ใส่เกียร์ 'ปลุก'ความเชื่อมั่นอุตฯไอซีที

ใส่เกียร์ 'ปลุก'ความเชื่อมั่นอุตฯไอซีที

“นายอุตตม สาวนายน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร หรือไอซีที รมต.ไอซีทีคนที่ 12

 ของไทย (เปลี่ยนกันปีต่อปี...) เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเป็นที่เรียบร้อย เข้าใจว่าขณะนี้ คงกำลังเร่งผลักดันโครงการต่างๆ ที่ยังคั่งค้าง ที่ยังรอการอนุมัติ รวมถึงเร่งวางนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมไอซีทีของไทย.. ฯลฯ

นับเป็น งานช้างเพราะแค่ต้องหาทาง พยุงปีก” 2 รัฐวิสาหกิจโทรคมก็เหนื่อยแล้ว... ยังไม่นับเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย 

นโยบายที่รัฐบาลนี้วางเอาไว้โดยเฉพาะ ดิจิทัล อีโคโนมี หากทำได้จะมีประโยชน์ต่อทั้งอุตสาหกรรม ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ เป็นนโยบายที่ต้องอาศัยความร่วมไม้ร่วมมือของทุกภาคส่วน แทบจะทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน เป็นนโยบายที่ควรต้องสานต่อ หรือหากต้องเปลี่ยนแปลง หรือปรับวิธีการ ก็ต้องทำให้ชัดเจน ไหนๆ ก็ตั้งนโยบายนี้ขึ้นมาแล้ว ที่ผ่านมาเชื่อว่า กระบวนการต่างๆ เริ่มทยอยปรับเปลี่ยน โดยเฉพาะร่างกฏหมายหลายฉบับ สำหรับสนับสนุน บังคับใช้ให้สอดคล้องกับนโยบายนี้

รวมถึงต้อง “ใส่เกียร์เร่ง” พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีต่างๆ ให้ดึงดูด พร้อมรองรับความต้องการทั้งผู้ที่จะเข้ามาลงทุน ภาคเอกชน รวมถึงประชาชนที่หวังใช้บริการเพิ่มความสะดวกสบายสอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก รวมถึงภาคบริการของรัฐเองด้วยต้องปรับเปลี่ยนให้เร็ว

จริงๆ แล้ว อุตสาหกรรมไอซีทีไทยช่วงทีี่ผ่านมา ฝั่งผู้ประกอบการมีความ พร้อมที่จะเดินไปสู่ยุคดิจิทัล ไม่ต่างกับต่างประเทศ แต่ที่ผ่านมาต้องยอมรับว่า การสนับสนุนจากภาครัฐอย่าง จริงจังและ ต่อเนื่องไม่ค่อยดีนัก ทำให้อุตสาหกรรมไอซีทีของไทยส่วนใหญ่ถูกขับเคลื่อนจากภาคเอกชน หรือผู้ประกอบการเองเป็นหลัก กลายเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องค่อยๆ เดินไปทีละก้าว ซึ่ง ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปทุกวินาที

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศของภูมิภาคนี้ที่ “นักลงทุนต่างชาติ” ยังให้ความเชื่อมั่น พร้อมใส่เงินลงทุนเพิ่มตลอด อย่างล่าสุด ยักษ์ไอทีญี่ปุ่นอย่าง “ฟูจิ ซีร็อกซ์” ก็เลือกไทยสร้างศูนย์นวัตกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียแปซิฟิก รองรับลูกค้าทั่วภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก รวมทั้งจีน เทเงินลงทุน 5 ล้านดอลลาร์สร้างศูนย์ขนาดใหญ่ใช้พื้นที่ถึง 3,600 ตารางเมตร

ผู้บริิหารระดับสูงของ ฟูจิ ซีร็อกซ์ บอกว่า เลือกประเทศไทยเนื่องจากเป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพเติบโตสูง ตลาดมีความหลากหลายพร้อมด้านบุคลากร สิ่งอำนวยความสะดวก และแม้บางช่วงจะมีเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมือง ภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม หรือแม้แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันอื่นๆ แต่บริษัทยังเชื่อมั่น ลูกค้าก็รู้สึกดีที่เข้ามาติดต่อธุรกิจในไทย

นี่คือความเชื่อมั่น...ที่ไทยยังได้รับความไว้วางใจ

ยังไม่นับรวมบริษัทด้านอินเทอร์เน็ตขนาดใหญ่ของโลก ที่เตรียมเข้ามาเปิดสำนักงาน โดยเฉพาะโซเชียล เน็ตเวิร์คเบอร์ 1 อย่าง “เฟซบุ๊ค” 

การครีเอทบริการใหม่ การลงทุนที่ต่อเนื่องของบริษัทไอทีระดับโลก อย่าง กูเกิล ยูทูบ ไลน์ ยังเห็นอยู่ต่อเนื่อง ผู้บริหารบริษัทเหล่านี้ มักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เพราะเขาเห็นศักยภาพของประเทศไทย เขาเห็นความพร้อมในการรับเทคโนโลยีของคนไทย ฯลฯ 

จึงเหลือเพียง “ภาครัฐ” ผู้กำหนดนโยบาย วางยุทธศาสตร์ ใส่ความ “จริงจัง จริงใจ ต่อเนื่อง” ช่วยขับเคลื่อนให้ภาพรวมแข็งแกร่งขึ้นเท่านั้น ...