดล้อม และยอมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อรถสีเขียวหรือ Green Car โดยเชื่อว่าจะปล่อยมลพิษน้อยกว่า เรื่องนี้ ทำเอาหุ้น VW ตกลงไปกว่า 20% ในเวลาไม่กี่วัน

องค์กร Environmental Protection Agency  หรือ EPA ของสหรัฐฯ ได้ตรวจพบและตั้งข้อกล่าวหาว่าบริษัท Volkswagen ได้ติดตั้งซอฟต์แวร์ที่จะทำให้รถยนต์ดีเซลของบริษัทฯ หลายรุ่น แสดงอัตราการปล่อยก๊าซกลุ่มไนโตรเจนออกไซด์ในระดับที่ต่ำ ในขณะที่รถยนต์กำลังถูกทดสอบ (อาทิ ระหว่างอยู่ในห้องแล็บ) แต่ในความเป็นจริง ในขณะที่ขับขี่บนถนน รถยนต์คันเดียวกันจะปล่อยมลพิษออกมามากกว่าถึง 10-40 เท่า

ในที่สุด บริษัท Volkswagen ก็ออกมายอมรับว่ามีการติดซอฟต์แวร์ดังกล่าวจริง

บริษัท VW ต้องเรียกคืนรถยนต์เกือบ 5 แสนคัน จากตลาดสหรัฐฯ ทำให้รถยนต์ดีเซลของบริษัทหลายรุ่นที่เข้าข่าย อาทิ Audi A3, VW Jetta, Beetle, Golf และ Passat ไม่สามารถขายได้ในตลาดสหรัฐฯ และทำให้ CEO ต้องลาออกจากตำแหน่งไป และต่อมาบริษัทฯ ก็ยอมรับว่ามีการใช้ซอฟต์แวร์เดียวกันในรถในยุโรปด้วยเช่นกัน

EPA แจ้งว่าจะเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัท VW จำนวน 37,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคัน โดยมีรถยนต์ที่เข้าข่ายจำนวน 482,000 คัน ทำให้ VW อาจต้องเสียค่าปรับกว่า18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ความเสียหายและผลกระทบไม่ได้อยู่ที่จำนวนเงินมหาศาลที่บริษัท VW อาจต้องชดใช้ให้สหรัฐฯ แต่เรื่องนี้ทำเอาอียูเดือดร้อนอยู่ไม่น้อย เพราะมีผู้ตั้งคำถามมากมายว่า ในขณะที่อียูต้องการมีบทบาทนำในการรักษ์สิ่งแวดล้อมและลดก๊าซเรือนกระจก เป็นผู้กำหนดนโยบายด้านนี้ และได้เรียกร้องให้ภาคอุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรถยนต์ คมนาคม การบิน ร่วมเดินหน้าการทำธุรกิจสีเขียว และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาโดยตลอด แต่ภาคอุตสาหกรรมยุโรปเอง กลับใช้ซอฟต์แวร์ "defeat devices" ดังกล่าว จนหน่วยงานของสหรัฐฯ นำมาเปิดประเด็น จึงเป็นเรื่องน่าสงสัยอยู่

แล้วอียูไม่รู้หรือ?

อันที่จริง อียูรู้เรื่องนี้มานานกว่า 2 ปีแล้ว ในรายงานของ Joint Research centre ของคณะกรรมาธิการยุโรปที่ประกาศในปี 2556 ได้เตือนเกี่ยวกับความท้าทายในการใช้ซอฟต์แวร์ และความเป็นไปได้ในความผิดพลาดของการอ่านระดับการปล่อยก๊าซในรถยนต์ดีเซลดังกล่าว และได้แจ้งว่าควรมีการตรวจสอบระดับการปล่อยก๊าซจริงบนท้องถนนด้วย

อย่างไรก็ดี อียูก็ยังจัดการกับเรื่องนี้ได้ไม่สำเร็จ แม้จะมีความพยายามของคณะกรรมาธิการยุโรป ในการออกกฎระเบียบใหม่ เพื่อตรวจสอบระดับการปล่อยก๊าซของรถยนต์ แบบ “one-the-road test” และให้มีการกำหนดมาตรฐาน emission test ที่เป็นจริง

มีหลายคนเชื่อว่า เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของการล็อบบี้โดยภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ โดยเฉพาะกลุ่มดีเซล ในบรัสเซลส์ว่ามีอำนาจมากและอยู่เบื้องหลังเรื่องดังกล่าว โดยสมาชิกสภายุโรปกลุ่ม Green มองว่ากลุ่มล็อบบี้ยิสต์มีบทบาทมากในการ delay เรื่องนี้มาได้นานกว่า 8 ปี และกลุ่ม Green Peace แจ้งว่า มีข้อมูลที่บ่งบอกว่ากลุ่มอุตสาหกรรมดีเซลได้ใช้เงินกว่า 18.5 ล้านยูโร ในกิจกรรมการล็อบบี้ในบรัสเซลส์ จ้างลอบบี้ยิสต์กว่า 184 คน

อุตสาหกรรมยานยนต์ในลงทุนมหาศาลไปกับการปั้นรถยนต์ดีเซลที่ปล่อยก๊าซต่ำ โดย 53% ของรถยนต์ที่ผลิตใหม่ในยุโรปเป็นรถดีเซล และได้ล็อบบี้อย่างหนักเพื่อไม่ให้มีการตรวจสอบระดับการปล่อยก๊าซในสถานการณ์ปกติ (ที่ไม่ใช่ห้องแล็บ) และมีกลุ่มพิทักษ์สิ่งแวดล้อมได้วิพากวิจารณ์เรื่องนี้ไว้ว่า ที่ผ่านมา มาตรฐาน emission test ดูเหมือนจะเป็นมาตรฐานที่กำหนดขึ้น เพื่อให้ผู้ผลิตรถยนต์ออกแบบรถยนต์ที่ผ่านการตรวจสอบได้ฉลุย แทนที่จะผลิตรถยนต์ที่มีระดับการปล่อยก๊าซต่ำจริงๆ บนท้องถนน

ฝ่ายยุโรป ยังวุ่นวายกับการหาคำตอบว่า ใครจะรับผิดชอบเรื่องนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปอ้างว่า ตนไม่มีอำนาจในการบังคับให้หน่วยงานรับผิดชอบของประเทศสมาชิกเข้าตรวจสอบ และค้นหาซอฟต์แวร์ดังกล่าว แต่ประเทศสมาชิกก็บอกว่า ยังไม่มีการตกลงกันได้เรื่องนี้

อนาคตและชื่อเสียงของอุตสาหกรรมยานยนต์ยุโรป เป็นหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจยุโรป ความผิดพลาดในลักษณะนี้ คงต้องรีบแก้ไขโดยด่วน ทั้งจากภาคอุตสาหกรรมเอง และจากฝ่ายการเมืองและผู้กำหนดนโยบายของอียู ที่กรุงบรัสเซลส์ว่า จะมีบทบาทในการเดินหน้าการเป็นผู้นำในรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างโปร่งใส และเป็นธรรมกับผู้บริโภคทั่วโลกได้อย่างไร

-----------------------

ดร. อาจารี ถาวรมาศ เป็นผู้บริหารบริษัท Access-Europe บริษัทที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ และนโยบายเกี่ยวกับสหภาพยุโรป สำหรับภาครัฐและเอกชนไทยที่สนใจเปิดตลาดยุโรป www.access-europe.eu หรือติดตามได้ที่ www.facebook.com/AccessEuropeCoLtd