“Orn The Road Burger” จากร้านสู่รถ

“Orn The Road Burger” จากร้านสู่รถ

“Orn The Road Burger”เบอร์เกอร์สัญชาติไทยรสชาติอเมริกัน เจ้าของสโลแกน "Charcoal Burger ขนมปังสีดำ เนื้อสดฉ่ำ ผักสดใหม่ ซอสสูตรเด็ดไม่ซ้ำใคร"

ธุรกิจไอเดียล้ำ ก่อตั้งโดย “คุณอร ปาณิศา เกลล์” พร้อมสามีชาวอเมริกัน “คุณปีเตอร์ เกลล์” ทั้งสองนำเบอร์เกอร์สีดำสไตล์อเมริกันในแบบฉบับดั้งเดิมมาเสิร์ฟบนรถขายอาหารเคลื่อนที่

แนวคิดของธุรกิจนั้นเริ่มมาจากปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำ คุณอรจึงต้องหาแนวทางการทำธุรกิจช่องทางใหม่จากประสบการณ์ทำร้านอาหารฝรั่งมากว่า 30 ปี ที่สร้างชื่อให้ร้าน Woodstock ซึ่งเธอเคยเป็นแม่ครัว จึงเลือกเมนูอย่างแฮมเบอร์เกอร์ มาขายบนรถ Food Truck และปรับเปลี่ยนเมนูอาหารให้แปลกใหม่เพื่อสร้างความแตกต่าง และเลือกรูปแบบของ Food Truck ที่วิ่งไปหาลูกค้าถึงที่ แทนที่รูปแบบร้านอาหารแบบเดิมที่ตนเคยทำ

แม้แฮมเบอร์เกอร์จะเป็นเมนูชูโรงของร้าน แต่ปัญหาคือ ลูกค้าส่วนใหญ่ในปัจจุบันคิดว่า เบอร์เกอร์ เป็นอาหารประเภท Junk food คุณอรและสามีจึงมีแนวคิดในการเปลี่ยน Junk food ให้เป็น Premium โดยเลือกคัดสรรวัตถุดิบชั้นดี และใช้ส่วนผสมอย่างดีนำเข้าจากต่างประเทศเข้ามาทำ และขายในราคาที่สามารถจับต้องได้ ทำให้ลูกค้าเปลี่ยนความคิดไป

คุณอร เริ่มต้นธุรกิจ Food Truck ตรงถนนทองหล่อ ซึ่งเป็นทำเลที่เธอคุ้นเคยและเล็งเห็นว่า ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายมีทั้งคนไทยที่พร้อมจะลองรูปแบบร้านอาหารที่แปลกใหม่ และฝรั่งนักท่องเที่ยวที่คุ้นเคยกับแฮมเบอร์เกอร์เป็นอย่างดีอยู่แล้ว ซึ่งหลังจากเปิดร้านบริเวณดังกล่าว ปรากฎว่าได้ผลตอบรับดีเกินคาด และมีเหตุที่พื้นที่ดังกล่าวจะสร้างคอนโด ทำให้ต้องย้ายทำเลมาจอดยังหน้าตึกจิวเวลรี่ เทรด เซ็นเตอร์ ย่านสีลม แทน

คุณอรได้เรียนรู้ว่า การทำธุรกิจขายอาหารบนรถ Food Truck นั้น มีข้อดีกว่าการเปิดร้านหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลงทุนในเรื่องค่าเช่าพื้นที่ หรือการซื้อที่ดินเพื่อสร้างร้าน ซึ่งหากเปลี่ยนรูปแบบมาเป็น Food Truck การลงทุนเป็นการจากเปลี่ยนค่าเช่าที่ มาเป็นการซื้อรถ ซึ่งเป็นเงินทุนที่น้อยกว่ามาก นอกจากนั้นเรื่องเวลาปิดเปิดร้านถือว่ามีความเป็นอิสระ และสุดท้ายคือการขายอาหารบน Food Truck ก็ทำให้เกิดความคล่องตัวในเรื่องสถานที่ โดย Orn The Road สามารถปรับเปลี่ยนไปออกงานต่างๆ ซึ่งเป็นที่นิยมอย่างสูงในปัจจุบัน ทำให้สามารถสร้างรายได้มากกว่าการเปิดร้านอาหารรอลูกค้ามาใช้บริการ

ที่สำคัญสุดคือ ความสนุกและความสุข ที่ได้ไปขายของตามที่ต่างๆ ซึ่งไม่ซ้ำกันในแต่ละวัน อีกทั้งปัจจุบันนี้ กลุ่มผู้ขาย Food Truck ยังจับกลุ่มกันเป็น Community โดยมีการกระจายข่าวสารให้กลุ่มผู้ขาย Food Truck ถือเป็นการสร้างสีสันและสร้างบรรยากาศให้กับการขายอาหารรูปแบบใหม่ๆ ให้กับเมืองไทย

สำหรับคุณอร แม้โมเดลธุรกิจของ Food Truck จะมีข้อดีในความคล่องตัวของสถานที่ในการขาย แต่การสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าเพื่อให้ได้ทราบข้อมูลเป็นส่วนสำคัญเช่นกัน โดยคุณอรเลือกใช้ Social media ในการสื่อสารกับลูกค้าถึง สถานที่ตั้งในแต่ละวัน ร่วมถึงเป็นช่องทางที่จะทำให้มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าและเจ้าของร้าน โดยที่ลูกค้าจะเข้ามาสอบถาม , รีวิวรสชาติอาหารตลอดจนบรรยากาศการตกแต่งร้านให้กับลูกค้าผู้อื่นได้รับรู้ด้วย ตลอดจนมีการถ่ายรูปเพื่อประชาสัมพันธ์ร้านค้าโดยที่คุณอรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการประชาสัมพันธ์แต่อย่างใด

จากกรณีศึกษานี้ เป็นตัวอย่างของผู้ประกอบการที่เลือกนำข้อจำกัดในการลงทุนมาเปลี่ยนเป็นโอกาสในการนำเสนอคุณค่าให้กับลูกค้า การเลือกเมนูที่เหมาะกับไลฟไตล์ของกลุ่มลูกค้า การให้ความสำคัญกับคุณภาพของสินค้าช่วยให้เกิดภาพลักษณ์เชิงบวกได้ นอกจากนั้นการสร้างเมนูที่เป็นเอกลักษณ์เป็นการช่วยสร้าง Signature ให้กับธุรกิจได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

(เครดิต : กรณีศึกษาโดย ปริยากร สติรักษ์ นักศึกษาปริญญาโท สาขาการตลาด วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล)