นวัตกรรมทางธุรกิจ

นวัตกรรมทางธุรกิจ

นวัตกรรมไม่ได้จำกัดไว้แต่ในเรื่องที่เกี่ยวกับวัตถุที่จับต้องได้เท่านั้น หากแต่มีประเภทอื่นๆ ซึ่งคนทั่วไปมักจะมองข้ามไป

เมื่อใครก็ตามพูดถึงคำว่า นวัตกรรม หรือ Innovation เกือบจะทุกคน จะนึกถึงหรือคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์  หรือสิ่งต่างๆที่เป็นวัตถุจับต้องได้ เห็นผลของการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง หรือความทันสมัยใหม่ที่สอดรับกับวิถีการเปลี่ยนแปลงของโลก และแนวโน้มความต้องการของผู้บริโภคในตลาดต่างๆ ทั้งๆที่ความเป็นจริงนวัตกรรมไม่ได้มีนิยาม ความหมาย หรือจำกัดไว้แต่ในเรื่องที่เกี่ยวกับวัตถุที่จับต้องได้เท่านั้น หากแต่มีนวัตกรรมในประเภทอื่นๆ ซึ่งคนทั่วไปมักจะมองข้ามหรืออาจจะไม่ใคร่สนใจเท่าใดนัก

 

นวัตกรรมทางธุรกิจ รูปแบบทางธุรกิจ (Business Model) หรือจะพูดภาษาชาวบ้านง่ายๆก็คือ แนวคิดใหม่ในการทำมาหากินหรือทำธุรกิจนั่นเอง ซึ่งในโลกนี้มีวิธีการทำธุรกิจมากมายหลายแบบ และความเป็นจริงทุกคนก็คุ้นเคยกับมันดี แม้ว่าหลายอย่างหลายวิธีการอาจจะไม่ใช่เรื่องใหม่แล้ว แต่ถ้าเราย้อนอดีตกลับไปในสมัยที่มีคนหัวใสคิดรูปแบบธุรกิจนั้นได้เป็นคนแรกๆ เราก็จะรู้สึกทึ่งที่เขาคิดขึ้นมาได้อย่างไร และเมื่อรูปแบบนั้นผ่านการพิสูจน์และใช้งานได้ดี ก็มักจะมีนักธุรกิจอีกจำนวนไม่น้อยทำตาม โดยอาจจำพยายามทำให้เหมือน หรือดัดแปลงบ้างเพื่อให้เกิดความต่าง

 

ตัวอย่างนวัตกรรมทางธุรกิจ (Business model innovation) ที่เรามองเห็นจนชินตาแล้ว อาทิ ระบบแฟรนไชส์ (Franchise) ที่มักจะเริ่มต้นจากธุรกิจส่วนตัวเพียงหนึ่งแห่ง และขยายสาขาออกไปทั้งในและต่างประเทศ โดยการทำลายข้อจำกัดที่เจ้าของธุรกิจไม่สามารถจะขยายสาขาได้มาก และไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง แต่จัดทำระบบ การจัดการวัตถุดิบ การบริหารการผลิต รวมถึงการบริการและการส่งมอบที่เป็นแบบแผน โดยที่เจ้าของสาขาภายใต้สัญญาแฟรนไชส์แต่ละแห่ง สามารถจะเริ่มต้นธุรกิจของตัวเองได้แบบง่ายๆได้เลย

 

ระบบร้านอาหารแบบบุฟเฟต์ที่ฮิตมากๆและมีไปทั่วโลก ด้วยแนวคิดใหม่แทนที่จะคิดค่าอาหารตามรายการที่ลูกค้าสั่ง กินมากจ่ายมากกินน้อยจ่ายน้อย หรือจ่ายตามราคาอาหารแต่ละรายการ เป็นการคิดแบบเหมารวมในราคาเดียว และจัดเตรียมอาหารให้มีความหลากหลายครอบคลุมกับความต้องการของลูกค้าเป้าหมาย โดยเมื่อคิดคำนวณอย่างถี่ถ้วนแล้วยังมีกำไรอยู่พอสมควร ข้อดีคือใครอยากกินอะไรกิน โดยไม่ต้องรอคิว หรือสั่งอาหาร

 

ร้านค้าราคาเดียว (Single price store) ที่เพิ่มความสนุกให้กับนักช้อปที่เน้นราคาสินค้าไม่แพง แต่มีสินค้าพื้นฐานหลากหลายสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวัน หรือภายในครัวเรือน ที่ขึ้นชื่อและรู้จักกันดีในหมู่คนญี่ปุ่นในชื่อร้านร้อยเยน (สินค้าทุกรายการราคา 100 เยน ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในเมืองไทยทุกคนคุ้นเคยในชื่อร้านไดโซะ (เป็นการผสมผสานทั้งระบบแฟรนไชส์และร้านราคาเดียว) และมีร้านลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นอีกในชื่ออื่นๆ

 

ร้านให้เช่าสินค้า (Rental shop) เกิดขึ้นมานานมากเหมือนกัน จากการมองเห็นว่ามีสินค้าบางประเภท ที่ผู้ซื้อมักใช้ในระยะเวลาสั้นๆ หากแต่สินค้าดังกล่าวยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และมักจะถูกทิ้งให้รกบ้าน หรือกลายเป็นขยะในที่สุด ทำไมเราไม่เปลี่ยนจากการขายขาด เป็นระบบเช่าใช้แทน ซึ่งในอดีตฮิตมาก นอกจากร้านหนังสือนิยายให้เช่าที่คุ้นเคยกันดีในกลุ่มนักอ่านสมัยก่อน จนถึงยุคที่มีสื่อเพื่อความบันเทิงในรูปแบบวีดิโอเทป จนเกิดร้านให้เช่าหนังมากมาย เพราะถ้าไม่ใช่นักสะสมแล้ว สำหรับคนทั่วไปดูเพียงครั้งหรือสองครั้งก็เพียงพอ และไม่ต้องการเก็บไว้ให้รกบ้าน

 

ระบบตั๋วรวม (Pass tickets) ที่มีทั้งลักษณะที่ใช้บัตรเดียวได้ในหลายๆประเภทสินค้าและบริการ หรือตั๋วรวมแบบใบเดียวใช้ได้ไม่จำกัดในเวลาที่กำหนด สำหรับนักเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มที่เดินทางด้วยตัวเอง จะคุ้นเคยกับตั๋วโดยสารประเภทต่างๆที่ไม่จำกัดเที่ยวภายในระยะเวลาที่กำหนด ในฮ่องกงเราจะนึกถึงบัตรปลาหมึก (Octopus card) ในญี่ปุ่นเราจะนึกถึงบัตร JR Pass และอื่นอีกมากมาย ในยุโรปอาจจะนึกถึง Euro pass หรือ Swiss Pass ทำให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวก ที่สำคัญไม่ต้องไปเข้าคิวซื้อตั๋วหรือไม่ต้องพกเงินในการชำระค่าสินค้าในร้านค้าต่างๆ เป็นต้น

 

ระบบขายตรง (Direct marketing) ที่ผู้ผลิตหรือเจ้าของสินค้า ไม่จำเป็นต้องมีร้านค้า สาขา หรือจ้างพนักงานมากมายเพื่อขยายตลาด แต่ใช้แนวคิดใหม่ในการเพิ่มช่องทางการขายแบบเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่กว้างขวางมากๆ โดยนำข้อดีของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนเข้ามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ผสมผสานกับความจริงใจและการดูแลเอาใจใส่อย่างทั่วถึง ทำให้เกิดนักธุรกิจอิสระที่เป็นเครือข่ายในการขายสินค้า แทรกซึมกระจายไปทั่วทุกแห่ง บางบริษัทคิดระบบที่ซับซ้อนมากมายหลายขั้นโดยแบ่งประเภทนักธุรกิจอิสระเป็นชั้นๆ เพื่อช่วยในการบริหารจัดการระบบขายตรง โดยมีสิ่งจูงใจเป็นโบนัส คะแนน ส่วนแบ่งการขาย และอื่นๆ ระบบขายตรงแบบหลายชั้นนี้รู้จักกันดีในชื่อ MLM หรือ Multi-Level Direct Marketing

 

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ซึ่งยังมีรูปแบบและวิธีการทางธุรกิจทั้งที่เกิดขึ้นมาแล้วในทางธุรกิจ ล้มหายตายจากไปบ้างในบางประเภทที่เริ่มไม่สอดรับกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน และยังใช้ได้ดีต่อไปในอนาคตอีกมากมายหลายแบบ อีกทั้งยังไม่รู้ว่าจะมีรูปแบบและวิธีการใหม่ๆที่คนหัวใสจะคิดขึ้นมาอีกในอนาคต ซึ่งนวัตกรรมทางธุรกิจมีเกิดขึ้นใหม่เรื่อยๆ และต้องผ่านการพิสูจน์ว่าใช้ได้ดีและมีกำไร เหมือนที่เราคงไม่เคยคิดว่าเพลงที่ในอดีตขายเป็นอัลบั้มไม่ว่าจะบรรจุลงเทปคาสเซ็ท (ซึ่งเด็กรุ่นใหม่คงไม่รู้จักและนึกหน้าตาไม่ออก) หรือซีดีก็ตาม แต่ปัจจุบันในยุคดิจิตอล ทุกคนสามารถซื้อเพลงที่ต้องการแบบถูกต้องตามลิขสิทธิ์ผ่านช่องทางร้านค้าออนไลน์แบบเป็นเพลงๆไป ไม่จำเป็นต้องถูกบังคับให้ซื้อเหมาทั้งอัลบั้มอีกต่อไป

 

แล้วทุกท่านล่ะคิดว่าจะมีนวัตกรรมทางธุรกิจ หรือรูปแบบทางการค้าใหม่ๆอะไรจะเกิดขึ้นอีกบ้าง เพราะโลกนี้ไม่หยุดนิ่ง อะไรๆก็เป็นไปได้ในยุคดิจิตอล ทั้งแรง ทั้งเร็ว และกว้างไกลไปทั่วโลก นักธุรกิจอาชีพจึงไม่หยุดนิ่งที่จะหาแนวคิดใหม่ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพและความสามารถการแข่งขัน