ความเสี่ยงขาลงที่มากขึ้น

ความเสี่ยงขาลงที่มากขึ้น

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ระบุในรายงานที่เตรียมเผยแพร่

ในที่ประชุมรัฐมนตรีคลังกลุ่มจี 20 ว่าเศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงขาลงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน เงินดอลลาร์ที่แข็งค่ามากขึ้น การอ่อนค่าของค่าเงินประเทศตลาดเกิดใหม่ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลง และกระแสเงินทุนไหลเข้าที่ลดน้อยลง ปัจจัยลบทั้งหลายทำให้กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟยอมรับว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เมื่อ 2 เดือนที่แล้วว่าจะโต 3.3%

การสร้างสมดุลใหม่ทางเศรษฐกิจของจีนที่กำลังดำเนินอยู่ ถูกระบุว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบ ความที่เป็นตลาดใหญ่สำหรับสินค้าส่งออกของหลายประเทศ เพราะนอกจากมีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 ของโลกแล้ว ประชากรจีนยังมีจำนวนมากที่สุดในโลกอีกด้วย ดังนั้นการปรับสมดุลเพื่อหันไปเน้นการบริโภคแทนการส่งออกและลงทุน อันทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับไม่สูงลิ่วเหมือนก่อน จึงส่งผลกระทบต่อหลายประเทศ

ประธานธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย มองว่าแม้เศรษฐกิจจีนอาจไม่ขยายตัวสูงลิ่วในระดับ 10% เหมือนเมื่อก่อน แต่ก็ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วงของการปรับสมดุล อีกทั้งการบริโภคของจีนก็แข็งแกร่ง และภาคบริการมีศักยภาพมากในการขยายตัว สำหรับกรณีของตลาดหุ้นจีนที่ดำดิ่งนั้น ส่วนหนึ่งเพราะนักลงทุนวิตกว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลงอย่างรุนแรง แต่หากพิจารณาดูให้ดี จะพบว่าแม้ดัชนีคอมโพสิตในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ดิ่งลงมาก ก็ยังอยู่สูงกว่าระดับของปีที่แล้ว

ในสภาพที่มีสิ่งท้าทาย และความไม่แน่นอนรออยู่ข้างหน้ามากมาย รวมถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้าจะมีการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ ซึ่งจะพิจารณาถึงแนวนโยบายรวมถึงอัตราดอกเบี้ย อันเป็นการประชุมที่ทั่วโลกจับตาว่าจะมีการเริ่มปรับขึ้นหรือไม่นั้น ไม่เฉพาะไทยที่ต้องจับตาความเคลื่อนไหว รวมถึงจัดทำมาตรการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่อีกหลายประเทศก็เคลื่อนไหวในทำนองเดียวกัน และจัดทำมาตรการรับมือในรูปแบบที่เหมาะกับแต่ละประเทศ

มาตรการส่วนใหญ่ที่จัดทำกันนั้น รวมถึงการผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่อดึงดูดเม็ดเงินลงทุน และนโยบายที่เน้นการป้องกัน อย่างนโยบายการคลังที่ระมัดระวัง ควบคุมการขยายตัวของสินเชื่อในระดับที่มากเกิน รักษาทุนสำรองสกุลเงินต่างประเทศให้มีเพียงพอ และเพิ่มความเข้มแข็งแก่กฎระเบียบ ในส่วนของไอเอ็มเอฟก็แนะนำให้ประเทศพัฒนาแล้วและประเทศตลาดเกิดใหม่ กระตุ้นอุปสงค์ด้วยการปฏิรูปและการลงทุน เพื่อให้แน่ใจว่าความปั่นป่วนในตลาดเงินทั่วโลกและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จะไม่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศอื่น ประสบปัญหาไปด้วย

เส้นทางของการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้น ไม่สดใสนักสำหรับหลายประเทศในโลก เห็นได้จากการที่พากันปรับลดคาดการณ์ทางเศรษฐกิจ กระนั้นสถานการณ์ปัจจุบันก็ไม่ได้ถือว่าย่ำแย่หรือตกต่ำขนาดหนักไปเสียทีเดียว เพราะแม้แต่กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟยังระบุว่าประเทศในเอเชียสามารถรับมือความผันผวนล่าสุดได้ดี สะท้อนว่าช่วงที่ผ่านมาเอเชียมีฐานที่แข็งแกร่งขึ้นมาก และแน่นอนว่าในช่วงที่ความผันผวนยังไม่ยุติลง การประคองตัวเพื่อฟันฝ่าอุปสรรคหรือสิ่งท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกประเทศต้องลงมือทำ