'ซิงเกิล เกตเวย์' จะทำไปทำไม

'ซิงเกิล เกตเวย์' จะทำไปทำไม

แม้จะมีคำที่ (ดูเหมือนว่า) ยืนยันจากฟากรัฐบาลทั้ง พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี

 และนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ถึงประเด็นเรื่อง ซิงเกิล เกตเวย์ ว่ายังอยู่ระหว่างการศึกษา ยังไม่มีกำหนดเวลาที่จะได้ข้อสรุป หรือแม้กระทั่ง พล.อ.อ. ประจิน ที่ออกมาบอกว่า ผู้ที่ออกมาคัดค้านอาจเข้าใจคลาดเคลื่อน ซิงเกิล เกตเวย์ เปรียบเหมือนการทำถนนเล็กให้เป็นถนนใหญ่ และรัฐไม่ได้เข้าไปควบคุมข้อมูล

...แต่สุดท้ายก็ไม่มีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้ประชากรเน็ตในไทยที่มีมากกว่า 45 ล้านคน จะเชื่อถือว่า สิ่งที่รัฐพูดออกมานั้น “จริงหรือไม่”

เหตุการณ์ เว็บรัฐล่มอย่างระนาว กราวรูดในช่วงดึกของคืนวันที่ 30 ก.ย. 58 เป็นคำตอบในเรื่องนี้ได้ดี

สุดท้ายแล้ว รัฐคงทำเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม “ยากมาก” ท่ามกลางเสียงคัดค้าน ไม่เห็นด้วยจากประชากรเน็ต ตลอดจนเอกชนผู้ประกอบการด้านต่างๆ มีทั้งพูดตรงๆ บ้าง พูดอ้อมๆ บ้าง เพราะเมื่อวิเคราะห์ คำนวณผลได้ผลเสียแล้ว ยากนักที่จะคุ้มทุนนอกจากการแสดงอำนาจที่มีในมือให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชน และชาวโลก ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐหลายคน หลาย ฝ่ายก็รับรู้ และคาดเดาอนาคตได้ 

หากยังดันทุรัง “ซิงเกิล เกตเวย์” คงได้มีโอกาสโดดเดี่ยวตัวเองแน่นอน แล้วนักลงทุนต่างชาติ ที่เราเรียกร้องให้เข้ามาลงทุนกันมากๆ เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจชาติจะยอมรับได้หรือ “ผลเสีย” มากมายนัก โดยเฉพาะต่อเศรษฐกิจมหาศาล โลกออนไลน์นั้นปิดกั้นยากและถ้าปิดหมดก็เท่ากับปิดกั้นการลงทุนจากภายนอก เราพร้อมจะให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้นหรือ ภาคเอกชนคงไม่นิ่งเฉยเพราะไม่มีใครเห็นด้วย คงจะมีแนวทางเสนอแนะรัฐบาลถึงเรื่องนี้ด้วยวิธีอื่นๆ ตามมาด้วยเช่นกัo

ที่สำคัญนโยบายนี้ยังไม่สอดคล้องกับดิจิทัล อีโคโนมี เสียงท้วงติงทั้งหลายหยุดฟังบ้างน่าจะมีประโยชน์กว่าดึงดันไปสู่ทางตัน

ปฏิบัติการล่มเว็บครั้งนี้ เป็นสัญญาณครั้งสำคัญ ที่รัฐต้อง หยุดคิดที่จะไปต่อหรือ ดึงดันที่ยังจะทำในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะในทางแจ้ง หรือ ทางลับๆก็ตาม

กระแสต้านซิงเกิล เกตเวย์ ดังขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา มีการรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ Change.org มีผู้ร่วมลงชื่อสนับสนุนแคมเปญจำนวนมาก และปริมาณยังเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ไม่นับรวมเสียงเรียกร้องความชัดเจนของนโยบายดังกล่าวผ่านช่องทางต่างๆ ทั้งบนโลกออนไลน์ และออฟไลน์ ดังที่ได้เห็นกันอยู่ในขณะนี้ 

รายงานข่าว ระบุว่า นโยบายซิงเกิลเกตเวย์นี้ นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง รับไปดูแลเพื่อยกระดับแผนงานด้านความมั่นคง โดยจะบูรณการฐานข้อมูลความมั่นคงควบคู่กันไป เพียงแต่รูปแบบซิงเกิลเกตเวย์ ที่คณะของพล.อ.ประวิตร ร่างขึ้น จะเป็นการประยุกต์รูปแบบ โดยจะไม่คุมเข้มเว็บไซต์ด้านความมั่นคงอย่างที่หลายฝ่ายกังวล แต่จะดึงภาคเอกชน เข้ามาร่วมรับผิดชอบด้วย 

แม้รัฐเองพยายามออกมาบอกว่า เป็นเพียงหนึ่งในแผนงานด้านความมั่นคง เพื่อยกเครื่องระบบรักษาความปลอดภัยของประเทศ จะกำกับดูแลเฉพาะที่เป็นภัยคุกคามเท่านั้น เช่น การเผยแพร่แนวคิดของกลุ่มสุดโต่ง หรือกลุ่มก่อการร้าย การติดต่อสื่อสารระหว่างเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ แต่จะ ไม่มีการสอดส่องหรือล้วงของมูลการใช้งานของประชาชน

จากปฏิบัติการล่มเว็บ คงจะเห็นแล้วว่า ประชากรเน็ตส่วนหนึ่ง ไม่เชื่อในสิ่งที่รัฐบอก รัฐเองต้องหาคำตอบที่เคลียร์ ดึงภาคเอกชนเข้าไปร่วมพูดคุยจริงๆ ประเทศเรามี คนรุ่นใหม่ที่เชี่ยวชาญไอที อินเทอร์เน็ตอยู่มาก รัฐควรอย่างยิ่งที่จะฟัง เปิดใจและคิดหาแนวทางร่วมกัน กฏหมายที่เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตในไทยมีแล้วหลายฉบับ รวมถึง พ.ร.บ.ดิจิทัล อีโคโนมี แต่ที่ผ่านมาหลายมาตรา หลายประเด็นไม่ตอบโจทย์การใช้งาน กฏหมายเหล่านี้ ควรถูกหยิบขึ้นมาปรับปรุง เปิดให้คนมีส่วนร่วม เสนอแนะอย่างจริงๆ จังๆ สักทีไหม ดีกว่าเอาเวลาไปทำ ซิงเกิล เกตเวย์เยอะ