การให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ

การให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2557

ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2557 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม นอกจากจะมีปัญหาความไม่ครบถ้วนที่ไม่มีคำปรารภ อันถือเป็นบทบัญญัติส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญแล้ว ยังมีประเด็นข้อที่ขัดต่อกฎหมายและตามกฎตรรกะ ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติจะต้องพิจารณามีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ “ทั้งฉบับ” ดังนี้

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่มีทั้งหมด 285 มาตรา

มีประเด็นที่เกี่ยวข้องนับเป็นร้อยๆ กว่าประเด็น ที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจำนวน 250 คน จะต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ

ไม่ใช่เรื่องแปลกหากว่าบางประเด็น บางมาตราของร่างรัฐธรรมนูญ จะมีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ถูกใจและไม่ถูกใจ

ไม่ใช่เรื่องแปลก หากว่าบางคนจะเห็นด้วยในบางมาตรา บางประเด็น และมีอีกบางประเด็นหรือบางมาตราที่ไม่เห็นด้วยในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และความจริงก็ควรที่จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องนี้

แต่การที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558 มาตรา 37 บัญญัติให้สภาปฏิรูปและในการลงมติของประชาชนจะต้อง “ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญนั้นทั้งฉบับ” นั้น

อ่านกันอย่างเผินๆ ก็อาจนึกว่าเป็นเพียงพลความ แต่ความเป็นจริงแล้ว คำว่า “ทั้งฉบับ” เป็นใจความที่เน้นไว้ในมาตรา 37 นี้อย่างชัดเจน การบัญญัติที่พ้นวิสัยอย่างนี้มีมาแล้วในรัฐธรรมนูญ 2550 จึงต้องไปตัดคำว่า “ทั้งฉบับ” ออกจากบัตรออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น (ขอโปรดย้อนไปดู)

แต่ที่เน้นคำนี้ไว้ไม่อาจที่จะหยั่งทราบถึงเจตนาที่แท้จริงได้

ข้อความนี้ มีความชัดเจน แต่เป็นการบัญญัติให้ทำในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือเป็นการพ้นวิสัย ด้วยเหตุผลทั้งข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และหลักตรรกะ ดังนี้

1. ร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่จะให้สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาให้ความเห็นหรือไม่เห็นชอบทั้งฉบับในวันที่ 6 กันยายน 2558 ในอนาคตอันใกล้อีกไม่กี่วันนี้ ย่อมประกอบด้วย คำปรารภที่ไม่มีตามที่ทราบกันแล้ว

2 .แต่มีภาค หมวด ส่วน ตอนต่างๆ และบทเฉพาะกาลด้วย

ภาคจะประกอบด้วยหมวดต่างๆ

หมวดต่างๆ แต่ละหมวด ย่อมประกอบด้วยมาตราต่างๆ

มาตราต่างๆ แต่ละมาตรานั้น แต่ละมาตราย่อมประกอบด้วยวรรค ต่างๆ

วรรคต่างๆ แต่ละวรรคนั้น แต่ละวรรคย่อมประกอบด้วยประพจน์หรือประโยค (Statement) ต่างๆ

ประพจน์หรือประโยคต่างๆ แต่ละประพจน์หรือประโยคอาจเป็นสิ่งที่คนเห็นชอบหรือสิ่งที่คนไม่เห็นชอบ เป็นอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น

เป็นไปไม่ได้เลยที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติจำนวนสองร้อยห้าสิบคน จะเห็นชอบ ทุกประพจน์หรือทุกประโยค ซึ่งก็คือทุกมาตรา จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะเห็นชอบทุกหมวด ทั้งฉบับ

อีกทั้งเป็นไปไม่ได้เลยที่จะไม่เห็นชอบ ทุกประพจน์หรือทุกประโยค ซึ่งก็คือทุกมาตรา จึงเป็นไปไม่ได้ที่ไม่เห็นชอบทุกหมวด ทั้งฉบับ

บทบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา ตรงนี้ จึงบัญญัติในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือการพ้นวิสัย

เพราะบัญญัติในสิ่งที่ไม่ดำรงอยู่จริง

ผลคือบัญญัติในสิ่งที่เป็นเท็จ ย่อมทำลายตัวเอง ใช้บังคับไม่ได้ไม่ว่าสภาปฏิรูปแห่งชาติจะมีมติอย่างไรในวันที่ 6 กันยายน 2558

พิจารณาจากกฎตรรกะ (Logic)

(1)สิ่งที่เป็นไม่ได้ คือสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ใครบัญญัติสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ คือผู้ที่บัญญัติสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง หรือบัญญัติความเป็นเท็จ

รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่มาจากบทบัญญัติ สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ คือมาตรา 37 เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เฉพาะในส่วนดังกล่าวนี้ มาจากสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง นั่นก็คือรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในส่วนนี้มาจากบทบัญญัติความเป็นเท็จ ประกาศใช้เมื่อใด ก็เป็นเท็จเมื่อนั้น ย่อมไม่มีผลใช้บังคับได้

(2)  ทั้งฉบับ คือ ทั้งเซต (set)

หมวด คือ อนุเซต (subset) ของทั้งฉบับ

มาตรา คือ อนุเซตของหมวด

ประพจน์หรือประโยค คือ อนุเซตของมาตรา

เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบทั้งฉบับ = เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบทุกประพจน์หรือทุกประโยค ซึ่งมีเป็นร้อยๆ พันๆ ประพจน์หรือประโยค

เป็นไปไม่ได้ หรือเป็นการพ้นวิสัยที่บุคคลจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบทุกประพจน์หรือทุกประโยค

ข้อเสนอแนะในเชิงปรึกษากับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องโดยตรง ซึ่งได้แก่ท่านประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้โปรดพิจารณาถามตัวท่านเองว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะ “เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบทั้งฉบับ”

ถ้าเป็นไปไม่ได้ควรจะแก้ไขอย่างไร มิใช่เพียงพูดว่า ไม่มีหน้าที่จะส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

ถ้าการเป็นว่าต้องการให้ “เห็นชอบ” หรือ “ไม่เห็นชอบ”ที่ไม่ขัดต่อหลักกฎหมายและกฎตรรกะก็ตามที โดยตัดคำว่า “ทั้งฉบับ” ออกไป เหลือเพียงความให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในรัฐธรรมนูญ เพียงเท่านี้ จะมีคำว่า “ทั้งฉบับ” ตามมาไม่ได้ (ขอให้ดูตัวอย่างในรัฐธรรมนูญทุกฉบับและร่างใหม่ในมาตรา 192 วรรคสาม ที่บัญญัติในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายของวุฒิสภาที่ต้องให้ความ “เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ” เท่านั้น ไม่มีคำว่า “ทั้งฉบับ” แต่อย่างใด เป็นการบัญญัติที่ถูกทั้งหลักกฎหมายและกฎตรรกะ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่สมาชิกทุกคนจะต้องเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ร่างงบประมาณรายจ่ายทุกวงเงินและทุกรายการที่มีหลากหลาย)

แต่การแก้ไขเรื่องนี้ มาถึงวันนี้นับว่าเป็นเรื่องยาก หรือไม่อาจที่จะกระทำได้ทัน เพราะจะต้องมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว

นอกจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่มีคำปรารภเป็นร่างที่ไม่ครบถ้วนสมบูรณ์จึงต้องตกไปทั้งฉบับ จึงไม่มีร่างที่จะให้สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาในวันที่ 6 กันยายน 2558 นี้ จึงต้องขอฝากความหวังนี้ไว้ที่ท่านนายกรัฐมนตรีที่จะต้องเร่งด่วนส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญ

ผมนั้นไม่เสนอแนะให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติใช้มาตรา 44 แก้ไขในเรื่องนี้ครับ

 -----------------------

ปรีชา สุวรรณทัต