ส่ง E-Commerce สู่ชนบทจีน

ส่ง E-Commerce สู่ชนบทจีน

เมื่อตอนที่ Alibaba ยักษ์ใหญ่ E-Commerce ของจีนเสนอขายหุ้นครั้งแรกหรือ IPO ในตลาดหุ้นสหรัฐ เมื่อปีที่แล้วนั้น

นักข่าวฝรั่งถาม Jack Ma เจ้าของ Alibaba ว่า ตั้งใจจะกระโจนเข้ามาแข่งขันอย่างเต็มตัวกับยักษ์ใหญ่ E-Commerce ของสหรัฐ อย่าง Amazon หรือ E-Bay ในตลาดสหรัฐ หรือเปล่า ?


Jack Ma ตอบว่า ทั้งชีวิต เขาไม่เคยคิดเรื่องการแข่งขันหรือคิดเลียนแบบโมเดลธุรกิจของใคร แต่เขาจะคิดเรื่องโอกาสใหม่ๆ เสมอ โลกนี้มีโอกาสทางการค้าขายอีกมากมายที่ยังไม่มีใครมองเห็นและลงมือทำ ส่วนโมเดลธุรกิจก็ต้องคอยปรับให้สอดคล้องกับโอกาสและบริบทจริงในแต่ละพื้นที่


นักข่าวฝรั่งถามต่อว่า Alibaba มีความสัมพันธ์อย่างไรกับรัฐบาลจีน Jack Ma ตอบว่า เราเป็นมิตรกับรัฐบาล เพราะ Alibaba กับรัฐบาลมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือต้องการให้เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เราจะคอยสื่อสารกับรัฐบาลถึงข้อกังวลต่างๆ รวมทั้งมีอะไรที่เราสามารถทำได้เพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อช่วยสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ หลักคิดของเราก็คือ พาทุกคนเติบโตไปด้วยกัน Alibaba สร้าง platform คุณภาพให้ผู้ค้ารายย่อยสามารถเป็นค้าขายในโลกออนไลน์ที่มีผู้บริโภคจำนวนมหาศาลได้


ในคำตอบของ Jack Ma เขาไม่ได้ระบุตรงๆ ว่าอะไรคือโอกาสที่คนอื่นมองไม่เห็น และรัฐบาลจีนต้องการการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแบบไหนกันแน่ แต่จากการวิเคราะห์กลยุทธ์ของ Alibaba ในรอบปีนี้ ผมขอเฉลยให้เองเลยว่า โอกาสที่ Jack Ma พูดถึงก็คือ “ชนบทจีน” ซึ่งมีชาวบ้านอีก 600 ล้านคนที่กำลังมีรายได้เพิ่มสูงขึ้น (ตามเป้าของรัฐบาลจีนคือรายได้เฉลี่ยในชนบทต้องเพิ่ม 7% ต่อปี) ทำให้เริ่มมีความต้องการจับจ่ายใช้สอย มากขึ้น รวมทั้งความหวังที่จะค้าขายสินค้าที่ตนเองผลิตสู่ผู้บริโภคด้วย


ส่วนสิ่งที่รัฐบาลจีนต้องการ ก็คือ การสร้างโอกาสทางธุรกิจให้แก่ชาวบ้าน และส่งเสริมให้ชาวบ้านบริโภคจับจ่ายใช้สอยให้มากขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายการสร้างเศรษฐกิจที่เน้นการบริโภคภายในประเทศ แทนที่จะเน้นการผลิตเพื่อส่งออก (ซึ่งค่าแรงที่สูงขึ้นทำให้จีนแข่งขันไม่ได้แล้ว) ดังนั้น เครื่องจักรสำคัญที่จะขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในรอบต่อไปของจีนก็คือการปลดปล่อยพลังการบริโภคและพลังการสร้างสรรค์จากชนบทจีน


สรุปสั้นๆ โอกาสในการเติบโตของ Alibaba อยู่ที่ชนบทจีน และโอกาสในการเติบโตรอบใหม่ของเศรษฐกิจจีนก็อยู่ที่ชนบทจีนเช่นกัน ปัจจุบัน สินค้าที่ซื้อขายใน Alibaba ยังมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น ที่ส่งไปยังผู้ซื้อในชนบท และในปี ค.ศ. 2014 ยังมีนักช็อปออนไลน์จากชนบทอยู่เพียง 77 ล้านคนเท่านั้น แม้จะเติบโตจากปีก่อนหน้าถึงกว่าร้อยละ 40 เลยทีเดียวก็ตาม แต่ก็เห็นได้ว่ายังมีช่องว่างให้ขยายตัวได้อีกมหาศาล


ปัจจุบัน Alibaba มีศูนย์กระจายสินค้าของ Taobao.com และ Tmall.com (สองเว็บไซต์ E-Commerce หลักของ Alibaba) อยู่ใน 63 อำเภอ และ 1,803 หมู่บ้านในเขตชนบท Alibaba ตั้งเป้าว่าภายใน 5 ปี จะสร้างศูนย์กระจายสินค้าในอำเภอให้ถึง 1,000 แห่ง และศูนย์กระจายสินค้าย่อยในหมู่บ้านให้ถึง 100,000 แห่ง เรียกว่าเร่งทุ่มเงินสร้างเครือข่าย E-Commerce ให้ถึงรากหญ้าก่อนคู่แข่ง เตรียมพร้อมรองรับการเติบโตแบบก้าวกระโดดของชาวบ้านนักช็อปในอนาคต


ชาวบ้านที่ซื้อของจาก Taobao.com และ Tmall.com สามารถมารับของได้ที่ศูนย์กระจายสินค้าในหมู่บ้านเพื่อแก้ไขปัญหาการจัดส่งถึงตัวบ้านในชนบทที่ยากลำบาก เนื่องจากถนนหนทางไม่ดี และเลขบ้านในชนบทหายากและอยู่ห่างจากกันมาก (เพราะคั่นด้วยแปลงนาข้าว) นอกจากนั้น ชาวบ้านยังสามารถมาใช้คอมพิวเตอร์ในศูนย์เพื่อสั่งซื้อสินค้าได้ รวมทั้งสามารถชำระค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ผ่านระบบออนไลน์ที่ตู้ชำระค่าบริการต่างๆ Alibaba ยังจ้างชาวบ้านส่วนหนึ่งมาเป็นเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ ช่วยสร้างตำแหน่งงานใหม่อีกไม่น้อยให้แก่ชาวบ้านในชนบท


ทำไมชาวบ้านจึงเลือกที่จะช็อปปิ้งออนไลน์ถ้ามีโอกาส? เหตุผลก็เพราะเข้าเมืองลำบาก เสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ช็อปปิ้งออนไลน์ตัวเลือกเยอะ ราคาถูก แถมสินค้าส่งถึงหมู่บ้านอย่างรวดเร็วสำหรับสินค้ากลุ่มเป้าหมายในช่วงแรก ได้แก่ เครื่องซักผ้า โทรทัศน์ เสื้อผ้าแฟชั่นเครื่องสำอางและสินค้าสำหรับทารกแรกเกิด (ซึ่งชาวบ้านต้องการสินค้าคุณภาพที่หาไม่ได้ในชนบท) รวมทั้งสมาร์ทโฟน (ซึ่งรัฐบาลจีนมีโครงการขายสมาร์ทโฟนราคาถูกให้แก่ชาวบ้านในชนบท)


Alibaba ไม่ได้ต้องการให้ชาวบ้านเป็นเพียงผู้ซื้อเท่านั้น ในระยะยาว Alibaba ยังต้องการส่งเสริมให้ชาวบ้านเป็นผู้ขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ของตนผ่านเว็บไซต์ด้วย โดยกำลังจะเปิดตัวเว็บไซต์และจัดวางระบบการขนส่งสินค้าเพื่อให้ชาวชนบทสามารถขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่มีคุณภาพสู่คนเมืองได้โดยตรง ไม่ต้องผ่านผู้ค้าคนกลางอีกต่อไป


ผู้บริหารของ Alibaba เล่าให้ฟังว่า ในขั้นตอนแรก Alibaba จะลงทุนเพื่อ “เข้าถึง” ชาวบ้านก่อน เช่น สร้างศูนย์กระจายสินค้าในหมู่บ้าน ช่วยให้ชาวบ้านสามารถสั่งซื้อสินค้าออนไลน์เพื่อได้เครื่องไม้เครื่องมือ รวมทั้งวัตถุดิบราคาถูกสำหรับใช้เป็นปัจจัยการผลิต จากนั้นเราก็จะจัดช่องทางออนไลน์ที่เขาจะขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้สู่ผู้บริโภคด้วย


ในปีที่แล้ว Alibaba มี “หมู่บ้าน Taobao” จำนวน 211 หมู่บ้าน (ปีก่อนหน้ามีเพียง 20 หมู่บ้าน) โดย “หมู่บ้าน Taobao” คือหมู่บ้านที่ชาวบ้านนำสินค้าและผลิตภัณฑ์ไปขายในเว็บไซต์ Taobao.com นอกจากนั้น รัฐบาลจีนยังเลือกอำเภอยากจนจำนวน 55 อำเภอตั้งกองทุนให้อำเภอละ 20 ล้านหยวน (100 ล้านบาท) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์สำหรับ E-Commerce อำเภอที่ประสบความสำเร็จ เช่น อำเภอถงชาน ในมณฑลหู่เป่ย ซึ่งสามารถขายตั๋วเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวในอำเภอผ่านเว็บไซต์ Taobao.com ทำให้ยอดขายตั๋วเพิ่มจาก 1,000 เป็น 10,000 ใบต่อเดือน รวมทั้งยังเปิดให้จองโรงแรมแบบครบวงจรในโลกออนไลน์ด้วย


ถ้าใช้ให้เป็น เทคโนโลยีสามารถช่วยให้เศรษฐกิจชนบทเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด สมัยก่อนกว่าจะพัฒนาเศรษฐกิจชนบทได้ ต้องเริ่มจากการลงทุนในถนนหนทาง การดึงดูดผู้ประกอบการให้มาตั้งร้านค้าในชนบท ซึ่งก็ต้องมีการลงทุนสร้างตึกสร้างร้านค้า ทั้งหมดนี้ไม่เป็นปัญหาอีกต่อไปในยุค E-Commerce เพราะไม่ว่าจะเป็นหมู่บ้านหลังเขาอย่างไร ขอเพียงสัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าถึง ก็เชื่อมต่อกับห้างร้าง (รวมทั้งผู้บริโภค) ทั่วประเทศจีนได้ทันที


ย้อนมองประเทศไทยที่เรากำลังวนเวียนอยู่กับวาทกรรมช่วยเหลือรากหญ้า ขณะเดียวกันก็มีวาทกรรมสอนให้ชาวบ้านในชนบทรู้จักเจียมเนื้อเจียมตัวอยู่อย่างพอมีพอกินอีกด้วย ต่างกับในประเทศจีนที่รัฐบาลและบริษัทยักษ์ใหญ่กำลังนำเทคโนโลยีใหม่อย่าง E-Commerce มาแก้ไขปัญหาคลาสสิกในชนบท ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเข้าถึงตลาด ปัจจัยการผลิต หรือโครงสร้างพื้นฐานที่เดิมไม่เพียงพอในชนบท ซึ่งล้วนเคยเป็นอุปสรรคต่อการยกระดับรายได้ของชาวบ้าน และสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ


รัฐบาลจีนไม่ได้มุ่งหว่านเงินอุดหนุนชาวบ้านยากจน เพียงเพื่อปั๊มลมตัวเลข GDP ระยะสั้นเหมือนในไทย แต่ตั้งโจทย์ว่าจะต้องปรับใช้เทคโนโลยีและลงเม็ดเงินให้ถึงมือชาวบ้านอย่างไรจึงจะสามารถสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจรอบใหม่ สร้างโอกาสทางการค้าและการบริโภคใหม่ๆ ให้กับประชาชนทั้งในเมืองและชนบท