ยาไทยแพร่ไปทั่วโลก?

ยาไทยแพร่ไปทั่วโลก?

ปรากฏการณ์ประท้วงรัฐบาลด้วยการสวมเสื้อสีเหลือง ออกมาปิดถนนโดยประชาชนของมาเลเซีย เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

สื่อบางสำนักมองว่า เป็นการลอกเลียนแบบคนไทย ซึ่งเริ่มใช้วิธีนี้เมื่อสิบปีก่อน แต่การมองเช่นนั้นอาจสั้นเกินไป ทั้งนี้ เพราะหากมองย้อนกลับไปให้ไกลสักนิดจะพบว่า ชาวฟิลิปปินส์สวมเสื้อสีเหลืองออกมาขับไล่ประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส อยู่นาน ก่อนที่จะประสบความสำเร็จเมื่อปี 2529 

ต้นตอที่ก่อให้เกิดการประท้วงและขับไล่ในทั้งสามประเทศเหมือนกัน นั่นคือ ประชาชนมองว่าหัวหน้ารัฐบาลและชนชั้นผู้นำฉ้อฉลจนทนไม่ไหว หากประชาชนไม่ทำอะไร ประเทศชาติจะเดินไปสู่ความล่มจม 

ชาวฟิลิปปินส์ขับไล่มาร์กอสสำเร็จ โดยทหารไม่ต้องออกมายึดอำนาจ หากเพียงประกาศว่า จะไม่สนับสนุนรัฐบาลต่อไป หลังถูกขับไล่ มาร์กอสหลบหนีไปตายในต่างแดน การประท้วงของผู้สวมเสื้อสีเหลืองในเมืองไทยนำไปสู่การยึดอำนาจโดยทหารสองครั้ง ในบรรดานายกรัฐมนตรีที่ถูกตราว่าฉ้อฉล คนหนึ่งตายในเมืองไทย ส่วนที่เหลือยังมีชีวิตอยู่ โดยคนหนึ่งหลบหนีคดีไปอยู่ยังต่างประเทศ สภาพการณ์ในขณะนี้บ่งชี้ว่า  โอกาสที่เขาจะกลับเข้าเมืองไทยแทบไม่มี ฉะนั้น เขาจะตายในต่างแดนเช่นเดียวกับมาร์กอส ส่วนการประท้วงของผู้สวมเสื้อสีเหลืองในมาเลเซียเพิ่งเริ่มต้น จึงยากที่จะฟันธงลงไปว่า จะจบลงอย่างไรในกาลข้างหน้า

หลังจากมาร์กอสถูกขับไล่ ความฉ้อฉลมิได้หมดไปจากในหมู่ผู้นำของฟิลิปปินส์ ประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง โจเซฟ เอสตราดา ถูกประชาชนขับไล่และต่อมาถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม เขาได้รับอภัยโทษจากประธานาธิบดีกลอเรีย มาคาปากัล-อาร์โรโย ซึ่งต่อมาถูกจับในข้อหาฉ้อฉลเช่นกัน ในปัจจุบันเธอถูกคุมขังอยู่ในโรงพยาบาล เนื่องจากอ้างว่าป่วยจนเข้ากระบวนการยุติธรรมไม่ได้ ในขณะนี้ยังไม่เป็นที่ประจักษ์อย่างแน่ชัดว่า ประธานาธิบดีคนล่าสุดของฟิลิปปินส์ ฉ้อฉล หรือปล่อยให้คนรอบข้างทำ ในสายตาของประชาชน ความฉ้อฉลโดยทั่วไปในฟิลิปปินส์คงลดลงบ้างแล้ว เนื่องจากเป็นเวลาหลายปีที่ไม่มีการเคลื่อนไหวจำพวกขับไล่ประธานาธิบดีเกิดขึ้นอีก   

ส่วนเรื่องของเมืองไทยย่อมเป็นที่รับรู้กันอยู่แล้วว่า หลังทหารยึดอำนาจเมื่อปี 2549 ความฉ้อฉลในหมู่ชนชั้นผู้นำมิได้หมดไป ซ้ำร้ายมันอาจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ประชาชนออกมาต่อต้านจนนำไปสู่การยึดอำนาจโดยทหารอีกครั้งเมื่อปี 2557 ในขณะนี้ยังฟันธงลงไปไม่ได้ว่า หัวหน้ารัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ จะสามารถขจัดความฉ้อฉลให้หมดไปจากในหมู่ชนชั้นผู้นำ ตามที่เขาให้คำมั่นสัญญาว่ากำลังทำอยู่ได้หรือไม่ หากทำไม่ได้ เป็นไปได้สูงว่าประชาชนจะออกมาขับไล่รัฐบาลต่อๆ ไปเมื่อเวลามาถึง 

อนึ่ง หากมองต่อไปให้กว้างขึ้นจะพบว่า ปรากฏการณ์ในแนวเดียวกันนี้ มิได้จำกัดอยู่แค่ในพื้นที่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น หากได้ขยายออกไปยังหลายส่วนของโลกแล้ว ในย่านตะวันอกลางและทางแอฟริกาตอนเหนือ เริ่มเกิดเหตุการณ์ที่สื่อเรียกกันว่า Arab Spring หรือ “ฤดูใบไม้ผลิแห่งโลกอาหรับ” เมื่อปี 2553 ประชาชนออกมาขับไล่รัฐบาลฉ้อฉล จนประสบความสำเร็จในหลายประเทศด้วยกัน แต่รัฐบาลที่เข้ามาแทนที่จะฉ้อฉลอีกหรือไม่ ยังเร็วเกินไปที่จะฟันธง ยิ่งกว่านั้น การต่อสู้กันยังดำเนินต่อไปในบางประเทศโดยเฉพาะในเยเมน ซึ่งกลายเป็นรัฐล้มเหลวที่กำลังเกิดสงครามกลางเมือง

ในละตินอเมริกา ซึ่งอยู่คนละฟากโลกกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วงนี้กำลังมีการขับไล่รัฐบาลฐานฉ้อฉลในกัวเตมาลา ฮอนดูรัส และบราซิล กัวเตมาลาอยู่ในอเมริกากลาง มีประชากรราว 16 ล้านคน และยังมีระดับการพัฒนาล้าหลังไทยในหลายด้าน แต่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง อย่างไรก็ดี มีความฉ้อฉลอย่างกว้างขวางเกิดขึ้นในหมู่ชนชั้นผู้นำที่อยู่ในรัฐบาล ประชาชนจึงต้องการให้ประธานาธิบดีลาออก เพื่อรับผิดชอบโดยออกมาประท้วงอย่างต่อเนื่องสัปดาห์ละครั้ง ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา

ฮอนดูรัสซึ่งอยู่ในอเมริกากลางเช่นกัน มีประชากรราว 8 ล้านคน และยากจนกว่ากัวเตมาลา ประชาชนออกมาประท้วงรัฐบาลฐานฉ้อฉล ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ชาวฮอนดูรัสออกมาประท้วงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสัปดาห์ละครั้ง โดยออกมาตอนพลบค่ำ และจุดคบไฟที่ทำจากไม้ไผ่ให้เกิดแสงสว่าง การจุดคบไฟเป็นการส่งสัญญาณถึงรัฐบาลว่า ประชนต้องการความโปร่งใส

สำหรับในบราซิลซึ่งเป็นประเทศขนาดใหญ่ในละตินอเมริกา ที่มีประชากรถึง 205 ล้านคน และพัฒนาไปไกลกว่าสองประเทศในอเมริกากลางที่อ้างถึง ประชาชนออกมาประท้วงเป็นระยะๆ เพื่อหวังจะโค่นประธานาธิบดีที่มาจากการเลือกตั้ง ในกรณีนี้ ที่มาของความฉ้อฉลอันสำคัญ ได้แก่ บริษัทน้ำมันของรัฐซึ่งหลักฐานบ่งว่าฉ้อฉล และจ่ายสินบนจำนวนมากให้แน่นักการเมืองในพรรครัฐบาล แม้จะไม่มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าตัวประธานาธิบดีเองรู้เห็นเป็นใจ หรือมีส่วนในการรับสินบนด้วย แต่เนื่องจากเธอเคยเป็นประธานกรรมการของบริษัทน้ำมัน ก่อนชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดี ความสงสัยจึงเกิดขึ้นในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง

การออกมาประท้วงเพื่อขับไล่รัฐบาล เปรียบเสมือนการพยายามให้ยารักษาโรค ซึ่งสร้างความเจ็บไข้ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างกว้างขวางในช่วงเวลา 50 ปีที่ผ่านมา แต่มีไม่กี่ประเทศที่รักษาโรคความฉ้อฉลได้ในช่วงเวลาดังกล่าว สิงคโปร์และเกาหลีใต้ เป็นเพียงไม่กี่ประเทศที่ทำได้สำเร็จ จึงพัฒนารุดหน้าไปได้ไกลมาก ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่รวมทั้งเมืองไทยทำไม่สำเร็จ เพราะปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน ฉะนั้น จึงยังล้มลุกคลุกคลานกันอยู่ ซ้ำรายบางประเทศได้กลายเป็นรัฐล้มเหลว จนแทบหมดโอกาสที่จะพัฒนาไปแล้ว