ทางขรุขระข้างหน้า

ทางขรุขระข้างหน้า

ที่จั่วหัวนั้นผมแปลเอาเองจากภาษาอังกฤษที่ว่า Bumpy Road Ahead

และในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา บางท่าน (หรือหลายท่าน) ก็คงจะได้มีประสบการณ์แรกของสิ่งที่เรียกว่าหนทางขรุขระนะครับ ในเดือนก่อนผมได้เรียนเสนอท่านผู้อ่านเรื่องที่ผมวิเคราะห์ Fed และความเป็นไปได้ที่ Fed จะขึ้นดอกเบี้ยของตน ผมยังหยอดท้ายไว้ว่าหวังเป็นอย่างยิ่งที่เราจะเห็นการลงอย่างนุ่มนวล (Soft Landing) ของเศรษฐกิจจีน เพียงหลังจากบทความเดือนที่แล้วเผยแพร่ไม่นาน ก็มีบททดสอบหลายอย่างในการดำเนินนโยบายของจีนโดย People Bank of China (PBOC) ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน และอัตราดอกเบี้ย ซึ่งที่จริงก็ไม่ใช่เรื่องที่เหนือความคาดหมายของผมเท่าไรนัก 

แต่สิ่งที่เหนือความคาดหมายของผมนั้นคือปฏิกิริยาของตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดทุน ซึ่งผมคิดว่ามันออกจะ "เว่อร์” ไปสักเล็กน้อยถึงพอควร ตลาดหุ้นต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชียแปซิฟิกปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก โดยที่ตลาดหลักในภูมิภาคอื่นเช่น อเมริกา ถึงแม้ว่าจะมีการปรับตัวแรง แต่ก็ฟื้นอย่างเร็ว สะท้อนให้เห็นว่าเอาเหตุที่หุ้นตกในเอเชียเป็นข้ออ้างในการทุบตลาดตนเองเพียงเพื่อหวังจะเข้ามาเก็บหุ้นในราคาที่ต่ำ เหตุการณ์เช่นนี้มิใช่ไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต แต่สิ่งที่นักลงทุนจะต้องตั้งสติก็คือ หันกลับมาดู valuation ของหุ้นต่าง ๆ ให้ดี และเข้ามาเก็บเอาไว้บ้างถึงปานกลาง ผมเชื่อว่าเหตุเช่นนี้ยังคงไม่หยุดโดยง่าย คงจะมีต่อไปอีกระยะหนึ่ง นั่นทำไมผมถึงเรียกว่า Bumpy Road Ahead

การชวนให้ท่าน "เก็บ” หุ้นนั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่ผมวิเคราะห์เรื่องมุมมองของผมต่อ Fed (และ ECB ที่ “touch” ไปเล็กน้อย) ตามที่ผมได้เรียนไว้ในเดือนที่แล้วเลย เพียงแต่อยากจะเรียนว่าทาง Fed เอง เขาจะขึ้นดอกเบี้ยหรือไม่อย่างไร เราต้องติดตามเรื่องเป้าหมายหลัก 2 อย่างของ Fed คือเงินเฟ้อและการว่างงาน สะท้อนผ่าน Fed Statement ดังนั้นมุมมองผมเรื่องนี้ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง หากจะมองให้แคบเข้าและมองจากมุมมองในแง่เทคนิคแล้ว โอกาสที่จะเก็บหุ้นนั้น น่าจะมาในจังหวะที่ตลาดได้ทุบเอาแรง ๆ จนท่านเห็นว่า valuation มันเหมาะสม (อนุญาตให้โลภได้เล็กน้อยเท่านั้นนะครับ) หากท่านไม่ถนัดในการ "เล่น”หุ้นเป็นตัว ๆ ก็อาจจะเข้าไปซื้อกองทุนต่าง ๆที่มีอยู่โดยทั่วไป เพราะผู้จัดการกองทุนเหล่านั้นเขาก็ต้องมองอย่างที่ผมบอก และท่านก็จะสามารถเข้าช้อนซื้อหุ้นได้ โดยผ่านกองทุนต่าง ๆ เหล่านั้น เลือกเอาได้ตามที่เห็นเหมาะสมและถูกใจเลยนะครับ

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ และน่าติดตามกันเป็นอย่างยิ่ง ก็คือตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ผู้คนรวมถึงสื่อไทยทั่วไปพูดถึงคำว่าสงครามค่าเงิน (Currency War) ซึ่งในที่สุดก็อาจจะเป็นไปตามนั้น เพียงแต่ผมไม่อยากเรียกว่าเป็นสงคราม แต่เป็นการชิงไหวชิงพริบและชิงลงมือ (pre-emptive strike) ในเชิงนโยบายใครทำทีหลังก็จะเสียเปรียบอยู่ต่อไป นอกเหนือจากจีนที่เป็นข่าวคราวใหญ่โต รู้กันไปทั่วแล้ว ก็ยังมีเงินสกุลหนึ่งแต่เป็นข่าวเพียงเล็กน้อยก็คือ ริงกิตมาเลเซีย (MYR) เงิน MYR มีค่าลดลงค่อนข้างมากในระยะเวลาอันรวดเร็ว หากเราจะ "เก็บ” เอาเรื่องที่ประท้วงสีเสื้อที่กำลังเป็นข่าวในขณะนี้ไว้ก่อน การที่ MYR มีค่าลดลงเช่นนี้ก็พอจะอธิบายได้ว่าเป็นเพราะภาคการส่งออกของเขาตกต่ำลงมาอย่างมากสืบเนื่องจากสินค้าตัวเอกของเขาไม่ว่าจะเป็น น้ำมันดิบ , ปาล์มน้ำมันหรือยางพารานั้นมีราคาลดลงอย่างมาก ดังนั้นการชิงลงมือด้วยการทำให้เงินตนเองอ่อนค่าลงจึงเป็นเรื่องที่ Bank Negara Malaysia ซึ่งเป็นธนาคารกลางของมาเลเซีย ต้องชิงลงมือ และ

หากเราเอง "สงครามสีเสื้อ” กลับเข้ามาพิจารณาร่วมด้วยก็น่าจะทำให้แนวโน้มค่าเงิน MYR มีค่าอ่อนลงอย่างต่อเนื่องต่อไป 

นอกเหนือจาก MYR แล้ว เงินสกุลอื่น ๆ ในภูมิภาคเช่นเวียดนาม และสิงคโปร์ ก็มีการ "ปรับตัว” ไปในทิศทางที่อ่อนลงเช่นเดียวกัน เงินสิงคโปร์นั้นผมเคยเรียนท่านผู้อ่านไปแล้วว่า เขาใช้อัตราแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องมือทางนโยบายการเงิน (ไม่ได้ใช้อัตราดอกเบี้ย) โดยมี intervention band ที่ไม่เปิดเผยในการบริหารจัดการ ก่อนที่ PBOC จะขยับตัวครั้งนี้ ตลาดเชื่อว่าเงินสิงคโปร์จะไม่อ่อนเกินระดับ 1.4000 สิงคโปร์/ดอลลาร์สหรัฐ แต่อัตราแลกเปลี่ยนในปัจจุบันไปอยู่ที่ประมาณ 1.41 สิงคโปร์/ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งตลาดตีความเอาไว้ MAS (ธนาคารกลางของสิงคโปร์) “ยอม” ให้เงินตนเองอ่อนนลงนั่นเอง

ดังนั้น  บางท่านที่บอกว่าเงินบาทของเราอ่อนลงมาเพียงพอแล้ว นั้นอาจจะจริงเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น หลักใหญ่ใจความน่าจะอยู่ที่ว่า "คนอื่นเขาทำอย่างไร” มากกว่า และเมื่อเขาทำอย่างไรแล้วเราจะทำอย่างไรต่อสิ่งนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งนะครับ มิฉะนั้นเราก็จะต้องคอยตามเขาอยู่ตลอดไป สวัสดี