ประตูคนโสด!

ประตูคนโสด!

คืนวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ในวงการดิจิทัล คงจะไม่มีหัวข้ออะไรร้อนแรงเท่ากับเรื่องนี้อีกแล้ว

ใช่ครับ! ผมกำลังจะพูดถึงเรื่อง Single Gateway หรือที่เรียกทับศัพท์แบบภาษาเด็กแว้นว่า “ประตูคนโสด”            

คงไม่ต้องมานั่งอธิบายกันแล้วว่า Single Gateway มันคืออะไร เพราะเข้าใจว่าบรรดาสื่อต่างๆ รวมถึงคอลัมนิสท์ท่านอื่นๆ คงจะอธิบายกันไปหมดแล้ว แต่กระแสต่อต้านเรื่องนี้เหมือนจะเริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ  และคืนวันที่ 30 ก.ย. บรรดากลุ่มคนต่อต้าน Single Gateway พากันเข้าไปถล่มเว็บไซต์ในเครือของรัฐบาลแบบต่อเนื่อง ล่มกันไปถึง 7 เว็บไซต์รวด!            

จริงๆ Single Gateway ไม่ใช่นวัตกรรมใหม่ มีหลายประเทศในโลกที่ใช้ระบบ Single Gateway อยู่ เช่น จีน  ลาว เกาหลีเหนือ  พม่า และประเทศในแถบตะวันออกกลาง! ฟังชื่อประเทศแล้วแอบร้อนๆหนาวๆอยู่เหมือนกัน และพอจะเดากันได้ ว่าทำไมประเทศเหล่านี้ถึงใช้ระบบ Single Gateway            

ผมเองในฐานะที่อยู่ทั้งในวงการดิจิทัลและไอที คงต้องยอมรับว่า ไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้เลย!  ที่เป็นห่วงมากๆ อาจไม่ใช่เรื่องของ privacy แต่เป็นเรื่องของความล่าช้าของอินเทอร์เน็ต ที่อาจจะเกิดขึ้นรวมถึงความเสถียรของระบบอินเทอร์เน็ต ที่ไม่รู้ว่าจะมีปัญหาหรือไม่หากเราเริ่มใช้ระบบนี้ แค่คิดก็สยองแล้วครับ ถ้าระบบอินเทอร์เน็ตเกิดล่มพร้อมกันทั้งประเทศ!            

เพื่อเปรียบเทียบให้ฟังแบบง่ายๆ เมื่อเร็วๆนี้ ผมได้มีโอกาสคุยกับน้อง IT Support ของบริษัทตัวเอง อารมณ์ประมาณว่าไม่ค่อยมีไฟในการทำงานและไม่ค่อยเห็นคุณค่าในงานที่ตัวเองทำอยู่ โดยเฉพาะงานการดูแลสายสัญญาณอินเทอร์เน็ตและระบบ Network ของบริษัท

            ผมพยายามให้กำลังใจและอธิบายให้น้องเข้าใจถึงความสำคัญของงานว่าจริงๆ แล้วงาน IT Support  มีความสำคัญแบบสุดๆ ให้ลองคิดดูทุกวันนี้ผมจ่ายเงินเดือนของพนักงานรวมๆ กันหลายล้านบาท ถ้าหารออกมาเป็นวันตกวันละหลายแสนบาท และหากหารย่อยลงมาอีก จะพบว่าผมมีค่าใช้จ่ายรายชั่วโมงของพนักงานอยู่หลายหมื่นบาทต่อชั่วโมงเลยทีเดียว!

            ลองคิดดู ถ้าจู่ๆอินเทอร์เน็ตในออฟฟิศของผมเกิดใช้งานไม่ได้เพียง 1 ชั่วโมง เงินหลายหมื่นบาทจะลอยหายวั๊บไปกับตาในทันที เพราะงานจะไม่สามารถเดินหน้าต่อได้เลย (พอดีงานบริษัทผมเป็นดิจิทัล เอเยนซี ที่เรียกได้ว่าเกือบจะทุกฝ่าย ทุกแผนก ต้องใช้ อินเทอร์เน็ตตลอดเวลา            

ในทางตรงข้ามถ้าน้องเค้าสามารถ Config ระบบอินเทอร์เน็ตให้เร็วไหลลื่นที่ช่วยให้อินเทอร์เน็ตเร็วขึ้นสัก 20% นั่นหมายถึงว่าบริษัทจะได้งานเร็วขึ้นและจะส่งผลกระทบโดยอ้อม ทำให้บริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นได้ในทันที! แล้วแบบนี้จะบอกว่า หน้าที่  IT Support ไม่สำคัญได้อย่างไร            

ที่ยกตัวอย่างนี้เพื่อให้เห็นภาพผลกระทบของความเสถียรของระบบอินเทอร์เน็ตต่อระบบธุรกิจ นี่ขนาดแค่บริษัทเล็กๆ อย่างผมแค่บริษัทเดียว แต่ถ้าทุกบริษัทในประเทศไทยเกิดใช้อินเทอร์เน็ตไม่ได้พร้อมๆกันขึ้นมา ไม่ต้องว่ากันที่รายชั่วโมงนะครับ แค่ใช้งาน อินเทอร์เน็ตทั้งประเทศไม่ได้สัก 10 นาที ผมเชื่อว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นจำนวนเงินมหาศาล ชนิดคาดไม่ถึงกันเลยทีเดียว!            

การที่กระทรวงไอซีที ออกมาให้เหตุผลว่าการเสนอให้ทำ Single Gateway  ไม่ใช่เหตุผลในเรื่องของความมั่นคง แต่เป็นเหตุผลทางด้านเศรษฐกิจ ต้องการช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตที่มีโครงข่ายเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศถือเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นจริงๆครับ เพราะผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ตที่มีโครงข่ายเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศนั้น  ผมเข้าใจว่ามีเพียงไม่กี่ราย ในขณะนี้เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของทั้งประเทศ             

จริงๆ ถ้ายอมรับกันแบบตรงๆ ว่าเรื่องนี้ทำเพื่อความมั่นคง ดูจะเป็นอะไรที่แมนกว่ามากๆ เราต้องยอมรับกันว่าในยุคสมัยนี้  สงครามไม่ได้เกิดในรูปแบบของการเอาเครื่องบิน เอารถถัง มาไล่ยิงใส่กันแล้ว แต่สงครามอยู่ในรูปแบบของข้อมูลข่าวสาร  ซึ่งใครที่สามารถควบคุมข้อมูลข่าวสารได้ ก็ย่อมได้เปรียบที่จะควบคุมความคิดคนให้หันไปในทางที่ตัวเองต้องการ            

ยุคสมัยก่อนเราอาจสามารถการควบคุมข่าวสารได้โดยง่าย เพราะช่องทางสื่อสารมีเพียงไม่กี่ช่องทาง และส่วนใหญ่เป็นสือทางเดียว  คือ ดูหรือฟัง ได้อย่างเดียวเท่านั้น            

แต่พอมายุคสมัยนี้มี Social Media  ซึ่งอนุญาตให้ทุกๆคนกลายเป็นสื่อ แถมยังสามารถสื่อสารได้ทั้งสองทาง คือนอกจากจะดูและฟังแล้ว  ยังสามารถ เขียนหรือพูดได้ด้วย! ดังนั้นการควบคุมข้อมูลข่าวสารจึงทำได้ยากมาก จนถึงขั้นว่า “เป็นไปไม่ได้ที่จะควบคุม”           

จับตาดูกันต่อไปว่าเรื่องนี้จะลงเอยเช่นไร เว็บไซต์อะไรจะตกเป็นเหยื่อของกลุ่มผู้ต่อต้านเว็บต่อไป            

แต่ยังไงขอยกเว้น "เว็บกองฉลาก" ไว้สักเว็บนะครับ(ฮา)