ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (3)

ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (3)

ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงระบอบคอมมิวนิสต์ที่แพร่ขยายไปครึ่งโลกหลังสงครามโลกครั้งที่สองและแบ่งแยกโลกออกเป็นสองฝักสองฝ่าย

แต่ในที่สุดซีกโลกคอมมิวนิสต์ก็พ่ายแพ้โลกทุนนิยม สหภาพโซเวียตล่มสลายลงในปลายศตวรรษที่แล้ว ในขณะที่จีนก็เปลี่ยนมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยระบบทุนนิยมและในที่สุดก็เข้าเป็นสมาชิกองค์กรการค้าโลกในปี 2001 ตามด้วยเวียดนามในอีก 4 ปีต่อมา ถือได้ว่าปิดฉากระบบคอมมิวนิสต์อย่างถาวร


คำถามที่ตามมาคือทำไมระบบคอมมิวนิสต์จึงประสบความล้มเหลว แต่ระบบทุนนิยมซึ่งถูกกล่าวหาว่านายทุนมุ่งแต่จะเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานจึงประสบความสำเร็จ ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็ยังไม่เชื่อในวิสัยทัศน์ของ Adam Smith เกี่ยวกับ “มือที่มองไม่เห็น” ที่นำมาซึ่งการส่งเสริมผลประโยชน์ของส่วนรวมโดยการปล่อยให้ประชาชนทุกคนแสวงหาผลประโยชน์สูงสุดให้กับตัวเองโดยเสรี เพราะส่วนใหญ่เราจะพูดว่าต้องไม่เห็นแก่ตัวและต้องเห็นแก่ส่วนรวม ประเทศจึงจะเจริญ แต่ในทัศนะของ Adam Smith ในขั้นพื้นฐานนั้นความเห็นแก่ตัวสามารถนำมาซึ่งผลประโยชน์ของส่วนรวมได้


ผมเห็นว่าระบบทุนนิยมนั้นมีข้อเสียและข้อด้อยอยู่มาก แต่ระบบอื่นๆ มีข้อเสียมากกว่าระบบทุนนิยมมาก ในกรณีของระบบคอมมิวนิสต์นั้น พอจะสรุปแนวคิดในการบริหารเศรษฐกิจดังนี้


1. ระบบนายทุนเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานโดยเอาผลผลิตส่วนเกิน (labor surplus value) ไปเป็นกำไรและยิ่งพยายามแข่งขันทำกำไรมากก็ยิ่งต้องเอารัดเอาเปรียบผู้ใช้แรงงานมากขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้น รัฐจึงต้องยึดเอาทุนเครื่องจักรและกลไกการผลิตให้เป็นของรัฐทั้งหมดเพราะรัฐจะไม่เอาเปรียบแต่จะดูแลประชาชนอย่างเป็นธรรมเนื่องจากรัฐจะไม่แสวงหากำไรเหมือนนายทุน


2. ดังนั้นรัฐจึงต้องมีบทบาทหลักในการกำกับเศรษฐกิจและขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยการสั่งการ (command economy) โดยรัฐบาลจะต้องเป็นผู้วางแผนการผลิต การจัดซื้อจัดจ้าง การขนส่ง ฯลฯ เกือบทั้งหมด (central planning)


ในทางตรงกันข้ามระบบทุนนิยมจะเน้นความเป็นเจ้าของของเอกชน (private ownership) และหน้าที่หลักของรัฐคือการคุ้มครองทรัพย์สิน (ของเอกชน) หรือ property protection ทั้งนี้ หมายถึงทรัพย์สินทุกประเภทรวมทั้งทรัพย์สินทางปัญญา เพราะเมื่อประชาชนได้รับการคุ้มครองดังกล่าวก็จะมีแรงจูงใจที่จะกล้าเสี่ยง (risk taking) เพื่อให้เกิดผลตอบแทนจากทรัพย์สินและมีเงินมาซื้อทรัพย์สินเพิ่มขึ้น ซึ่งความ “โลภ” ดังกล่าวจะนำไปสู่การคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ การผลิตสินค้าและบริการที่มีคุณภาพสูงและราคาถูก ฯลฯ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่จะขับเคลื่อนและนำมาซึ่งความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ ตรงกันข้ามในระบบคอมมิวนิสต์นั้นทรัพย์สินทุกประเภทต้องเป็นของรัฐ ประชาชนเป็นเจ้าของอะไรเกือบจะไม่ได้เลย (เพราะไม่ต้องการให้การเอารัดเอาเปรียบของระบบนายทุนเกิดขึ้น) แต่เราก็ทราบกันดีว่าเมื่อทรัพย์สินใดเป็น “ของส่วนรวม” ก็แปลว่าทรัพย์สินนั้น “ไม่มีเจ้าของ” และจะไม่มีใครดูแลรักษา จึงจะเสื่อมโทรมขาดการพัฒนาไปในที่สุด กล่าวคือ ระบบคอมมิวนิสต์ไม่มองหรือมองไม่เห็นความสำคัญของการเป็นเจ้าของ ทั้งเจ้าของสินทรัพย์และกำไรที่พึงได้จากสินทรัพย์ดังกล่าว จึงทำให้การบริหารเศรษฐกิจโดยรัฐบาลที่คาดหวังว่าจะนำมาซึ่งผลเลิศสำหรับส่วนรวม ไม่สามารถแข่งขันและเอาชนะระบบทุนนิยมที่ “เห็นแก่ตัว” ได้


ต่อมาจึงมีความพยายามที่จะผสมผสานทั้งสองระบบบางประเทศในยุโรป เช่น ฝรั่งเศส รัฐบาลจะมีบทบาทอย่างมากในการกำกับการผลิตและเป็นเจ้าของบริษัทขนาดใหญ่จำนวนมาก ประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียก็จะมุ่งเน้นการเก็บภาษีคนร่ำรวยในอัตราสูง (70-80%) เพื่อสร้างระบบรัฐสวัสดิการที่ปรับลดช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนที่เกิดขึ้นภายใต้ระบบนายทุนและอีกหลายประเทศก็ให้รัฐเข้ามามีบทบาทในการวางแผนเศรษฐกิจระยะยาว โดยมิได้เป็นการเข้ามาสั่งการ แต่เป็นการ “ชี้แนะ” และกำหนดทิศทางการพัฒนา (indicative planning) แนวคิดดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างมากในช่วง 1950-1970 ซึ่งในประเทศไทยก็ได้เริ่มจัดทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรกในปี 1962 เรื่อยมาจนแผนปัจจุบัน ซึ่งเป็นแผนที่ 11 แต่น่าสังเกตว่าประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลกคือสหรัฐอเมริกานั้นมิได้มีการทำแผนเศรษฐกิจ 5 ปีหรือ 10 ปีแต่อย่างใด แม้ว่าบางหน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวงกลาโหมจะมีบทบาทสำคัญในการให้ทุนและสนับสนุนการวิจัยในแขนงต่างๆ ที่แม้จะเป็นประโยชน์โดยตรงกับการรักษาความมั่นคงของประเทศ แต่ก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับเศรษฐกิจโดยรวม เช่น อินเทอร์เน็ต เป็นต้น


“บทเรียน” ที่เราเพิ่งเข้าใจเกี่ยวกับการขับเคี่ยวกันระหว่างระบบทุนนิยมกับระบบคอมมิวนิสต์คืออะไร? ผมขอสรุปความเห็นของผมดังนี้


1. ระบบคอมมิวนิสต์ล่มสลายพ่ายแพ้ทุนนิยมเพราะมิได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเป็น “เจ้าของ” ทรัพยากรและกลไกการผลิต ตลอดจนผลตอบแทนจากความเป็นเจ้าของดังกล่าว คอมมิวนิสต์มองว่าเป็นการเอาเปรียบประชาชน แต่ไม่เห็นว่าความเป็นเจ้าของนั้นเป็นแรงจูงใจให้กล้าเสี่ยงกล้าทำกล้าเปลี่ยนแปลง ซึ่งเหมารวมว่ากล้าเป็นผู้ประกอบการ (entrepreneurship) ซึ่งเป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่ระบบคอมมิวนิสต์นั้นกลัวนายทุนจะเอาเปรียบผู้ใช้แรงงาน มองไม่เห็นบทบาทที่สำคัญของผู้ประกอบการ


2. รัฐที่สนับสนุนระบบทุนนิยมคือรัฐที่คุ้มครองทรัพย์สินของเอกชน (รวมทั้งทรัพย์สินทางปัญญา) โดยการรักษาอธิปไตยของประเทศ การคุ้มครองปกป้องภายในประเทศด้วยตำรวจที่มีประสิทธิภาพ ระบบศาลที่ตัดสินข้อพิพาทอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม ทั้งนี้ไม่ต้องมาวางแผนให้เอกชนว่าจะต้องลงทุนอะไรและอย่างไร แต่ในความเป็นจริงนั้นภาครัฐย่อมสามารถปรึกษาหารือกับภาคเอกชนเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจรวมกันอย่างกว้างๆ เช่นกรณี indicative planning ได้


3. ในส่วนที่ภาครัฐสมควรจะแทรกแซงระบบเศรษฐกิจทุนนิยมให้มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมมากขึ้นนั้นก็อาจมีแนวทางดังนี้คือ


3.1 ในกรณีที่การผลิตของภาคเอกชนส่งผลกระทบข้างเคียง เช่น ทำให้เกิดมลภาวะก็จะถือว่าผู้ผลิตดังกล่าวใช้ทรัพยากรส่วนรวม (อากาศหรือน้ำที่บริสุทธิ์) ดังนั้นจึงต้องถูกเก็บภาษีเพื่อลดการผลิตและนำภาษีดังกล่าวมาปรับปรุงสภาพสิ่งแวดล้อม เป็นต้น


3.2 โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น ถนน น้ำประปา ไฟฟ้าและระบบราชการที่มีประสิทธิภาพและเป็นธรรมจะต้องถูกพัฒนาขึ้นมารองรับการพัฒนาของเศรษฐกิจ ซึ่งต้องมีการเก็บภาษีตามที่จำเป็น แต่ในหลายกรณีก็สามารถว่าจ้างให้เอกชนดำเนินการได้เช่นการสร้างถนนและเก็บค่าผ่านทาง หรือแม้กระทั่งการว่าจ้างให้เอกชนเก็บภาษีศุลกากร (ในอินโดนีเซีย) เป็นต้น ทั้งนี้ต้องเน้นว่าการแทรกแซงของรัฐควรมีน้อยที่สุดเท่าที่จำเป็นเท่านั้น


3.3 ในส่วนของความเป็นธรรม (ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน) นั้น เป็นเรื่องที่ยากลำบากที่สุดในเชิงทฤษฎี แต่สรุปได้ว่าระบบทุนนิยมทำให้เกิดประสิทธิภาพหรือทำให้เค้กใหญ่ขึ้นและอร่อยมากขึ้น แต่การแบ่งเค้กให้เป็นธรรมและทั่วถึงทุกคนนั้นระบบทุนนิยม (หรือระบบใดๆ) ไม่สามารถตอบโจทย์ได้บางคนมองว่าระบบทุนนิยมจะยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนเพิ่มมากขึ้น แต่ผมกล่าวในตอนต้นแล้วว่า ผมเห็นว่ากลไกตลาดเสรีภายใต้ระบบทุนนิยมนั้นเป็นประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจของผู้บริโภค ดังนั้น บทบาทสำคัญยิ่งของรัฐในส่วนของการส่งเสริมความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจคือการกำจัดการผูกขาดทั้งหมด (รวมทั้งการตั้งกำแพงภาษีเพื่อให้ผู้ผลิตภายในผูกขาดตลาดในประเทศ) และการจัดสรรทรัพยากรด้านการสาธารณสุขและการศึกษาให้ประชาชนทุกคนมี “โอกาส” ที่เท่าเทียมกันมากที่สุด “ในการแข่งขันภายใต้กลไกตลาดเสรี”