ค่าโอนเงิน... แพงได้อีกไม่นาน

ค่าโอนเงิน... แพงได้อีกไม่นาน

ในช่วงต้นเดือนแบบนี้ เป็นช่วงเวลาแห่งการโอนเงินให้คนทางบ้าน จ่ายบิลค่าสินค้าและบริการ

 ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์สารพัด  เคยสังเกตุหรือไม่ว่าภาระค่าใช้จ่าย ในการโอนเงินหรือชำระเงิน ที่ต้องจ่ายให้กับธนาคารพาณิชย์เหล่านี้รวม ๆ แล้วคิดเป็นเท่าไร หากลองมานั่งคำนวนยอดเงินแล้วอาจจะตกใจได้

 ประธานสมาคมธนาคารไทยเองยอมรับ ว่าสาเหตุหลักของค่าธรรมเนียมที่แพงแสนแพง มาจากโครงสร้างค่าธรรมเนียมที่บิดเบี้ยว กล่าวคือต้นทุนการให้บริการผ่านสาขาสูงจากต้นทุนสาขา และพนักงาน แต่กลับคิดค่าธรรมเนียมถูกหรือไม่มีค่าธรรมเนียมเลย ในขณะที่ต้นทุนอิเลคทรอนิกส์ถูกแต่กลับคิดในราคาแพง

แผน 5 ปีของสมาคมธนาคารไทย จึงเห็นจำเป็นต้องพัฒนาระบบชำระเงิน(Payment System Roadmap) เป็นหนึ่งใน 5 เสาหลัก โดยเฉพาะการลดธุรกรรมการใช้เงินสดและเช็ค ที่ไทยมีต้นทุนส่วนนี้สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

บุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทยระบุว่า แผน 5 ปีของสมาคมธนาคารไทยเริ่มตั้งแต่ปีนี้ไปถึงปี 2562 ซึ่งทางสมาคมมีเป้าหมายว่าในปี 2563 จะเห็นประชาชนจะใช้ธุรกรรมในช่องทางอิเลคทรอนิกส์เพิ่มขึ้นจากเดิม 25 รายการต่อคนต่อปี เพิ่มเป็น 50-60 ต่อรายการต่อคนต่อปี เพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปัจจุบัน และเพิ่มมูลค่าเงินของการธุรกรรมการชำระเงินผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์จาก 30% เป็น 60-70% ต่อปี

 เขาประเมินว่า หากประเทศไทยสามารถลดการใช้เงินสดและเช็คลงได้ จะช่วยลดต้นทุนให้ระบบการเงินได้ประมาณแสนล้านบาท หรือคิดเป็น 1% ของจีดีพี โดยจะเกิดประโยชน์กับประเทศและระบบสถาบันการเงิน 3.6 หมื่นล้านบาทต่อปี ประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ 4.2 หมื่นล้านบาทต่อปี และประโยชน์ต่อร้านค้ารายย่อย 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี

นี่เฉพาะธุรกรรมที่เกิดขึ้นระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และภาครัฐ ยังไม่นับรวมธุรกรรมจากลูกค้ารายย่อย ดังนั้นเชื่อได้ว่าแนวทางนี้จะช่วยลดต้นทุนให้ระบบเศรษฐกิจมากกว่าแสนล้านบาทอย่างแน่นอน

ตามแผนของสมาคมแล้ว จะเลือกกลุ่มลูกค้าที่มีการทำธุรกรรมจำนวนมาก หรือให้ผลกระทบมากที่สุดใน 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ธุรกรรมระหว่างบุคคลกับธุรกิจ (Consumer to Business) กลุ่มนี้มีธุรกรรมกว่า 3.2 หมื่นล้านรายการต่อปี  ธุรกรรมระหว่างธุรกิจกับธุรกิจ (

Business to ​Business) มีธุรกรรมกว่า  1.27 หมื่นล้านรายการต่อปี และระหว่างบุคคลกับบุคคล (Consumer to Consumer) มีธุรกรรมกว่า 4,400 ล้านรายการต่อปี ผ่านการชำระและจ่ายบิลแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Bill Presentment and Payment:EBPP) และใช้บัตรเดบิตแทนเงินสด ส่งเสริมให้ใช้ใบเรียกเก็บเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Invoice) รวมทั้งการใช้บริการทางโทรศัพท์ (Mobile Banking)

เขายกตัวอย่างจากธุรกรรมอิเลคทรอนิกส์ของธนาคารทหารไทยว่า หลังจากเปิดตัวบริการทางโทรศัพท์หรือโมบายแบงก์กิ้งไปในช่วงต้นปีจนถึงขณะนี้ ผ่านมาเพียง 6 เดือน พบว่ามีจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการทางมือถือ เติบโตได้เท่ากับลูกค้าที่ใช้บริการทางอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ซึ่งธนาคารเปิดให้บริการมาเป็นเวลาหลายปี

นอกจากนี้ยังทำธุรกรรมมากกว่าลูกค้าที่ไม่ได้ใช้บริการทางมือถือสูงถึง 4 เท่า ดังนั้น เขาจึงเชื่อว่าหากประเทศไทยสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และมีการจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้บริการผ่านอิเลคทรอนิกส์ หรือช่องทางดิจิทัลแบงก์ได้ ในที่สุดจะช่วยลดต้นทุนให้กับประเทศและระบบการเงินไทยได้

ผู้บริโภครุ่นใหม่มักจะมองหาช่องทาง ที่จะช่วยให้ตัวเองประหยัดค่าธรรมเนียมเหล่านี้ได้ไม่ยากนัก  หลาย ๆ คนที่ใช้บริการอยู่จะคุ้นเคยและติดอกติดใจไม่ใช้น้อย  แต่ยังมีผู้บริโภคอีกมากที่ยังไม่กล้าเปิดใจรับว่าช่องทางอิเลคทรอนิกส์เหล่านี้ ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะในยามฝืดเคืองเช่นนี้  เชื่อเถอะว่าธุรกรรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ มันช่วยเราประหยัดเงินในกระเป๋าได้มากจริงๆ