คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน

คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน

ถ้ามันจะเป็น “คำตอบ” ของการแก้ปัญหาประชาชน ประเทศชาติ มันไม่สำคัญ

ว่า นโยบายหรือมาตรการนั้น จะไปคล้ายหรือทำแบบเดียวกันกับใครที่เคยทำมา

กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล “ประยุทธ์3”มอบความไว้วางใจให้ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลด้านเศรษฐกิจ และทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหลายด้านที่สำคัญเร่งด่วนคือ การทุ่มงบประมาณจำนวนมากลงไปที่ หมู่บ้านฐานรากใหญ่ของประชาชนผู้มีรายได้น้อย

แน่นอน ถ้าดูจากรายละเอียดหลายอย่างที่ผลักดันลงไป อาจไม่ต่างมากนักกับมาตรการ ในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยทำสำเร็จมาแล้ว และที่ปฏิเสธไม่ได้ก็คือ “ขุนพลเศรษฐกิจเบอร์1” ในยุคนั้น ก็คือ “สมคิด” นั่นเอง และยังยอมรับกันว่า แนวนโยบายประชานิยมหลายอย่างที่ประสบความสำเร็จ ก็มาจาก “สมคิด” เช่นกัน

อาจด้วยเหตุนี้ ก็เป็นได้ ทำให้หลังจากได้รับมอบอำนาจอย่างเต็มที่ ในการเดินเครื่องกระตุ้นเศรษฐกิจ “สมคิด” และทีมงาน จึงไม่รีรอ และขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็วอย่างคนมีประสบการณ์มาแล้ว

ที่น่าสนใจคือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 มาตรการ งบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท ที่เสนอโดยกระทรวงการคลัง อันเป็นแผนเร่งด่วนภายใน3เดือน ตั้งแต่กันยายน-ธันวาคม 2558 ซึ่งคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่1กันยายนนี้

เช่น มาตรการที่1การปล่อยกู้ชาวบ้าน ดอกเบี้ย 0% เป็นเวลา 2 ปีผ่านกลไกของกองทุนหมู่บ้าน ให้ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) ปล่อยกู้ให้กับหมู่บ้านระดับเอและบี 5.9 หมื่นหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 1 ล้านบาท รวมเป็นเงินเกือบ 5.9 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาปล่อยกู้ 5 ปี

มาตรการที่2กระทรวงมหาดไทย จัดสรรเงินให้ตำบลละ5ล้านบาท กว่า 7,000 ตำบล วงเงินกว่า 3.5 หมื่นล้านบาทนำไปดำเนินโครงการเกี่ยวกับการซ่อมสร้างอาคารสถานที่ ขุดบ่อน้ำสร้างตึกที่ตำบลแต่ละแห่งต้องการ โดยต้องเสนอโครงการเข้ามาของบ

และ มาตรการที่3เร่งรัดเบิกจ่ายโครงการลงทุนขนาดเล็ก วงเงินลงทุนไม่เกิน1ล้านบาทในงบประมาณประจำปี 2559ให้ได้ภายใน3เดือนสุดท้ายของปี 2558

รวมทั้ง กระทรวงอุตสาหกรรม ยังพร้อมทุ่มงบประมาณ100ล้านบาทเพื่อให้การสนับสนุนผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชน (โอท็อป)และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

ไม่นับว่า กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฐานราก ก็มีมาตรการที่สอดรับกัน ฯลฯ

เมื่องบประมาณจำนวนมหาศาล ลงไปปลุกความคึกคักในหมู่บ้าน ปัญหาใหญ่ ที่อาจเกิดขึ้น ถ้าไม่มีการดูแล ควบคุมเป็นอย่างดี ก็คือ การนำเงินไป “รีไฟแนนซ์” หนี้เดิมและการปล่อยกู้ให้คนใกล้ชิดหรือพรรคพวก ซึ่งการควบคุมส่วนนี้ เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่จะต้องวางกฎเกณฑ์และเข้าไปดูแลในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

ดังนั้น พูดได้ว่า เวลานี้ถนนทุกสายมุ่งสู่“หมู่บ้าน”ทั้งยังชอบธรรมจะเป็นเช่นนั้น เนื่องเพราะ“หมู่บ้าน”ไม่ใช่คำตอบแต่เฉพาะปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในมุมมองที่นักกลยุทธ์การตลาดวิเคราะห์ขาดอยู่แล้ว เพราะเป็นฐานกำลังซื้อใหญ่ของประเทศ

หากแต่ยังมีผลพวงอย่างสูง ต่อความนิยมทางการเมือง หรือ ผลตอบสนองทางการเมืองด้วย เพราะอย่าลืมว่า ที่ชาวบ้านฐานรากของประเทศแทบทั้งประเทศเทใจให้กับรัฐบาลทักษิณที่ผ่านมา ปฏิเสธไม่ได้ว่า มาจากการเอาใจใส่ และให้ความสำคัญกับคนฐานรากเหล่านี้นั่นเอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการยกระดับสินค้าการเกษตรและผลิตภัณฑ์แต่ละท้องถิ่นหรือ “โอท็อป” อย่างที่“สมคิด”กำลังจะปลุกชีวิตขึ้นมาอีกครั้งนี่เอง

เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมถือว่า“คำตอบจากหมู่บ้าน”สำคัญกว่าที่คิดมากมายหลายเท่าและเชื่อว่า รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ก็ต้องการคำตอบจากหมู่บ้าน ไม่แต่เฉพาะ “ผลงาน” เป็นที่ยอมรับของคนฐานรากของประเทศเท่านั้น หากแต่ การ ลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่นาน ก็ยังเป็นอีกคำตอบ ที่รัฐบาล“คสช.”หวังว่าจะได้รับการสนับสนุนและมีคำตอบที่ดี จากชาวบ้าน

และนั่นก็หมายถึงความสำเร็จจากผลงานที่ “สมคิด” และทีมงานกำลังจะพิสูจน์ให้เห็นในอีก3เดือนนี้ด้วย