เสียงประชาชนเพื่อการปฏิรูป (3) ร่างรัฐธรรมนูญวิพากษ์

เสียงประชาชนเพื่อการปฏิรูป (3) ร่างรัฐธรรมนูญวิพากษ์

หลังจากอ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ เสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อพิจารณาลงมติรับหรือไม่รับแล้ว

พบว่ามีหลายประเด็นที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังไม่มีความชัดเจน ไม่สมบูรณ์ และถือไม่ได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี

1. เป็นรัฐธรรมนูญที่ยาวและเยิ่นเย้อ มีรายละเอียดมากเกินความจำเป็น เพราะโดยหลักการแล้วรัฐธรรมนูญควรจะบัญญัติเฉพาะประเด็นสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ สิทธิเสรีภาพ หน้าที่ของประชาชนพลเมือง และแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐเท่านั้น เพราะเป็นหัวใจของรัฐธรรมนูญ เรื่องอื่นๆ เป็นรายละเอียดที่ควรอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรมีแค่เก้าสิบห้ามาตราแรก ซึ่งประกอบไปด้วยสองภาคสำคัญคือ ภาค 1 รากฐานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตั้งแต่มาตรา 1 ถึง 72 อันประกอบด้วยหมวดพระมหากษัตริย์ หมวดประชาชน อันเกี่ยวกับความเป็นพลเมืองและหน้าที่ของชนชาวไทย สิทธิเสรีภาพของบุคคล โดยเฉพาะสิทธิมนุษยชน การมีส่วนร่วมทางการเมืองของชนชาวไทย และการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบของชนชาวไทย และภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง ซึ่งประกอบด้วยหมวด ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี และหมวดแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ นอกเหนือจากนี้ ตั้งแต่มาตรา 96 เป็นต้นไปควรอยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้งหมด

2. เป็นรัฐธรรมนูญที่เน้นการแก้ปัญหาระยะสั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดี การพยายามจะบัญญัติข้อกำหนดเพื่อแก้ปัญหาที่จะไม่คงอยู่อย่างถาวรไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยเฉพาะความขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่ายที่แม้จะยังคงเป็นปัญหามานานหลายปี แต่ก็เป็นเพียงปรากฏการณ์ชั่วคราวของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ความพยายามกำหนดบทบัญญัติที่จะไม่ให้เกิดปัญหาเช่นว่านี้อีกในอนาคตโดยกำหนดให้มีบทบัญญัติว่าด้วยการปรองดองและยุทธศาสตร์ชาติ เรียกว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติไว้ในรัฐธรรมนูญ กลายเป็นเรื่องที่สนับสนุนกลไกชั่วคราวให้เป็นกลไกถาวรหรือกึ่งถาวร ซึ่งแม้จะกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า จะมีวาระแค่ห้าปี แต่ก็เปิดช่องให้สามารถต่ออายุได้อีก จึงนับเป็นบทเฉพาะกาลที่มีความถาวรมากกว่าบทเฉพาะกาลทั่วไป

3.เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นพลวัต (Dynamic) แต่ค่อนข้างกำหนดเงื่อนไขเงื่อนเวลาอย่างตายตัว (Static) รัฐธรรมนูญเช่นนี้จะทำให้เกิดปัญหาอย่างมากในการแก้ไขเพิ่มเติมในภายหน้า ทั้งๆ ที่โดยเจตนารมณ์ของการร่าง ต้องการให้แก้ไขได้ง่าย เพราะไม่ต้องการให้เกิดการล้มรัฐธรรมนูญ แต่การกำหนดรายละเอียดที่มีเงื่อนไขเงื่อนเวลาอย่างมากมาย จะทำให้การแก้ไขเกิดขึ้นยาก เพราะเป็นการแก้ไขตัวรัฐธรรมนูญ ซึ่งสุดท้ายก็จะหนีไม่พ้นการล้มรัฐธรรมนูญทั้งฉบับเหมือนที่เกิดขึ้นในอดีตครั้งแล้วครั้งเล่า ซึ่งถ้าบทบัญญัติที่เป็นเงื่อนไขเงื่อนเวลานี้อยู่ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ การแก้ไขย่อมทำได้ง่ายกว่า เพราะสามารถดำเนินการได้โดยรัฐสภา แต่ถ้าแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีการทำประชามติ ถามประชาชน ทั้งๆ ที่อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญถึงขนาดที่ต้องทำประชามติ แต่เป็นเพราะเป็นการแก้ไขตัวรัฐธรรมนูญ จึงต้องผ่านกระบวนการที่ไม่จำเป็นและสิ้นเปลืองมหาศาล

4.เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้วางรากฐานอนาคตของประเทศ จริงอยู่ รัฐธรรมนูญนี้เป็นของประเทศไทย แต่สังคมไทยมิได้เป็นสังคมเดียวในโลก หากแต่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของสังคมโลก (World Orders) จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการปรับตัวให้เข้ากับบริบทของโลก ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้สอดคล้องกับประชาคมโลก เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก และอาจมีผลกระทบถึงขนาดล้มรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน

5เป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้คำนึงถึงความต้องการของคนยุคใหม่อย่างแท้จริง แต่เป็นการกำหนดไว้ล่วงหน้าเป็นเงื่อนไขเงื่อนเวลาว่า จะทำอะไรในอนาคต ต้องไม่ลืมว่าคนไทยยุคใหม่อาจมีแนวคิดที่ไม่เหมือนคนไทยยุคปัจจุบัน ที่เน้นความมั่นคงปลอดภัยของประเทศชาติและสถาบัน แต่คนไทยในอนาคตจะต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองและสังคมให้สอดคล้องกับสังคมโลก จริงอยู่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเจตนารมณ์ที่ต้องการให้ทุกรัฐบาลในอนาคต สานต่อสิ่งที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ เรื่องของการเลือกตั้งและระบบเลือกตั้ง เรื่องของสัดส่วนหรืออัตราส่วนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ที่กำหนดเป็นจำนวนตัวเลขหรือเป็นสัดส่วนหรืออัตราส่วนที่ไม่ยืดหยุ่น เรื่องการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์ ในการลงคะแนนและนับคะแนนเสียง และในอีกหลายๆ เรื่อง สิ่งเหล่านี้อาจไม่เหมาะสมกับสังคมในอนาคต ที่จะต้องถูกปรับเปลี่ยนไปตามบริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลง แต่เมื่อบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ การแก้ไขเปลี่ยนแปลงจึงทำได้ยาก

6. เป็นรัฐธรรมนูญที่มีรายละเอียดเกินความจำเป็นและไม่ยืดหยุ่น ฉะนั้น เมื่อมีการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญอีกนับสิบฉบับ จะเกิดปัญหาความซ้ำซ้อน เพราะพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจะต้องสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแต่ลงลึกในรายละเอียด จะเกิดปัญหาการขัดกันระหว่างบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ อาทิ รัฐธรรมนูญกำหนดให้ประธานศาลฎีกามีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปี ประธานศาลรัฐธรรมนูญมีวาระการดำรงตำแหน่งสามปี ประธานศาลปกครองสูงสุดมีวาระการดำรงตำแหน่งสี่ปี ตลอดจนกรรมการและประธานกรรมการองค์กรอิสระอื่นๆ ที่วาระการดำรงตำแหน่งได้ถูกกำหนดไว้อย่างแน่นอนตายตัว แต่ในทางปฏิบัติ แต่ละองค์กรอาจมีเงื่อนไขการครบอายุการดำรงตำแหน่งที่ต่างออกไป แต่กลับต้องยึดโยงกับรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญมีศักดิ์เหนือกว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ การขัดกันเช่นว่านี้จะทำให้เกิดการตีความ และในที่สุดก็ต้องพึ่งศาลรัฐธรรมนูญตลอดเวลาโดยไม่จำเป็น

7. เป็นรัฐธรรมนูญที่ทิ้งปัญหาให้กับอนาคตในหลายๆ เรื่อง อาทิ เรื่องการมีอยู่ขององค์กรผู้ตรวจการแผ่นดินกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน การตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ การตั้งคณะกรรมการประเมินแห่งชาติ ซึ่งจะมีความซ้ำซ้อนกับองค์กรอื่นที่มีอยู่แล้วและทำหน้าที่เหล่านี้อยู่ เมื่อมีการกำหนดรายละเอียดของงานย่อมส่งผลกระทบ อาทิ เรื่องเขตอำนาจ หรือเรื่องอำนาจหน้าที่ ว่าองค์กรหนึ่งมีอำนาจหน้าที่มากหรือน้อยกว่าอีกองค์กรหนึ่ง ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเช่นเดียวกัน แม้ว่าถ้าพิจารณาในแง่เป็นการตรวจสอบการทำงานระหว่างองค์กร (Crosscheck) ก็อาจเป็นเรื่องดี แต่ก็อาจทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างองค์กรได้ เพราะแต่ละองค์กรย่อมต้องการความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ควรมีองค์กรอื่นมาตรวจสอบตลอดเวลา นอกจากเป็นปัญหาที่ต้องได้รับการตัดสินจากองค์กรที่มีอำนาจสูงกว่า

8.อำนาจของบางองค์กรมีมากเกินไป องค์กรที่น่าจะคงอยู่เป็นการชั่วคราวเฉพาะกาล เช่น คณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ สภาดำเนินการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เป็นองค์กรชั่วคราวที่มีอำนาจมากเกินไป อาทิ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งกำหนดไว้อย่างชัดแจ้งในมาตรา 261 วรรคสุดท้ายว่า...ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ทบทวนข้อเสนอ แนวทาง หรือมาตรการดังกล่าว และมีมติยืนยันด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้เป็นไปตามมติดังกล่าว

...การมีอยู่และคงอยู่ขององค์กรเหล่านี้จะทำให้เกิดอำนาจซ้อนอำนาจเพราะองค์กรเหล่านี้จะยังคงมีอำนาจมหาศาลในช่วงระยะเวลาที่องค์กรเหล่านี้ทำหน้าที่ แม้จะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ตาม จะเกิดสภาพองค์กรเหนือองค์กร และขัดกับการใช้อำนาจอธิปไตยที่แบ่งเป็นอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ ซึ่งผู้ที่เป็นผู้นำสูงสุดในแต่ละอำนาจไม่ควรอยู่ใต้อำนาจผู้ใดอีก มิฉะนั้นรัฐธรรมนูญก็จะไม่ใช่บทบัญญัติสูงสุดของประเทศอย่างแท้จริง และแน่นอนว่าจะมีปัญหาเรื่องการยอมรับความมีอยู่ของรัฐบาล และเกิดคำถามว่าอำนาจที่แท้จริงว่าอยู่ที่ใครหรือองค์กรใด รัฐธรรมนูญจะถูกตีตราว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับครึ่งใบหรือเสี้ยวใบ ไม่ใช่รัฐธรรมนูญเต็มใบอย่างที่ควรเป็น

บทวิพากษ์รัฐธรรมนูญรายมาตรา

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีจุดอ่อนในเรื่องบทบัญญัติจำนวนมาก และไม่สอดคล้องกันในหลายๆ เรื่อง ที่สมควรนำเสนอเพื่อพิจารณา ดังนี้

1. มาตรา 6 รัฐธรรมนูญไม่ใช่กฎหมายแต่มีศักดิ์เหนือกฎหมาย ฉะนั้น สิ่งที่กำหนดในรัฐธรรมนูญจึงมีสถานะเป็น บทบัญญัติ หรือ Charter การที่ใช้คำว่า... รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ...จึงไม่ถูกต้อง ควรเป็น...รัฐธรรมนูญเป็นบทบัญญัติสูงสุดของประเทศ

2. มาตรา 7 วรรคสอง กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาด แต่ถ้าเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีปัญหาในตัวเอง จะทำอย่างไร เพราะศาลรัฐธรรมนูญเป็นศาลการเมือง ที่หนีไม่พ้นจะต้องถูกกล่าวหาในทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นคุณสมบัติความเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือกระบวนวิธีพิจารณาในศาล สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในอดีตหลายครั้ง การตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญแม้จะเป็นที่สุด แต่ก็ทำให้สังคมสับสนและไม่แน่ใจ บางครั้งเกิดการฟ้องร้องดำเนินคดีตามมา จึงขอตั้งข้อสังเกตในประเด็นนี้ไว้

3. มาตรา 34 วรรคหนึ่งกำหนดไว้ว่า... บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพในลักษณะที่อาจก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้...แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเกิดรัฐประหารครั้งแล้วครั้งเล่า ทั้งๆ ที่รัฐธรรมนูญทุกฉบับก็กำหนดเช่นนี้ จึงขอตั้งข้อสังเกตว่า ควรมีการกำหนดมาตรานี้ไว้หรือไม่ และถ้าจะคงไว้จะกำหนดอย่างไร เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงประเทศ ไม่ว่าในรูปแบบใดไม่ต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญทุกครั้ง

4. มาตรา 35 วรรคสุดท้าย กำหนดไว้ว่า...มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรคหรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพ ได้เช่นเดียวกับบุคคลอื่น ย่อมไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม...เรื่องนี้เข้าลักษณะที่เรียกว่า Affirmative Action ทั้งนี้ เพื่อให้โอกาสบุคคลที่ด้อยโอกาสในสังคม แต่ขณะเดียวกัน ก็อาจมีผลในทางตรงข้าม เพราะเท่ากับเป็นการตัดสิทธิโดยชอบธรรมของบุคคลอื่น ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน เนื่องจากต้องเสียสิทธิไปให้บุคคลที่ด้อยโอกาส เรื่องนี้มีปรากฏในต่างประเทศและมีผลต่อการบังคับใช้ Affirmative Action

5. มาตรา 46 กำหนดไว้ว่า...ครอบครัวย่อมมีสิทธิได้รับความคุ้มครอง และช่วยเหลือจากรัฐให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นปึกแผ่นและเป็นสุข และมีสิทธิได้รับปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตที่มีมาตรฐาน ที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงอาหาร เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ ตามกฎหมายบัญญัติ...จึงเป็นเรื่องที่น่าสังเกตว่า เหตุใดจึงไม่รวมบริการสาธารณสุข หรือที่เรียกในปัจจัยสี่ว่า ยารักษาโรค ไว้ในมาตรานี้ ทั้งๆ ที่ ใน มาตรา 58(2) ได้กำหนดไว้ชัดเจนแล้วว่า ...บุคคลย่อมมีสิทธิในด้านสาธารณสุข ที่จะได้รับการบริการสาธารณสุขที่เหมาะสมอย่างทั่วถึง มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน และได้รับสิทธิประโยชน์ด้านสาธารณสุขพื้นฐานอันจำเป็นอย่างเท่าเทียมกัน......

6. มาตรา 52 วรรคแรก กำหนดว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกันในการรับการศึกษาที่มีคุณภาพและหลากหลายอย่างทั่วถึง แต่กำหนดเป็นการเฉพาะว่า...ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับมัธยมศึกษาสายสามัญและสายอาชีพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย...จึงมีข้อสังเกตว่าถ้าเป็นการศึกษาด้วยวิธีอื่นตามที่กำหนดในวรรคสาม อาทิ การเรียนรู้ด้วยตนเอง การศึกษาทางเลือก การเรียนที่บ้าน (Home School) และการศึกษาประเภทอื่น เช่นนี้และมีค่าใช้จ่าย จะต้องรับภาระเองหรืออย่างไร เรื่องนี้น่าจะมีการกำหนดไว้ให้ชัดเจน มิฉะนั้นจะเกิดความไม่เท่าเทียมกันในการรับการศึกษา

7. มาตรา 75 มีข้อสังเกตว่า...ผู้เข้ารับการสรรหาเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญซึ่งมีอำนาจตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และบุคคลอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ต้องแสดงสำเนาแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ย้อนหลัง...เว้นแต่เป็นผู้ไม่มีรายได้ที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี... มีข้อสังเกตว่า สิ่งที่ต้องแสดงน่าจะมีมากกว่าแบบแสดงรายการภาษีแต่รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่กฎหมายบังคับ อาทิ ถ้าเป็นชายก็ต้องแสดงว่าได้เคยเข้ารับราชการทหารหรือปลดประจำการถูกต้องแล้ว เพราะเคยเป็นปัญหาที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว การตรวจสอบจึงควรคำนึงถึงสิ่งที่ทุกคนต้องทำหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติให้ครบถ้วนถูกต้อง สำหรับเรื่องการยื่นแบบภาษีนี้ ก็ยังมีปัญหาที่คนไทยจำนวนมากไม่ได้ยื่นแบบภาษี ซึ่งคงต้องมีการแก้ไขกฎหมายบังคับให้ทุกคนต้องยื่นแสดงแบบ ไม่ว่าจะมีรายได้หรือไม่ เพราะเมื่อใดที่มีรายได้ที่จะต้องเสียภาษีก็สามารถนำเข้าระบบ และเป็นการขยายฐานภาษีให้ครอบคลุมทุกคนในประเทศ

8. มาตรา 76 วรรคสาม มีข้อสังเกตว่า มีการกำหนดว่า...ในกรณีที่บัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใดมีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเพศใดมากกว่าอีกเพศหนึ่งแล้ว อย่างน้อยในบัญชีรายชื่อนั้นต้องมีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเพศตรงข้ามกับเพศนั้นไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง...มีข้อสังเกตเรื่องนี้เพราะเคยมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ว่า...ให้คำนึงถึงสัดส่วนที่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงและชาย...ซึ่งน่าจะดีกว่าการกำหนดเป็นสัดส่วนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสาม ไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่วนพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญจะกำหนดไว้เป็นอย่างไรนั้น อาจต้องพิจารณาอีกครั้ง เช่นอาจกำหนดว่า...ต้องมีรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นเพศตรงข้ามกับเพศนั้นในสัดส่วนที่เท่าเทียมกัน หรือแตกต่างมากสุดไม่เกินหนึ่งในสาม...เช่นนี้น่าจะดีกว่า เพราะโดยหลักการแล้วสัดส่วนต้องเท่าเทียมกัน ส่วนที่แตกต่างนั้นถือเป็นข้อยกเว้น

9. มาตรา 101 มีข้อสังเกตว่าในวรรคสี่กำหนดไว้ว่า... ถ้าสมาชิกสภาฯที่มีอยู่นั้น มีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละเก้าสิบของจำนวนสี่ร้อยห้าสิบให้ถือว่าสมาชิกสภาฯจำนวนนั้นประกอบเป็นสภาผู้แทนราษฎร...จึงมีข้อสังเกตว่าในเมื่อจำนวนสมาชิกได้ถูกกำหนดไว้แล้วตามจำนวนประชาชนต่อสมาชิกหนึ่งคน จึงแจ้งชัดแล้วว่าต้องมีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดเท่าไรในการเลือกตั้งครั้งนั้นๆ ฉะนั้น จำนวนร้อยละเก้าสิบนี้จึงไม่ควรขึ้นอยู่กับจำนวนสมาชิกสี่ร้อยห้าสิบ แต่ขึ้นอยู่กับร้อยละเก้าสิบของจำนวนสมาชิกตามความเป็นจริงมากกว่า

10. มาตรา 103 ที่กำหนดว่า...ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อใดบัญชีรายชื่อหนึ่งเพียงบัญชีเดียว และอาจระบุด้วยว่า ต้องการให้ผู้ใดที่มีชื่อในบัญชีรายชื่อนั้นหนึ่งคนได้รับเลือกตั้ง...คำว่า “อาจ” มีความหมายว่าจะระบุหรือไม่ระบุก็ได้ ซึ่งเป็นถ้อยคำที่ไม่ชัดเจน จึงควรกำหนดใหม่โดยยกเลิกคำว่า “อาจ” เพราะการเลือกตั้งเป็นหน้าที่อยู่แล้ว อีกประการหนึ่งคำว่า “อาจ” จะทำให้เกิดช่องโหว่ที่มีการกาเครื่องหมายแทนโดยบุคคลอื่นที่ไม่มีสิทธิกาแทนได้ แม้จะใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ตาม จึงควรได้รับการแก้ไข

11. มาตรา 118 การสรรหาสมาชิกวุฒิสภาโดยวิธีคัดเลือกจากประชาชนสี่กลุ่มหลัก เคยมีปัญหาอย่างมาก เพราะมีการตั้งองค์กรขึ้นมาเพียงเพื่อให้เข้าข่ายที่จะส่งผู้สมัครได้ และการตั้งคณะกรรมการสรรหาที่ไม่เป็นที่ยอมรับ เรื่องนี้เป็นประเด็นที่ถูกต่อต้านอย่างมากจากบุคคลที่ไม่เห็นด้วย เพราะไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ผู้ที่ได้รับการสรรหาไม่ได้มาจากประชาชน แต่กลับมีอำนาจในการถอดถอนผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน และที่สำคัญเป็นเรื่องที่ใช้ดุลยพินิจของคณะกรรมการสรรหาอย่างมาก ซึ่งทุกครั้งที่มีการใช้ดุลยพินิจย่อมมีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเสมอ

12. มาตรา 129 วรรคสอง มีข้อสังเกตว่าในวรรคสองเหมือนมีความไม่สมบูรณ์ในตัวเอง เพราะกำหนดว่า...ให้เลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎรสองคน โดยให้รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่งมาจากพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 117 ...แต่ไม่ได้ระบุว่า รองประธานราษฎรคนที่สองจะมาจากไหน ซึ่งโดยหลักแล้ว ทั้งสองคนก็น่าจะมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเหมือนกัน และถ้ามีเจตนาให้มาจากที่อื่นก็ควรระบุที่มาให้ชัดเจน

13. มาตรา 138 วรรคสอง กำหนดว่า...ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎรตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องกำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นสมาชิกพรรคการเมืองตามมาตรา 117 เป็นประธานกรรมาธิการสามัญ ทำหน้าที่ตรวจสอบเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือทำหน้าที่กำกับติดตามเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ...ซึ่งไม่แน่ใจว่าทำไมต้องกำหนดเช่นนี้ในข้อบังคับ ไม่สามารถหาเหตุผลรองรับข้อกำหนดนี้ได้

14. มาตรา 144 วรรคสอง กำหนดไว้ว่า...ในกรณีเป็นที่สงสัยว่าร่างพระราชบัญญัติใดเป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวด้วยการเงิน...ให้เป็นอำนาจของที่ประชุมร่วมกันของประธานสภาผู้แทนราษฎร รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานกรรมาธิการสามัญของสภาผู้แทนราษฎรทุกคณะ เป็นผู้วินิจฉัย...เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งเพราะการออกพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเงินเกี่ยวข้องกับเงินจำนวนมาก และต้องอาศัยคณะบุคคลที่มีอิสระและเป็นกลางวินิจฉัยมากกว่าบุคคลในกลุ่มที่กำหนดไว้ เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นบุคคลกลุ่มเดียวกันทั้งประธานสภา รองประธานสภา ประธานคณะกรรมาธิการส่วนใหญ่ ทั้งหมดเป็นสมาชิกพรรครัฐบาล จึงคิดว่าเมื่อมีศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ ก็ควรให้ศาลปกครองแผนกดังกล่าวพิจารณาเพราะเป็นศาลที่มีความเป็นอิสระและเป็นกลาง มากกว่านักการเมืองที่สังกัดพรรคการเมือง

15. มาตรา 246 (6)(7) กำหนดให้คณะกรรมการสรรหากรรมการเลือกตั้ง มาจากการสุ่มด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งน่าจะมีวิธีที่ดีกว่านี้เช่นเป็นการเลือกระหว่างกันเอง หรือคณะกรรมการเลือกตั้งเป็นผู้คัดเลือกตามวิธีการที่กำหนด วิธีการสุ่ม ไม่ควรเป็นวิธีการตามรัฐธรรมนูญ

16. มาตรา 260 วรรคหก กำหนดให้...มีหน่วยธุรการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ และสภาดำเนินการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง ที่มีอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่น ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ...แสดงให้เห็นลักษณะของภารกิจที่เป็นการถาวรมากกว่าเป็นเรื่องเฉพาะกาลตามที่อ้าง จึงน่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่สนับสนุนความต่อเนื่องอย่างถาวรของคณะกรรมการฯและสภาดำเนินการ นี้

17. มาตรา 261 วรรคสุดท้ายกำหนดไว้ชัดเจนว่า...ในกรณีที่คณะรัฐมนตรีไม่สามารถดำเนินการตามข้อเสนอแนะหรือแนวทางและมาตรการใดได้ ให้ชี้แจงเหตุผลต่อรัฐสภาและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ ในการนี้หากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ทบทวนข้อเสนอ แนวทาง หรือมาตรการดังกล่าว และมีมติยืนยันด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสามในสี่ ให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการให้เป็นไปตามมติดังกล่าว...เช่นนี้เป็นการยืนยันว่าคณะกรรมการยุทธศาสตร์มีอำนาจเหนือคณะรัฐมนตรีที่น่าจะมีอำนาจบริหารประเทศสูงสุดอย่างแท้จริงแต่เพียงคณะเดียว

 

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นข้อสังเกตทางวิชาการและจากการรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะ ทั้งจากประชาชนทั่วไปและจากเวทีปฏิรูป อย่างไรก็ตาม เป็นที่เข้าใจได้ว่า ในบางเรื่องคณะกรรมาธิการยกร่างฯอาจมีแนวคิดที่แตกต่าง และเป็นแนวคิดที่ไม่อยู่ในความเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชน จึงเป็นสิ่งที่ประชาชนจะต้องพิจารณาว่า จากหลากหลายเหตุผลที่กล่าวมานี้จะสามารถยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้หรือไม่ หรือควรจะมีการแก้ไขอย่างไรเพื่อให้ประเทศไทยของเราก้าวเดินต่อไปอย่างสง่าผ่าเผยและภาคภูมิใจในความเป็นไทย จากการมีรัฐธรรมนูญแบบไทยๆ เช่นว่านี้

(หมายเหตุ บทความนี้เป็นความเห็นทางวิชาการของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว ไม่เกี่ยวข้องกับการเป็นอนุกรรมาธิการสังเคราะห์ประเด็นปฏิรูป สภาปฏิรูปแห่งชาติแต่อย่างใด)

-----------------------

ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร