ความขัดแย้งต้องอยู่ในกรอบ

ความขัดแย้งต้องอยู่ในกรอบ

สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่

 ในวันอาทิตย์ที่ 6 กันยายนนี้ ซึ่งมีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ใช้เวลายกร่างกันข้ามปี เนื่องจากแต่ละฝ่ายมีเป้าหมายและจุดยืนต่อการมองปัญหาการเมืองไทบต่างกัน โดยหากสปช.โหวตผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะนำไปสู่ขั้นตอนประชาพิจารณ์ตามขั้นตอนและประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญการปกครองประเทศ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ดูเหมือนจะกังวลไม่น้อยในขั้นตอนต่างๆของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยเฉพาะความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะในขั้นตอนช่วงทำประชามติ และ ช่วงประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมีรัฐบาลหลังจากการเลือกตั้ง เพราะขณะนี้เกิดการคัดค้านในหลายประเด็น โดยเฉพาะเกี่ยวกับฝ่ายการเมือง เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะแตกต่างจากฉบับก่อนในช่วงหลังรัฐประหาร ซึ่งไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของฝ่ายการเมืองนัก

ขณะนี้ ฝ่ายการเมืองที่มีฐานมวลชนจำนวนมากตามฐานพรรคการเมืองเดิม เริ่มมีการเคลื่อนไหวไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญในหลายประเด็นและค่อนข้างเป็นประเด็นที่อ่อนไหวอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในเรื่องความเป็นประชาธิปไตย ซึ่งถือว่าเป็นประเด็นที่อ่อนไหวอย่างมากในสังคมไทย ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจากการยึดอำนาจ ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ดังนั้น จึงมีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่ประเด็นความขัดแย้งจะนำไปสู่ความรุนแรงได้

อย่างไรก็ตาม ต้องเข้าใจว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เกิดขึ้นมาในยุคที่คนไทยต้องการเห็นการปฏิรูปในทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง ดังนั้นกรรมาธิการยกร่างจึงพยายามร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปฏิรูป เพราะไม่ต้องการให้การเมืองไทยกลับไปเหมือนเดิมที่จมอยู่กับความขัดแย้งและหาทางออกไม่ได้ จึงกำหนดขั้นตอนต่างๆ เพื่อให้นำไปสู่การปฏิรูปตามที่ต้องการ และมีระยะเวลาดำเนินการก่อนกลับไปสู่ประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ

ดังนั้น ความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นในขั้นตอนของการทำประชามติ และช่วงประกาศใช้รัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะขณะนี้มีกระแสความไม่พอใจค่อนข้างมาก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องอำนาจทางการเมืองของคนกลุ่มต่างๆ ที่เข้ามาตามรัฐธรรมนูญใหม่ แต่คำถามก็คือเราจะเปลี่ยนผ่านช่วงประกาศใช้รัฐธรรมนูญอย่างไร จนไม่เกิดความขัดแย้งรุนแรง และเราจะลดกระแสความหวาดระแวงกันอย่างไร ในสังคมว่าการปฏิรูปการเมืองครั้งนี้เพื่ออนาคตของประเทศ

แน่นอนว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องที่ไม่อาจปฏิเสธได้ในสังคมประชาธิปไตย ที่เปิดโอกาสให้คนต่างกลุ่มต่างพวก มีสิทธิมีเสียงในสังคม ซึ่งจากความต่างกันนี้เองทำให้มักจะเกิดความขัดแย้งขึ้นมาทางใดทางหนึ่งเสมอ แต่ลักษณะสำคัญของสังคมประชาธิปไตยคือต้องขัดแย้งในกรอบกติกาและพึงหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงต่อกัน เพราะนั่นจะไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาในระยะยาว ซึ่งข้อกังวลขณะนี้คือเราสามารถผ่านช่วงเวลานี้ไปได้อย่างไร โดยไม่เกิดความรุนแรง

เราเห็นว่าประเด็นสำคัญในขณะนี้คือเราไม่เห็นด้วย กับแนวทางการปฏิรูป ที่มีการเสนอในร่างรัฐธรรมนูญ แต่จะทำอย่างไรให้เกิดความเห็นพ้องกันในประเด็นสำคัญเหล่านี้ เรายังเชื่อว่าบทเรียนความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา ในที่สุดแล้วไม่มีฝ่ายใดได้ประโยชน์ มีแต่ผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและความบอบช้ำในสังคม เราหวังว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะออกมานั้น ไม่ว่าถึงที่สุดแล้วจะเป็นอย่างไร หากเรายังต้องการให้ประชาธิปไตยเดินหน้าต่อไปได้ ต้องตีกรอบความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นให้อยู่ในกรอบจนไม่ขยายบานปลาย