4 แนวทางยั่งยืน

กว่าปีที่ผ่านมา ERS หรือ “กลุ่มปฏิรูปพลังงานอย่างยั่งยืน” ได้เดินสายพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ ตั้งแต่ภาครัฐ (คสช.)

ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ จนถึงภาคประชาชน อีกทั้งได้ร่วมอภิปรายในเวทีสาธารณะใหญ่ๆ หลายครั้ง

แม้ไม่สามารถสร้างกระแสสังคมได้มากอย่างฝ่าย “ทวงคืนพลังงาน” แต่ด้วยน้ำหนักของข้อเท็จจริงและการมองผลกระทบที่รอบด้าน ปรากฏว่าหลายสิ่งที่รัฐบาลได้ทำและดำริ มีความสอดคล้องกับแนวทางที่กลุ่มได้นำเสนอ นอกจากนี้ ERS ได้สร้างแนวร่วมที่กว้างขวางขึ้น ทั้งๆ ที่ใครก็ตามที่มาร่วมจะเผชิญความเสี่ยงต่อการกล่าวหาว่ารับใช้ทุนสามานย์บ้างขายชาติบ้าง

ในงานแถลงข่าวครบรอบ 1 ปีของ ERS เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัวแนวร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ที่ ERS รู้สึกเป็นเกียรติและได้กำลังใจมากที่สุดคือ นพ.วิชัย โชควิวัฒน นักต่อต้านคอร์รัปชัน-ผู้อาวุโสภาคประชาชน ที่ได้เคยศึกษาติดตามเรื่องพลังงานมานาน อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์เคยกล่าวถึงท่านว่า “เขาเป็นคนจริง ที่อุทิศตนเพื่อความถูกต้อง ดีงามมาโดยตลอด ...กล้าคิด กล้าพูด กล้าทำอะไรๆ นอกกระแส”   

นพ.วิชัย ได้กล่าวกับสื่อมวลชนว่าERS “เป็นกลุ่มผู้รู้จริงเรื่องพลังงาน ความรู้สำคัญเหลือเกิน ...สำคัญที่สุด ต้องให้สังคมเข้าใจด้วย” จากคำแนะนำที่มีคุณค่านี้  ERS จึงเสนอแนวทางปฏิรูปพลังงานที่ยั่งยืนในกรอบใหม่ ที่น่าจะช่วยให้สังคมเข้าใจได้มากขึ้นในงาน “ผ่าความจริงพลังงาน” เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยมีความ “ใกล้ตัว” มากขึ้น เป็น “วิชาการ” น้อยลง กรอบนี้แบ่งเป็น 4 แนวทาง ซึ่งจะขยายความส่วนแรกได้บ้างในสัปดาห์นี้ 

1.ขจัดคอร์รัปชันและสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารพลังงาน

    1.1 เพิ่มการแข่งขันในธุรกิจพลังงาน

 - แก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าให้เลิกยกเว้นรัฐวิสาหกิจที่แข่งขันกับเอกชน และให้มีคณะกรรมการกำกับดูแล (Regulator) ที่เข้มแข็งและปราศจากประโยชน์ทับซ้อน Regulator ต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น รวมถึง พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงานด้วย

- สร้างการแข่งขันในส่วนที่มีการผูกขาดโดยธรรมชาติ โดยแยกท่อก๊าซออกจาก ปตท.และเปิดให้บุคคลที่สามเข้ามาใช้บริการ (Third Party Access) กับแยกสายส่งไฟฟ้าและการบริหารระบบให้เป็นอิสระ ทั้งนี้ คาดว่าจะทำให้โรงไฟฟ้าที่ต้นทุนต่ำได้ผลิตเข้ามาขายในระบบมากขึ้น ทำให้ค่าไฟฟ้าของผู้บริโภคถูกลง 

- ให้ ปตท.ลดการถือหุ้นในโรงกลั่นเพื่อลดความเชื่อมโยงของกำลังกลั่นส่วนใหญ่กับ ปตท. ปัจจุบันได้ดำเนินการแล้วในกรณีของบางจาก ซึ่ง ปตท.ขายหุ้นให้กับกองทุนประกันสังคมและกองทุนวายุภักษ์ และจะมีการกระจายหุ้น ปตท.ในโรงกลั่น SPRC เมื่อบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ช่วงปลายปีนี้

1.2  ลดการแทรกแซงแสวงประโยชน์โดยมิชอบ

- ภาครัฐต้องแยกการกำกับดูแล กำหนดนโยบาย การดำเนินการ และการดูแลผลประโยชน์ของรัฐในฐานะเจ้าของ-ผู้ถือหุ้นออกจากกัน เพื่อความโปร่งใสและป้องกันการรวบอำนาจ 

- การแต่งตั้งกรรมการและผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ ต้องโปร่งใสและได้มาตรฐานสากล ทั้งนี้ ข้าราชการที่เป็นกรรมการต้องไม่มีบทบาท-อำนาจที่สามารถให้คุณรัฐวิสาหกิจหรือให้โทษคู่แข่งได้ และควรรับค่าตอบแทนที่เหมาะสม ส่วนเกินให้นำส่งคลัง

เข้าใจว่าคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (“Super Board”) กำลังทำข้อเสนอแนวนี้อยู่

1.3 ไม่สร้างองค์กรใหญ่ ไม่ให้รัฐมีบทบาทมากเกินจำเป็น

- ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมควรเลี่ยงระบบแบ่งปันผลผลิต มีขั้นตอนให้ภาครัฐอนุมัติรายละเอียดการดำเนินงานของเอกชน เพราะจะเปิดช่องให้ระดับสูงแทรกแซงในการจัดซื้อจัดจ้าง ระดับล่างก็มีโอกาสเรียกใต้โต๊ะมาก นอกจากนี้ จะมีต้นทุนขององค์กรที่ใหญ่รวมทั้งความล่าช้าในกระบวนการ ซึ่งไม่เหมาะกับประเทศไทยที่มิได้เป็นแหล่งผลิตใหญ่ระดับโลก

- บรรษัทน้ำมันแห่งชาติตามที่มีการเสนอนั้น เป็นองค์กรที่รวบอำนาจเบ็ดเสร็จในตัว เพราะเป็นทั้งผู้ให้สิทธิการสำรวจ ผู้กำกับดูแล และผู้ปฏิบัติการ จะเป็นโครงสร้างที่ไม่โปร่งใส ไม่ถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาลและการบริหารจัดการที่ดี นอกจากเสี่ยงเรื่องคอร์รัปชันแล้ว ยังอาจนำไปสู่การบริหารปิโตรเลียมที่ล้มเหลว อย่างในเวเนซุเอลา หรือมีปัญหามากอย่างในอินโดนีเซียหรือบราซิลได้

1.4 เพิ่มบทบาทภาคประชาสังคมอย่างเป็นทางการ

- ให้มีสำนักงานสารสนเทศพลังงานที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลพลังงานที่ถูกต้อง ครบถ้วน เข้าใจง่าย และเป็นที่ยอมรับ อย่างเช่น EIA ของสหรัฐฯ เพื่อแก้ปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน ที่ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและเกิดความเกลียดชัง

- ประเทศไทยควรเข้าร่วม EITI หรือโครงการเพื่อความโปร่งใสในการสกัดทรัพยากร (Extractive Industries Transparency Initiative) ซึ่งจะมีคณะทำงานไตรภาคีระดับชาติประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ตามที่เคยเล่าในคอลัมน์นี้ EITI จะช่วยคืนความไว้วางใจในสังคม และจะเพิ่มความโปร่งใสและการตรวจสอบที่จะช่วยให้การสกัดทรัพยากรธรรมชาติเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศและประชาชน ทั้งนี้ นอกจากปิโตรเลียมแล้ว ระบบนี้จะครอบคลุมกิจกรรมเหมืองแร่ อย่างเช่นทองคำด้วย

2. ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และให้ความเป็นธรรมผู้ใช้ทุกกลุ่ม- แก้มายาคติเกี่ยวกับการอุดหนุนราคาพลังงาน 

3. สร้างประสิทธิภาพการใช้พลังงานและความมั่นคงทางพลังงาน  

4. พัฒนาทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้เกิดและดำรงอยู่ได้

     

ดิฉันจะได้จะขยายความ 3 แนวทางหลังในสัปดาห์ต่อไป และจะเล่าถึงเหตุการณ์ถาม-ตอบในงาน “ผ่าความจริงพลังงาน” ที่น่าสนใจด้วย ...ดูรายละเอียดของข้อเสนอ ERS ได้ที่ www.facebook.com เพจ ERS

---------------------

อานิก อัมระนันทร์