เศรษฐกิจพอเพียง พูดแล้วไม่ทำนำมาแต่ความเสียหาย

เศรษฐกิจพอเพียง พูดแล้วไม่ทำนำมาแต่ความเสียหาย

การเดินทางไปร่วมประชุมสุดยอดของนายกรัฐมนตรีไทย ที่สำนักงานใหญ่ขององค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความสนใจในสังคมออนไลน์ของคนไทยอย่างกว้างขวาง ความสนใจส่วนใหญ่มุ่งไปที่ประเด็นเกี่ยวกับการต่อต้านและการสนับสนุนนายกรัฐมนตรีกับท่าทีของต่างชาติต่อรัฐบาลไทยที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง ความสนใจในประเด็นเหล่านั้น เป็นปัจจัยที่ทำให้สังคมออนไลน์ในหมู่คนไทย แทบจะมิใส่ใจในเนื้อหาของการประชุม ซึ่งเป็นการตั้งเป้าหมายของการพัฒนาในช่วงเวลา 15 ปีที่จะมาถึง เป้าหมายที่สังคมโลกตกลงกันประกอบด้วย 17 ด้าน ซึ่งเป็นการเพิ่มยอดเป้าหมายที่ตั้งไว้สำหรับช่วงเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งประกอบด้วย 8 อย่าง  

เนื่องจากการพัฒนาในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้เป็นบางส่วนเท่านั้น การเพิ่มเป้าหมายเป็น 17 อย่าง จึงสร้างความกังขาว่า เป้าหมาย 17 อย่าง ซึ่งรวมเรียกว่า “เป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Goals) นั้น เป็นเพียงวาทกรรมจำพวกว่างเปล่าหรือไม่  ความกังขาเกิดขึ้นเพราะเป้าหมายบางอย่าง ไม่มีทางบรรลุได้ในช่วงเวลา 15 ปีที่จะมาถึง เช่น การกำจัดความยากจนทุกรูปแบบให้หมดไป เป้าหมายในแนวเดียวกันนี้มีอยู่ในเป้าหมาย 8 อย่าง ที่ตั้งไว้สำหรับช่วง 15 ปีที่แล้ว สำหรับคนไทย เป้าหมาย 17 อย่างนั้น จะเป็นเพียงวาทกรรมจำพวกว่างเปล่าหรือไม่ คงไม่สำคัญอะไรนัก ประเด็นที่สำคัญกว่าและคนไทยควรให้ความใส่ใจ ได้แก่เรื่องที่นายกรัฐมนตรีไทยนำไปปราศรัยในที่ประชุม นั่นคือ สังคมโลกจะพัฒนาไปสู่ความยังยืน ได้ด้วยการใช้แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง การเสนอของนายกรัฐมนตรีอาจมีทั้งผลดีและผลเสีย

ผลดีจะมีตามมาอย่างแน่นอน หากชาวโลกศึกษาแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้เข้าใจ และนำไปใช้ทั้งในระดับบุคคลและในระดับประเทศ ทั้งนี้ เพราะเศรษฐกิจพอเพียงเหมาะสมกับสภาวะของสังคมโลกในปัจจุบันอย่างยิ่ง ปัจจัยที่ทำให้แนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเหมาะสม โดยเฉพาะสำหรับทางด้านการบริหารและการพัฒนาเศรษฐกิจ ผมได้เขียนไว้ทั้งในคอลัมน์นี้และในที่ต่างๆ มาตั้งแต่ครั้งพิมพ์หนังสือชื่อ “เศรษฐกิจพอเพียง: ภูมิปัญญาชาติไทย” เมื่อปี 2543 หนังสือเล่มนี้ไม่มีจำหน่าย แต่ผู้สนใจอาจไปอ่านเรื่อง “สู่ความเป็นอยู่แบบยั่งยืน” ซึ่งบริษัท โอเรกอน อลูมีเนียม จำกัด จัดพิมพ์เป็นวิทยาทานและตอนนี้อาจดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ www.bannareader.com เว็บไซต์แห่งนี้มีบทความอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นข้อเสนอให้ คสช.พิจารณาไม่นานหลังการยึดอำนาจ บทความเหล่านั้นยังทันสมัย ฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องนำมาเสนออีก

ผลเสียจะเกิดขึ้นได้ในหลายแง่มุม ในเบื้องแรก หากนายกรัฐมนตรีไม่มีความตั้งใจที่จะใช้แนวคิดอันประเสริฐยิ่งนั้น เพื่อการบริหารและการพัฒนาประเทศอย่างจริงจัง คำปราศรัยในเวทีโลก จะเป็นเพียงลมปาก หรือวาทกรรมจำพวกว่างเปล่า อย่างไรก็ดี ผลเสียนี้จะเกิดแก่ตัวนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ซึ่งจะน้อยนิดเมื่อเทียบกับความเสียหายอีกหลายอย่างที่จะตามมา

นายกรัฐมนตรีจะมีความจริงใจหรือไม่ เท่าไร ตัวนายกฯ เองเท่านั้นที่รู้ เนื่องจากปัญหาสาหัสที่สุดในสังคมไทยในปัจจุบัน ได้แก่การขาดคุณธรรม ซึ่งนำไปสู่ความฉ้อฉลของคนทุกหมู่เหล่าอย่างกว้างขวาง หากนายกรัฐมนตรีสามารถปราบความฉ้อฉลได้อย่างมีนัยสำคัญ ก็นับได้ว่าท่านจริงใจต่อการใช้ส่วนหนึ่งของแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงบริหารประเทศ    

สำหรับทางด้านการบริหารและการพัฒนาเศรษฐกิจ หากมองคณะทำงานและอ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาล่าสุดคงจะพบว่า ไม่น่าจะมีใครเข้าใจอย่างลึกซึ้ง หรือศรัทธาในแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง ทั้งนี้ เพราะมาตรการต่างๆ เกือบทั้งหมด เป็นไปในแนวเศรษฐกิจกระแสหลัก ซึ่งเริ่มหมดสมัย ผสมกับนโยบายประชานิยมแบบเลวร้าย ที่รัฐบาลไทยนำมาใช้ตั้งแต่ปี 2544 ข้อยกเว้นมีอยู่เพียงอย่างเดียวคือ โครงการส่งเสริมการพัฒนาชุมชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง” เช่น การปลูกพืชใหม่ที่มีตลาด การเปลี่ยนแปลงอาชีพ การสร้างฝาย ปลูกต้นไม้หรือป่าชุมชน เป็นต้น อาจใช้เงินที่รัฐบาลทุ่มลงไปในชุมชนได้ แต่มันหมายความว่าอะไรในบริบทของมาตรการทั้งหมดไม่มีความกระจ่าง 

เมื่อรัฐบาลไม่เต็มใจที่จะนำแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ โอกาสที่เมืองไทยจะพัฒนาไปได้อย่างยังยั่งยืนไม่น่าจะมี ร้ายยิ่งกว่านั้น ได้แก่ การเสริมมาตรการประชานิยมแบบเลวร้ายให้เข้มข้นยิ่งขึ้น  นั่นเท่ากับเป็นการเร่งให้เมืองไทยเดินไปสู่ความหายนะ กระบวนการเดินไปสู่ความหายนะเป็นอย่างไร ผมได้อธิบายไว้แล้วในหนังสือชื่อ “ประชานิยม: ทางสู่ความหายนะ”

เนื่องจากคณะรัฐมนตรีที่ทำงานด้านเศรษฐกิจ ดูจะไม่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง หรือศรัทธาอย่างจริงใจในแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง หากคำปราศรัยของนายกรัฐมนตรี ก่อให้เกิดความสนใจในหมู่ชาวโลก แต่ไม่มีใครในรัฐบาลสามารถอธิบายให้พวกเขาเข้าใจอย่างกระจ่างแจ้งได้ ความเสียหายจะเกิดขึ้นแก่ในหลวงผู้ทรงเป็นต้นคิดของเศรษฐกิจพอเพียง

หลังจากชาวไทยส่วนใหญ่ได้ฟังในหลวงตรัสเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อคืนวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ส่วนหนึ่งได้นำไปเผยแพร่และประยุกต์ใช้อย่างจริงจัง เนื่องจากแน่ใจว่ามันเป็นแนวคิดที่เหมาะสมกับสภาวะของสังคมไทย อย่างไรก็ตาม จะเห็นว่าการเผยแพร่และการประยุกต์ใช้จำกัดอยู่ในภาคเกษตรกรรมเกือบทั้งหมด จริงอยู่ การเน้นการนำไปประยุกต์ใช้ในภาคนั้น จะส่งผลให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่มั่นคงขึ้น แต่ก็เสี่ยงต่อการสร้างความเข้าใจผิดสูงมาก เนื่องจากผู้ไม่เข้าใจและผู้ไม่หวังดีต่อสถาบัน อาจกล่าวหาได้ว่า ผู้ทรงเป็นต้นคิด ผู้เผยแพร่ ผู้อยู่ในภาคอื่นและรัฐบาลต้องการให้ชาวไร่ชาวนาจมปลักอยู่กับความยากจนในนามของความพอเพียง ในขณะที่เศรษฐีต่างพากันรวยวันรวยคืน เรื่องนี้พวกเขามีดัชนีชี้วัดความเหลื่อมล้ำเป็นพยานยืนยัน ฉะนั้น รัฐบาลต้องทำมากกว่าที่ปรากฏเพื่อป้องกันความเสียหายร้ายแรงมิให้เกิดขึ้น