สถาบันขงจื๊อ: จีนกับการแผ่ขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรม

สถาบันขงจื๊อ: จีนกับการแผ่ขยายอิทธิพลทางวัฒนธรรม

หลายปีมานี้ ผู้อ่านอาจรู้จัก “สถาบันขงจื๊อ” (Confucius Institute) กันมาบ้าง บางทีเรียกสั้นๆ ว่า ฮั่นปั้น (Hanban)

 สถาบันสอนภาษาจีนและการเผยแพร่วัฒนธรรมจีน ซึ่งอาจเหมือนกับสถาบันภาษาอย่างเกอเธ่ หรือบริติช เคานซิล แต่ที่ผ่านมาสถาบันขงจื๊อถูกวิจารณ์จากวงวิชาการว่า เป็นหนึ่งในเครื่องมือทางวัฒนธรรม ที่รัฐบาลจีนภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์ ใช้แผ่ขยายอิทธิพลออกไปต่างประเทศ

การรื้อฟื้นปรัชญาขงจื๊อกลับมา เกิดขึ้นโดยรัฐบาลจีนช่วงทศวรรษ 2000 จากข้อเสนอของเจียง เจ๋อหมิน ที่ว่า วัฒนธรรมก้าวหน้าของสังคมนิยมในจีนร่วมสมัย จำเป็นต้องมุ่งไปที่การพัฒนาวัฒนธรรมสังคมนิยม ที่มีลักษณะเฉพาะแบบจีน และส่งเสริมความก้าวหน้าทางจริยธรรมอุดมการณ์สังคมนิยม ที่นี้เน้น 3 ส่วน คือ สังคมนิยมแบบมาร์กซิส-เลนินนิสต์ ความคิดของเหมา เจอตุง และทฤษฎีของเติ้ง เสี่ยวผิง ที่ต้องผสมกันอย่างลงตัว

ช่วงเวลานั้น แคมเปญนี้เป็นไปเพื่อรักษาสถานภาพของพรรคคอมมิวนิสต์ เอาไว้ให้เป็นผู้นำทางวัฒนธรรม ศีลธรรม และอุดมการณ์ โดยไม่ได้เอ่ยถึงปรัชญาขงจื๊อแม้แต่น้อย ต่อมาสมัยหู จิ่นเทา เริ่มให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมก้าวหน้า เน้นการทำให้อดีตรักษาปัจจุบัน จากนั้นพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เอาปรัชญาขงจื๊อ มาเป็นเครื่องมือในการรักษาอุดมการณ์เอาไว้ แต่เมื่อรัฐบาลจีนส่งเสริมปรัชญาขงจื๊อ และเป็นรับรู้ของคนจีนมากขึ้น ก็พบว่ามีการตีความและหยิบใช้อย่างหลากหลาย เช่น ปรัชญาขงจื๊อในฐานะสกุลความคิด การศึกษา ศาสนา หรือหลักจริยธรรมทางการค้า

ซูฟาง หวู่ หนึ่งในนักวิชาการจีนศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม มองว่า ปรัชญาขงจื๊อในยุคนี้เป็นเพียงโครงการทางการเมือง ที่รัฐบาลจีนพยายามรักษาสถานภาพของพรรคฯเอาไว้ ในช่วงที่อุดมการณ์คอมมิวนิสต์เริ่มเสื่อม ขณะที่ความคิดแบบชาตินิยมจีนกำลังเกิดขึ้น รัฐบาลจีนจึงต้องหายุทธวิธีพัฒนาอุดมการณ์ เพื่อรักษาความเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมในสังคมจีนเอาไว้ โดยไม่กระทบความสัมพันธ์กับตะวันตก ดังนั้น ปรัชญาขงจื๊อที่เคยเป็นแกนกลางในอดีต จึงถูกนำมาใช้เป็นพื้นฐานเชิงอุดมการณ์และเป็นฐานระบบคุณค่าในการตระหนักถึงตัวตนวัฒนธรรมจีน และถือเป็นยุทธศาสตร์ทางการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเพื่อสร้างความเป็นผู้นำทางวัฒนธรรม

จากนั้นรัฐบาลจีนขยายอิทธิพลทางความคิดแบบขงจื๊อออกไปในเชิงสถาบัน มีการส่งออกสถาบันขงจื๊อไปยังทั่วโลก จนนักวิชาการด้านเอเชียศึกษาเริ่มมองว่า การก่อตั้งสถาบันขงจื๊อของรัฐบาลจีนในต่างประเทศ เป็นนโยบายทางการเมืองในการแผ่ขยายอิทธิพลของจีนออกไป ผ่านนโยบายการใช้อำนาจละมุน เช่น ในงานประชุมสัมมนาระดับสากลจัดที่ไต้หวันเมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ก็พูดถึงเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง

นอกจากนี้ กรณีที่รัฐบาลจีนเคยคิดว่า จะไม่กระทบกับความสัมพันธ์กับตะวันตก ก็เห็นท่าจะไม่จริง เพราะนับตั้งแต่ตั้งสถาบันขงจื๊อในต่างประเทศมาในช่วงกลางทศวรรษ 2000 ถึงปัจจุบัน กลับพบปัญหามากมาย มาร์แชล ซาห์ลินส์ ถึงกับเขียนหนังสือเรื่อง Confucius Institute: Academic Malware (2015) วิจารณ์ว่า สถาบันขงจื๊อเปรียบเสมือนมัลแวร์ ที่จีนใส่ผ่านสถาบันขงจื๊อไปทั่วโลก เพื่อแผ่ขยายอิทธิพลจีนออกไป โดยเอาสถาบันขงจื๊อไปตั้งไว้ในมหาวิทยาลัยชื่อดัง และไม่ดังทั่วโลก ทั้งในสหรัฐฯ ออสเตรเลีย และยุโรป จนสถาบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยนั้นๆ พร้อมกับสนับสนุนเงิน อาสาสมัครและอื่นๆ ให้ แต่ปัจจุบันกลับพบว่า มหาวิทยาลัยจำนวนมากต่างทยอยยกเลิกการตั้งสถาบันขงจื๊อในมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยชิคาโก เพนซิลวาเนีย ฮาร์วาร์ด เยล ยูซีแอลเอ โอเรกอนในสหรัฐ และในออสเตรเลีย เช่น เมลเบิร์น ส่วนในยุโรป เช่น โคเปนเฮเกน ฯลฯ

เหตุผลหลักที่มหาวิทยาลัยเหล่านี้ยกเลิก เพราะ ประการแรก สถาบันขงจื๊อเข้าไปก้าวก่ายในเสรีภาพทางการศึกษาของมหาวิทยาลัยเหล่านี้ ทั้งการจัดการเรียนการสอน การประเมินผล และโดยเฉพาะประเด็นการศึกษาที่รัฐบาลจีนถือว่าเป็นเรื่อง “ต้องห้าม” คือ ทิเบต ไต้หวัน สิทธิมนุษยชน แต่มหาวิทยาลัยเหล่านี้กลับมองว่า เป็นเสรีภาพทางความคิด

ประการที่สอง มหาวิทยาลัยเหล่านี้เริ่มเห็นว่า สถาบันขงจื๊อไม่ใช่สถาบันการศึกษาอิสระ เพราะมีโครงสร้างองค์กรที่ถูกควบคุมโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ภายใต้ Chinese Communist Party’s Propaganda Department ตามการจัดโครงสร้างใหม่ของพรรคและรัฐบาลจีน ดังนั้น สถาบันขงจื๊อจึงไม่เหมือนกับสถาบันส่งออกวัฒนธรรมที่อื่นๆ เช่น สมาคมฝรั่งเศส เกอเธ่ ที่ตั้งอยู่นอกรั้วมหาวิทยาลัย และทำงานแยกจากมหาวิทยาลัย

ที่ผ่านมามีกรณีความขัดแย้งเกิดขึ้นที่ยกตัวอย่างได้ เช่น สถาบันขงจื๊อห้ามไม่ให้สอนในห้องเรียน เรื่อง ไต้หวัน ทิเบต ทาไลลามะ ซินเจียง ในมหาวิทยาลัยชิคาโก หรือกรณีอาจารย์อาสาสมัครจีนจากสถาบันขงจื๊อบอกกับนักศึกษาที่เรียนว่า ไต้หวันเป็นของจีน จนเกิดความสับสนกับนักศึกษาตะวันตกเชื้อสายจีน ที่อพยพออกมาจากประเทศจีน ด้วยสาเหตุการเปลี่ยนแปลงการปกครองในจีน จนเกิดการร้องเรียนของผู้ปกครองชาวไต้หวันในสหรัฐ กรณีความขัดแย้งร้ายแรง เช่น เมื่อ ก.ค.2014 สมาคมจีนศึกษาแห่งยุโรปจัดงานประชุมวิชาการขึ้น แต่ผู้อำนวยการสถาบันขงจื๊อในยุโรป ได้เข้าไปก้าวก่ายเซ็นเซอร์เอกสารการประชุม ขอให้ฉีกเอกสารหน้าที่เกี่ยวข้องกับการให้ทุนของมูลนิธิ Chiang Ching Kuo ของไต้หวันออก มิเช่นนั้นจะถอนเงินสนับสนุนจำนวนหลายหมื่นยูโรออกไปจากการประชุม

สำหรับประเทศไทยมีสถาบันขงจื๊ออยู่ 24 แห่ง ตั้งอยู่ภายในรั้วมหาวิทยาลัยกระจายไปทั่ว และมีห้องเรียนภาษาและวัฒนธรรมจีนอีกมาก ในระดับมัธยมศึกษาตามโรงเรียนต่างๆ มีอาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยในจีนเข้ามาช่วยสอนภาษาจีน เหยียน วันฉิน ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติเวียดนามได้เขียนบทความ ว่าด้วยการแผ่ขยายของจีนผ่านสถาบันขงจื๊อในเขตลุ่มน้ำโขง พบว่าประเทศไทยแตกต่างไปจากที่อื่น ไทยให้การต้อนรับอย่างดี เพราะมองว่าเป็นโอกาสในการเรียนภาษาจีน และกระชับความสัมพันธ์กับจีน ขณะที่เวียดนาม อินโดนีเซีย ยังมีปัญหา เพราะไม่แน่ใจในจุดประสงค์ของรัฐบาลจีน

...เพื่อนบ้านเรา เขาก็ค่อนข้างระวังตัว แต่ของเรา ก็ลองพิจารณาดู...

 --------------------

ผศ.ดร.อรัญญา ศิริผล

คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นักวิจัยฝ่ายนโยบายชาติและความสัมพันธ์ข้ามชาติ สกว.