ขุมทรัพย์ใกล้ตัว

ขุมทรัพย์ใกล้ตัว

เหตุการณ์ในโลกเศรษฐกิจการเงินปัจจุบัน ทำให้นักธุรกิจและนักลงทุนทั้งหลาย ต้องคิดอย่างรอบคอบ

ก่อนที่จะเหยียบย่างไปลงทุนที่ใด เพราะในระดับโลก แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ เป็นผลลบต่อการลงทุนอย่างไม่ต้องสงสัย ขณะที่กระแสความผันผวนในตลาดการเงินจีน ก็ทำให้ความเสี่ยงในการลงทุนในจีนและกลุ่มประเทศที่ส่งออกไปจีนมีมากขึ้นเช่นกัน

ขณะที่หันมามองไทย โอกาสข้างหน้าหาได้สดใสแต่อย่างใดไม่ ไม่ว่าจะมองระยะสั้นจากการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคและลงทุนที่ซึมเซา หรือจะมองระยะยาวจากจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น จนทำให้กำลังแรงงานลดลง ขณะที่ผลผลิตของภาคเกษตรและอุตสาหกรรมไทยที่ลดลงต่อเนื่อง กระนั้นก็ตาม แม้การลงทุนในระดับโลกและระดับประเทศจะไม่สดใส แต่หน้าต่างแห่งโอกาสยังพอที่จะเปิดอยู่บ้าง นั่นคือหนทางการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านของเรานั่นเอง

เป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักธุรกิจและนักลงทุนว่า ในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านของไทยอันได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม (CLMV) นั้น ยังเป็นโอกาสให้กับนักธุรกิจและนักลงทุนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เริ่มต้นขึ้น อย่างไรก็ตาม การลงทุนในประเทศเหล่านี้ยังคงมีความเสี่ยงสูง เนื่องจากเพิ่งเปิดประเทศ (หรือที่เรียกกันว่าประเทศชายขอบหรือ Frontier Markets) ดังนั้น กฎระเบียบ รวมถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของประเทศยังไม่มีข้อมูลชัดเจนและเข้าถึงง่าย เช่นเดียวกับตลาดของประเทศพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่ (Developed and Emerging Markets)

ดังนั้น ผู้เขียนขออนุญาตวิเคราะห์ถึงศักยภาพและความเสี่ยงของ 3 ประเทศเพื่อนบ้านสำคัญของไทย อันได้แก่ เวียดนาม กัมพูชา และลาว โดยขอแบ่งการวิเคราะห์เป็น 2 จุดใหญ่ อันได้แก่ จุดแข็งและจุดอ่อน

ในส่วนของจุดแข็งของประเทศเหล่านี้ ได้แก่ การขยายตัวเศรษฐกิจที่ผ่านมา และศักยภาพของเศรษฐกิจในอนาคต โดยหากพิจารณาทั้งประเด็นดังกล่าว จะพบว่าเศรษฐกิจของทั้งสามประเทศสามารถขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งในระดับ 6-8% ต่อปีมาโดยตลอด โดยในส่วนของเวียดนามนั้น การที่ทางการมีนโยบายชัดเจนที่จะเปิดประเทศและเข้าร่วมกับองค์กรการค้าโลก ทำให้การส่งออกของเวียดนามเติบโตอย่างก้าวกระโดด (จาก 41% ต่อ GDP เป็น 81% ในปัจจุบัน) และหากการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) ที่ประกอบไปด้วยประเทศคู่ค้าสำคัญของเวียดนาม อันได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เป็นผลสำเร็จ การที่เวียดนามได้เป็นส่วนหนึ่งของ TPP จะทำให้การส่งออกพุ่งขึ้นอย่างฉุดไม่อยู่ทีเดียว

ด้านกัมพูชานั้น เศรษฐกิจขยายตัวดีจากภาคการผลิตเครื่องนุ่งห่มและก่อสร้างเป็นหลัก ขณะที่ทุนสำรองที่ค่อนข้างสูง ทำให้กัมพูชามีภูมิคุ้มกันต่อความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ส่วนโอกาสของเศรษฐกิจกัมพูชาในอนาคตได้แก่การพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนร่วมกับไทย ที่มีน้ำมันสำรองและก๊าซธรรมชาติอย่างมหาศาล โดยคิดมูลค่าประมาณ 10 เท่าของขนาดเศรษฐกิจ (แต่ในปัจจุบัน การเจรจาดังกล่าวไม่คืบหน้าเท่าที่ควร)

ส่วนลาวนั้น เศรษฐกิจขยายตัวดีต่อเนื่องจากการส่งออกสินแร่และไฟฟ้าพลังน้ำ โดยทางการตั้งเป้าหมายว่า จะให้ลาวเป็น Battery of Asia จึงสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าพลังน้ำและส่งออกเป็นหลัก โดยปัจจุบันมีอยู่แล้วกว่า 22 โครงการ กำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 3.3 พันล้านเมกะวัตต์ และมีแผนจะเพิ่มอีก 73 โครงการในอนาคต ทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเกือบ 7 เท่าของปัจจุบันทีเดียว

นอกจากนั้น ทั้งสามประเทศยังมีประชากรวัยหนุ่มสาวจำนวนมาก และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า และในกรณีของเวียดนาม ประชากรที่มีคุณภาพ (อัตราการอ่านออกเขียนได้อยู่ระดับเดียวกับไทยและมาเลเซีย) จะเป็นกำลังสำคัญของทั้งตลาดแรงงานและตลาดผู้บริโภคในอนาคต

ในส่วนจุดอ่อนนั้น ทั้งสามประเทศมีความเสี่ยงในด้านเสถียรภาพเป็นหลัก โดยในกรณีเวียดนามมีจุดอ่อนด้านเสถียรภาพภาคธนาคารและการคลัง โดยภาคธนาคารเคยเกิดวิกฤติในปี 2555 ทำให้อัตราขยายตัวของสินเชื่อลดลงเหลือประมาณ 13% ต่อปีจากเกือบ 50% ก่อนวิกฤติ ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายงานนั้นอยู่ที่ 12-15% ในปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลจากจำนวนธนาคาร ที่มีอยู่มากก่อนหน้าวิกฤติ และมีการถือหุ้นไขว้กันระหว่างธนาคารอยู่มาก (โดยมีธนาคารของรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในธนาคารพาณิชย์) ทำให้กระบวนการอำนวยสินเชื่อไม่โปร่งใสเท่าที่ควร ขณะที่ด้านเสถียรภาพการคลังเวียดนามค่อนข้างต่ำจากการขาดดุลการคลังที่สูง หนี้สาธารณะที่มาก และรัฐวิสาหกิจที่ใหญ่และเทอะทะ จนทำให้ภาคการคลังไม่โปร่งใสและขาดประสิทธิภาพ

แต่ทั้งนี้ หากพิจารณาจากทั้งสองส่วน รัฐบาลเวียดนามกำลังเร่งปฏิรูปเพื่อขจัดจุดอ่อน โดยในส่วนภาคธนาคารได้มี (1) การจัดตั้งบริษัทจัดการหนี้เสีย (AMC) เพื่อแยกหนี้ดีและเสียออกจากกัน (2) การสนับสนุนให้เกิดการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารด้วยกัน และ (3) นำเกณฑ์การบริหารสถาบันการเงินระดับโลก (Basel 2) เข้ามาใช้เพื่อความโปร่งใสมากขึ้น ขณะที่ภาคการคลัง รัฐบาลปฏิรูปโดยเร่งแปรรูปรัฐวิสาหกิจ และเพิ่มความโปร่งใสด้านการคลังให้มากขึ้น

ส่วนด้านทั้งกัมพูชาและลาวนั้น ความเสี่ยงสำคัญอยู่ที่ภาคธนาคารเช่นกัน โดยในส่วนของกัมพูชา การขยายตัวของสินเชื่ออย่างรวดเร็ว (30-40% ต่อปี) ขณะที่ระบบธนาคารพึ่งพิงเงินดอลลาร์สหรัฐค่อนข้างสูง ทำให้สภาพคล่องค่อนข้างตึงตัว ขณะที่ในกรณีลาวนั้น หนี้ส่วนใหญ่เป็นหนี้ของโครงการก่อสร้างของรัฐที่ขาดทุนในช่วงแรก ทำให้ NPL เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะที่ภาคการคลังก็อ่อนแอจากรายได้จากการส่งออกสินแร่ ที่ลดลงตามราคาโภคภัณฑ์โลก

แม้โอกาสของธุรกิจและการลงทุนทั้งในระดับโลกและในไทยจะมีความเสี่ยง แต่โอกาสยังคงมีอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านที่ยังเติบโตร้อนแรง กระนั้นก็ตาม นักธุรกิจและนักลงทุนอาจต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน ในรายละเอียดก่อนเลือกที่จะลงทุนในประเทศเหล่านี้ เพราะในทุกโอกาสย่อมมีความเสี่ยงตามมาด้วยเสมอ