ผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินบาทต่อภาระหนี้ต่างประเทศของไทย

ผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินบาทต่อภาระหนี้ต่างประเทศของไทย

ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ค่าเงินในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets)

ในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงค่าเงินบาทมีแนวโน้มปรับอ่อนค่าลงต่อเนื่อง โดยมีสาเหตุจากทั้งการคาดการณ์ของนักลงทุนว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชีย รวมทั้งการลดค่าเงินของจีน โดยในส่วนของค่าเงินบาทซึ่งล่าสุดอยู่ที่ 35.87 บาทต่อดอลลาร์ ปรับอ่อนลงร้อยละ 8.27 เทียบกับสิ้นปี 2014 การอ่อนค่าของค่าเงินบาทดังกล่าวอาจทำให้เกิดคำถามว่า จะนำไปสู่ความเปราะบางด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน คล้ายกับที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติการเงินปี 1997 หรือไม่ ซึ่งในช่วงนั้น ค่าเงินบาทที่อ่อนลง ทำให้ภาระหนี้ต่างประเทศเมื่อแปลงกลับมาอยู่ในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นอย่างมากเนื่องจากเกือบทั้งหมดไม่มีการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนแต่อย่างใด ขณะที่ภาคเอกชนส่วนใหญ่ที่กู้หนี้ต่างประเทศกลับมีรายได้อยู่ในรูปเงินบาท จนทำให้เกิดปัญหาการขาดทุน และการล้มละลายของภาคเอกชนในวงกว้าง

หากประเมินเพียงจากการดูระดับหนี้ต่างประเทศของไทยในปัจจุบัน ซึ่ง ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2015 อยู่ที่ 136.6 พันล้านดอลลาร์ อาจทำให้บางท่านคาดว่า การอ่อนค่าของเงินบาทน่าจะส่งผลให้ภาระการชำระหนี้ของประเทศ เมื่อแปลงเป็นเงินบาทแล้วเพิ่มขึ้นพอสมควร อย่างไรก็ดี หากพิจารณาโครงสร้างหนี้ต่างประเทศ พฤติกรรมของผู้มีหนี้ต่างประเทศ และฐานะทางการเงินด้านต่างประเทศของไทยอย่างรอบด้านแล้ว จะพบว่า ผลกระทบของค่าเงินบาทที่อ่อนลงต่อภาระหนี้ต่างประเทศในปัจจุบันน่าจะมีไม่มากนัก เนื่องจากหลายเหตุผล ดังนี้

(1) สัดส่วนหนี้ต่างประเทศที่ต้องชำระในรูปเงินบาทสูงถึงร้อยละ 28 ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด ต่างจากปี 1997 ที่หนี้ต่างประเทศเกือบทั้งหมดอยู่ในเงินสกุลต่างประเทศ โดยหนี้เงินบาทเหล่านี้ ประกอบด้วย พันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติ และอีกส่วนหนึ่งเป็นเงินกู้ภาคธุรกิจที่ทำสัญญาในรูปเงินบาท โดยเฉพาะของกลุ่มบริษัทร่วมทุน (Holding company) ซึ่งภาระหนี้ในรูปเงินบาทของหนี้ลักษณะดังกล่าว จะไม่ได้รับผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินบาท โดยถึงแม้ค่าเงินบาทที่อ่อนลง อาจเป็นเงื่อนไขให้นักลงทุนต่างชาติบางส่วน ขายพันธบัตรเพื่อนำเงินออก และอาจสร้างแรงกดดันให้กับค่าเงินบาทเพิ่มขึ้น แต่ก็จะไม่ทำให้ภาระการชำระหนี้ในส่วนนี้เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

(2) สำหรับหนี้ต่างประเทศที่อยู่ในรูปสกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 72 ของหนี้ต่างประเทศทั้งหมด ส่วนใหญ่มีการบริหารความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินที่ค่อนข้างดี ซึ่งส่วนสำคัญเป็นผลจากบทเรียนที่ได้จากวิกฤติปี 1997 ทำให้ผลกระทบของเงินบาทที่อ่อนค่าต่อภาระหนี้ต่างประเทศอยู่ในวงจำกัด โดยในภาคธุรกิจ หนี้ต่างประเทศส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่กับธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งมีการจัดการและบริหารความเสี่ยงจากค่าเงินที่ดี หลายธุรกิจมีรายได้สุทธิจากการส่งออก ซึ่งช่วยบรรเทาผลของภาระหนี้ต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นได้ (Natural Hedge) ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ที่เป็นผู้นำเข้าสุทธิหรือมีรายได้ในรูปเงินบาท จะมีการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ

ยกตัวอย่างเช่น สถาบันการเงินที่ไม่รับฝากเงินซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจเช่าซื้อ (Leasing) แม้จะมีการกู้ยืมในรูปเงินตราต่างประเทศและนำมาปล่อยกู้ในรูปเงินบาทค่อนข้างมาก แต่ธุรกิจเหล่านี้ส่วนใหญ่มีการทำธุรกรรมป้องความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าไว้ทั้งจำนวน จึงทำให้มูลค่าหนี้ที่แปลงเป็นเงินบาทไม่เพิ่มขึ้น ฐานะทางการเงินจึงไม่ถูกกระทบจากการอ่อนค่าของเงินบาท ขณะที่ธุรกิจขนาดใหญ่ในภาคพลังงาน เช่น ธุรกิจการกลั่นน้ำมัน และการผลิตไฟฟ้า ซึ่งมีการก่อหนี้ต่างประเทศและเป็นผู้นำเข้าสุทธิจากการนำเข้าวัตถุดิบด้านพลังงานจากต่างประเทศ แต่ก็มีรายได้บางส่วนจากการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป และการประกอบธุรกิจพลังงานในต่างประเทศมาชดเชย ประกอบกับการผสมผสานการป้องกันความเสี่ยงและการปรับราคาขายพลังงานในประเทศได้บางส่วน ซึ่งช่วยให้ฐานะทางการเงินในภาพรวมไม่ถูกกระทบมากนักจากภาระหนี้ต่างประเทศที่อาจเพิ่มขึ้น  

ในส่วนของภาคสถาบันการเงิน ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนจากการก่อหนี้ต่างประเทศ มีจำกัดเช่นกัน โดยเป็นผลจากกฎเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงสินทรัพย์และหนี้สินสุทธิ ที่อยู่ในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศได้จำกัดรวมทั้งการบริหารจัดการที่ระมัดระวังของธนาคารพาณิชย์เอง ในการดูแลให้สกุลเงินและอายุของสินทรัพย์และหนี้สินมีความสอดคล้องกันโดยหนี้ต่างประเทศระยะสั้น มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้ปรับฐานะเงินตราต่างประเทศ (square position) จากการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนระยะสั้นให้กับภาคธุรกิจ ขณะที่หนี้ระยะยาว ส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการลงทุนของธุรกิจไทยในต่างประเทศ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งต่างจากในกรณีในช่วงก่อนปี 1997 ที่เงินกู้ต่างประเทศถูกใช้สนับสนุนการลงทุนในประเทศเป็นหลัก

นอกเหนือจากปัจจัยด้านโครงสร้างหนี้ต่างประเทศ และการบริหารความเสี่ยงที่ดีของผู้ที่มีหนี้ต่างประเทศดังที่ได้กล่าวข้างต้น เสถียรภาพด้านต่างประเทศของไทยที่เข้มแข็ง ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน และช่วยลดโอกาสของการเกิดวิกฤติดุลการชำระเงินจากการไหลกลับของเงินทุนต่างประเทศอย่างฉับพลันและรุนแรง โดยบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit rating agencies) ต่างชี้ว่า ฐานะการเงินด้านต่างประเทศของไทยยังเป็นจุดแข็งสำคัญที่สนับสนุนการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของไทย โดยเฉพาะสัดส่วนเงินสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นของไทย ซึ่งอยู่ที่ 2.9 เท่า สูงกว่าเกณฑ์สากลที่กำหนดไว้ที่ 1 เท่า รวมทั้งดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุลต่อเนื่อง สะท้อนถึงสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ต่างประเทศที่แข็งแกร่ง

ในระยะต่อไป ภายใต้แนวโน้มเศรษฐกิจไทยและภูมิภาคที่ขยายตัวช้ากว่าที่คาด ประกอบกับความไม่แน่นอนของกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ภายใต้การดำเนินนโยบายการเงินของประเทศหลักที่จะเริ่มมีทิศทางสวนทางกัน จะยังทำให้ค่าเงินบาทมีแนวโน้มผันผวนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจมีนัยต่อภาระหนี้ต่างประเทศและการดำเนินธุรกิจผ่านช่องทางอื่นๆ จึงมีความจำเป็นที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต้องร่วมมือกันในการติดตามและประเมินปัจจัยเสี่ยงอย่างใกล้ชิด เพื่อนำไปสู่การปรับตัวและการบริหารจัดการความเสี่ยงต่างๆ อย่างเหมาะสมและทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

--------------------

น.ส.ทิพย์สุดา สุขดำ

นายรัฐศาสตร์ หนูดำ