โรงไฟฟ้าถ่านหิน นานาชาติเอาหรือไม่

โรงไฟฟ้าถ่านหิน นานาชาติเอาหรือไม่

ที่ผ่านมามีข่าวคราวการต่อต้านโรงไฟฟ้ากระบี่ของไทย จนถึงกับมาประท้วงถึงหน้าทำเนียบ ทำเอาท่านนายกฯ

ต้องกลับออกทางประตูหลังเพื่อลดการเผชิญหน้า เรื่องโรงไฟฟ้าในฐานะอสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่งนี้ แท้จริงในต่างประเทศเป็นอย่างไรบ้าง

ไฟฟ้าจากถ่านหิน พลังงานสะอาด!

อันที่จริงถ่านหินอยู่ในช่วง "ขาขึ้น" คือมีการใช้สอยกันมาก นัยว่าแม้ถ่านหินสกปรก แต่มีกระบวนการผลิตที่สะอาด ต่างจากพลังงานจากแดดที่สะอาด แต่มีความสกปรกด้านการจัดซื้อ เพราะราคาแสนแพง ทั้งที่แทบไม่มีเทคโนโลยีอะไรเลย เท่ากับมีการโกงกันแต่แรกแล้ว จนทำให้ราคาขายไฟฟ้าต่อหน่วยสูงกว่าการผลิตจากแหล่งอื่น เช่น จากถ่านหรือแก๊สธรรมชาติถึง 3 เท่าตัว นี่เท่ากับเป็นการผลักดันไทยให้ต้องพึ่งพิงเทคโนโลยีในราคาแพง ถือเป็นการทำลายผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ

อันที่จริงกรีนพีซเองก็ยังยอมรับว่า มาเลเซียซึ่งมีน้ำมันและแก๊สมหาศาลกว่าไทย ยังจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินจากร้อยละ 33 ในปัจจุบันเป็นร้อยละ 64 ภายในปี 2562 (http://bit.ly/1MMKose) ผมจึงแปลกใจว่า แล้วทำไมไทยกลับถูกขัดขวางไม่ให้ใช้ถ่านหิน ที่มีกระบวนการผลิตที่สะอาดปลอดภัย ซึ่งได้รับการพิสูจน์ในมาเลเซีย สิงคโปร์ จีน อินเดีย ฯลฯ

การใช้ถ่านหินผลิตไฟฟ้า ใช้ถึงประมาณ 41% ทั่วโลก (http://bit.ly/1PKNOLA) ในอนาคตยังจะมีการใช้พลังงานจากถ่านหินอีกมาก เทคโนโลยีโรงไฟฟ้าถ่านหินยุคใหม่ คือการไม่เพิ่มมลภาวะทางอากาศ จนกลายเป็นเทคโนโลยี (ถ่านหิน) สะอาด Clean Coal Technology ไม่ใช่ถ่านหินสะอาดที่ก่อมลภาวะเกือบเท่าศูนย์ (Near-zero Emissions) (http://bit.ly/1O7qCXi)

อย่ากลัว โรงงานถ่านหินมีอยู่ทั่วไป

คณะนักวิจัยสหวิชาชีพของสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ (MIT) ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับถ่านหินไว้เมื่อปี 2550 และพบว่า แม้ถ่านหินจะเป็นพลังงานที่ไม่สะอาด เช่น นิวเคลียร์ แต่สามารถที่จะทำให้กระบวนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินสะอาดได้ และมีความจำเป็นในการใช้ถ่านหินเพิ่มขึ้น ถ่านหินมีราคาถูกและมีปริมาณมหาศาลในโลกนี้ จึงเหมาะที่จะนำมาใช้ ในเชิงเทคโนโลยีสามารถทำให้กระบวนการผลิตไฟฟ้าสะอาดได้แน่นอน (http://bit.ly/1O7qHub)

ทุกวันนี้ไทยมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน 5 โรง และในประเทศเพื่อนบ้านเราต่างมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน เช่น อินเดีย139 โรง จีน 80 โรง ออสเตรเลีย 32 โรง ญี่ปุ่น 31 โรง อินโดนีเซีย 19 โรง ฟิลิปปินส์ 9 โรง เวียดนาม 8 โรง  มาเลเซีย 7 โรง แม้แต่ไต้หวัน ฮ่องกง ศรีลังกา เมียนมา และสิงคโปร์ ก็ยังมีโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยไม่กลัว (มาก) เช่นในประเทศไทย

กรณีศึกษามาเลเซีย

สำหรับโรงไฟฟ้าถ่านหินมาเลเซีย มีดังนี้

1.Jimah Power Station โรงงานนี้สร้างอยู่ริมทะเล ไม่ได้สร้างอยู่บนฝั่ง เช่น โรงไฟฟ้ากระบี่ ที่สำคัญอยู่ใกล้แหล่งรีสอร์ตขนาดใหญ่ที่สวยงาม และชุมชน เคยมีผู้ร้องว่าจะไม่ปลอดภัยต่อชุมชนเมื่อปี 2552 แต่จนบัดนี้ก็ไม่เคยมีข่าวใหญ่เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย เมื่อตรวจสอบจากความเห็นทั้งทางบวกและลบต่อรีสอร์ตใกล้โรงไฟฟ้า ก็ไม่มีใครบ่นเรื่องนี้แต่อย่างใด

2.โรงไฟฟ้า Manjung ก็สร้างออกมานอกฝั่งเล็กน้อย อยู่ใกล้รีสอร์ตและชุมชน แต่ก็ไม่มีเสียงบ่นเกี่ยวกับเรื่องนี้ นี่แสดงให้เห็นชัดว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ได้มีผลเสียอย่างเด่นชัดต่อชุมชนดังที่พวก NGOs พยายามสร้างภาพให้กลัว

3.โรงไฟฟ้า KPAR ตั้งอยู่ห่างจากกรุงกัวลาลัมเปอร์เพียง 56 กิโลเมตรเท่านั้น ถือว่าใกล้มาก เช่นระยะทางจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย (กม.0) ไปถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต (กม.42 จากดินแดง) ขนาดชาวกรุงกัวลาลัมเปอร์ยังไม่กลัว โรงงานก็สร้างก่อนไทยที่จะมีเทคโนโลยีที่ใหม่กว่าเสียอีก

4.โรงไฟฟ้าถ่านหิน Tangjung Bin ของมาเลเซียนี้ อยู่ติดชายแดนสิงคโปร์ ถ้ามีปัญหา สิงคโปร์ก็คงไม่ยอมเช่นกัน นี่ก็เป็นข้อพิสูจน์ถึงความปลอดภัยของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตีโต้ความเชื่อผิดๆ ของ NGOs

โรงไฟฟ้าทุกโรงของมาเลเซีย อยู่ติดทะเลเลย อยู่ติดพื้นที่ชุ่มน้ำก็มี ไร้ปัญหา แม้แต่สิงคโปร์ก็เริ่มมีโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว ในนครสีหนุวิลล์ ซึ่งเป็นเมืองตากอากาศอันดับหนึ่งของกัมพูชา ก็มีโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ลงทุนโดยนักลงทุนมาเลเซียโรงหนึ่ง และของจีนอีกด้วย ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหิน BLCP ของไทยที่ระยอง ก็อยู่กลางทะเล นี่ถือเป็นบทพิสูจน์ความปลอดภัยว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินสมัยใหม่มีความปลอดภัย

ผลการศึกษาบอกว่าไม่มีอันตราย

จะเห็นได้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่มีผลต่อสุขภาพของประชาชน ตามที่พวกต่อต้านพยายามสร้างความหวาดกลัวเลย ทั้งนี้ เป็นผลการศึกษาของอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมาเลเซีย มหาวิทยาลัยเคบังซาน ร่วมกับนักวิจัยอิสระ ซึ่งผลการศึกษานี้ได้นำเสนอในที่ประชุมวิชาการนานาชาติ เมื่อเดือนมิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา (http://goo.gl/BHb6yb) ดังนั้น รัฐบาลจึงไม่ควรเชื่อคำพูดข่มขู่ให้ประชาชนหวาดกลัวแต่อย่างใด

อาจมีคนทำวิจัยออกมาว่ามีผลเสียต่อสุขภาพบ้าง แต่สิ่งที่พิสูจน์ได้มากกว่าผลวิจัยก็คือ หลังจากโรงไฟฟ้าอยู่ในพื้นที่มาหลายปี ก็ไม่มีเสียงบ่นดังๆ จากประชาชน หรือนักท่องเที่ยวที่ไปใช้บริการรีสอร์ต โรงแรมต่างๆ แต่อย่างใด การลวงคนด้วยการขายความกลัวนั้น ประชาชนอย่าได้หลงเชื่อ พวก NGOs คงไม่มาร่วมรับผิดชอบหากขาดแคลนพลังงานแต่อย่างใด (http://bit.ly/1MCbFiw)

จะสังเกตได้ว่า กระบี่มีโรงไฟฟ้าลิกไนต์ตั้งแต่ปี 2509-2538 แต่รีสอร์ตต่างๆ ก็เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ไม่มีท่าทีเกรงกลัวโรงไฟฟ้า ดูท่าแล้วเราสร้างโรงไฟฟ้าที่กระบี่น่าจะทำได้ครับ