เรียนรู้สังคมผ่านเหตุระเบิดแยกราชประสงค์

เรียนรู้สังคมผ่านเหตุระเบิดแยกราชประสงค์

ผ่านมาแล้วกว่าสองสัปดาห์ ที่สังคมยังคงให้ความสนใจกับเหตุระเบิดบริเวณศาลพระพรหม

 ย่านราชประสงค์จนกระทั่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยเนชั่นขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง กับครอบครัวผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ และขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ที่พยายามทำงานอย่างเต็มกำลัง เพื่อให้ประชาชนและประชาคมโลก เชื่อมั่นในความรู้ความสามารถ และมั่นใจว่าจะสามารถใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยได้อย่างปลอดภัย

เหตุการณ์สะเทือนขวัญนี้ นับว่ามีความร้ายแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประเทศไทย ที่มุ่งหมายเอาชีวิตผู้คนในใจกลางเมืองหลวง สถาบันวิจัยได้ติดตามปฏิกิริยาตอบสนองของฝ่ายต่างๆ ที่มีต่อสถานการณ์ด้วยการสังเกตและการติดตามข่าวสารผ่านสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางสังคมออนไลน์ รวมทั้งการสนทนากลุ่มย่อย และการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ พบว่าผู้คนในสังคมมีพฤติกรรมตาม Cognitive Learning Theory โดยจะเห็นได้จากเชื่อมโยงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กับประสบการณ์ของตนหรือที่ตนรับรู้ในอดีต

ช่วงหัวค่ำของวันที่ 17 สิงหาคม 2558 เมื่อเกิดเหตุระเบิดขึ้นบริเวณรั้วศาลพระพรหม แยกราชประสงค์ สื่อมวลชนได้รายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบในทางข่าวสาร ประชาชนเมื่อรับทราบข่าวก็ได้ติดตามตรวจสอบว่าครอบครัวหรือคนใกล้ชิดของตนอยู่ในความปลอดภัย ทั้งยังได้เห็นน้ำใจของคนไทยด้วยกันซึ่งก็คงจะได้เห็นผ่านสื่อต่างๆ ไปก่อนหน้านี้แล้ว ในทางการสื่อสารทั้งสื่อและประชาชนได้ใช้ช่องทางผ่านสื่อออนไลน์ต่างๆ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและภาพเหตุการณ์ให้มากที่สุด พร้อมกับวิเคราะห์คาดการณ์ไปถึงผู้ก่อการหรือผู้ที่อาจอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้

ด้วยเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และสังคมไทยก็คุ้นชินกับการส่งข้อมูลและภาพต่างๆ โดยอาจมิได้กลั่นกรองอย่างเพียงพอ ในระยะแรกจึงมีภาพชิ้นส่วนอวัยวะและข้อมูลต่างๆ แพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว โดยอ้างที่มาจากหน่วยงานของรัฐ จนเกิดความสับสน ยกตัวอย่างเช่น ผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลของ Zocialeye พบว่าในคืนเกิดเหตุ ยอด tweet และ retweet สูงสุดใน twitter เป็นเรื่องจัดการกับข่าวลือต่างๆ ซึ่งไม่ต่างจากใน Facebook แม้กระทั่งผู้เขียนเอง ยังได้เห็นการแจ้งเตือนกันเอง โดยขอยกข้อความที่ได้รับมาว่า “ก่อนแชร์อะไร... ให้ใช้สมองอย่าใช้แค่ 2 มือ ข่าวที่ไม่เช็ค อย่าแชร์ ประกาศที่ไม่ชัวร์ อย่าแชร์ รูปที่ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น อย่าแชร์ ต่อให้กดแชร์เร็วที่สุดในประเทศ ก็ไม่มีใครมอบถ้วยรางวัลให้หรอก”

ต่อมารูปที่ไม่พึงประสงค์กับข้อมูลที่สับสนก็ถูกลบหายไป เพราะเกรงว่าจะกลายเป็นเครื่องมือของผู้ก่อการ ลำดับเหตุการณ์ที่ยกมานี้ น่าจะสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า เมื่อมีเหตุการณ์ใดๆ เกิดขึ้น ผู้คนมักจะอาศัยความคุ้นชินที่เคยทำมาแต่ก่อน แต่เมื่อได้เรียนรู้ถึงผลกระทบที่ไม่เป็นผลดี ก็จะมีการปรับเปลี่ยนและแก้ไข นี่น่าจะเป็นสิ่งหนึ่งที่คนไทยได้เรียนรู้ เกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีวิจารณญาณมากขึ้น

อีกประเด็นหนึ่ง เมื่อข้อมูลยังไม่ชัดแจ้ง ผู้ทราบเหตุการณ์ก็จะปะติดปะต่อเรื่องราว โดยอาศัยประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาในอดีตในสถานที่ดังกล่าว ซึ่งหมายถึง “ระเบิด” “ศาลพระพรหม” และ “ราชประสงค์” ความเห็นในระยะแรกจึงย้อนกลับไปกล่าวถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งภายในประเทศที่เคยเกิดขึ้น และนำมาซึ่งความสูญเสียในบริเวณเดียวกัน ก็เพราะด้วยสมองของคนเรา มักจะให้นึกคิดประสบการณ์หรือสิ่งที่รับรู้มา เพื่อตีความในสิ่งที่เกิดขึ้น และก็คงต้องยอมรับกันว่า ในช่วงนั้นก็มีผู้ที่โดนต่อว่าไปแล้วว่าไม่รักชาติ ทำกับคนไทยด้วยกันได้อย่างไร แต่เมื่อข้อมูลหลักฐานได้เปิดเผยมากขึ้น เช่น ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทย ชนิดระเบิดที่แตกต่างไปจากที่เคยเกิดขึ้นในชายแดนภาคใต้ ภาพผู้ก่อการ และการกล่าวประณามผู้ก่อเหตุจากบุคคลต่างๆ และข้อมูลอื่นที่นำไปสู่การขยายสมมติฐานกว้างออกไป จนถึงคาดกันไปว่า อาจไม่ใช่ความขัดแย้งภายในประเทศแต่อาจเป็นถึงการก่อการร้ายข้ามชาติ แม้ประชาชนจะคาดคะเนไปได้ต่างๆ นานา ตามประสบการณ์และความเห็นของตน แต่ในท้ายที่สุดคำตอบสุดท้าย ก็ย่อมอยู่ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ที่จะคลี่คลายสถานการณ์ และเราก็คงจะเห็นได้ว่าเรื่องดังกล่าวมีความคืบหน้าไปโดยลำดับ จนน่าจะได้บทสรุปในอีกเร็วนี้ 

การที่สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยเนชั่นยกประเด็นสองเรื่องนี้ขึ้นมานั้น ก็เพื่อแสดงถึงการคิดและพฤติกรรมของสังคมไทย ที่ได้จากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์มาในอดีต เหตุระเบิดแยกราชประสงค์คงจะเป็นอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เราจะได้เรียนรู้และเข้มแข็งขึ้นไปด้วยกัน

 ... Together Stronger…

------------------------

ดร.ทันกวินท์ รัฐวัฒก์อังกูร

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยเนชั่น

[email protected]