ลดเวลาเรียน-เพิ่มเวลารู้ Teach less, learn more!

ลดเวลาเรียน-เพิ่มเวลารู้ Teach less, learn more!

นโยบายให้ห้องเรียนเลิกบ่ายสอง เพื่อให้ทำกิจกรรมสร้างสรรค์ และเรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น

เป็นทิศทางที่เคยพูดกันมา แต่รัฐมนตรีศึกษาคนใหม่ พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เข้ามารับตำแหน่งก็สั่งให้เดินเรื่องทันที

และระงับข่าวสับสนที่เกิดขึ้นว่าจะปล่อยให้เด็กกลับบ้านบ่ายสอง ซึ่งอาจสร้างความปั่นป่วนให้กับพ่อแม่ผู้ปกครองที่ปรับตัวกระทันหันไม่ได้

“ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” คือปรัชญาสากลของประเทศที่ให้ความสำคัญกับการศึกษา

สิงคโปร์ใช้หลักที่เรียกว่า Teach less, learn more แปลว่า “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ซึ่งทำให้เด็กฉลาดขึ้น ค้นหาเองมากขึ้น ไม่นั่งท่องตำราหรือจดตามที่ครูสอนอย่างที่เด็กไทยถูกบังคับให้ทำมาช้านาน

แต่การ ปฏิรูปการศึกษามีมากกว่าเพียงแค่ให้ ลดเวลาในห้องเรียนเท่านั้น ยังจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติของครู ผู้ปกครองและนักเรียนตลอดไปถึงนักการเมือง ที่อาสามาบริหารบ้านเมือง และส่งคนมาเป็นรัฐมนตรีศึกษาคนแล้วคนเล่า แต่ไม่อาจจะแก้ปัญหาได้

เพราะนักการเมืองใช้กระทรวงศึกษาเพื่อเป้าหมายการเมืองของตน มิได้ทำเพื่อการสร้าง “คนไทยยุคใหม่” ที่เก่ง ฉลาด มีคุณธรรม รักความยุติธรรมและลึกซึ้งในความหมายของ “ประชาธิปไตย” ในทุกแง่มุมอย่างจริงจัง

การให้นักเรียนอยู่นอกห้องเรียนมากขึ้นไม่ได้แปลว่าโรงเรียนเลิกเร็วขึ้น แต่เป็นการแปลงสิ่งที่เรียกว่า class time เป็น school time ให้นักเรียนได้เรียนรู้ด้วยวิธีการแลกเปลี่ยนกับครู พี่และเพื่อน ๆ อย่างสนุกสนานและเพลิดเพลิน อันเป็นกระบวนการเรียนรู้โดยธรรมชาติที่ถูกต้อง

ที่บอกว่านักเรียนได้เรียนปีละ 1,200 ชั่วโมง แต่สู้หลายประเทศที่เรียนเพียง 800 ชั่วโมงไม่ได้นั้นสะท้อนถึง “ประสิทธิภาพ” ของการบริหารการเรียนการสอนที่แย่กว่าเพราะการประเมิน “ผลสัมฤทธิ์” ในรูปแบบปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นระดับประถม มัธยมหรือแม้มหาวิทยาลัยก็ยังล้าสมัย เน้นการประเมินด้วยเอกสาร แทนที่จะให้ความสำคัญกับการ “เรียนรู้” ของนักเรียนจริง ๆ

การเรียนการสอนแบบเดิมที่ให้ครูพูดและนักเรียนจดต้องยกเลิกในทุกระดับชั้น และจะต้องปรับใช้วิธีการที่ครูให้นักเรียนค้นคว้าหาความรู้และข้อมูลเองจากแหล่งต่าง ๆ ที่โลกยุคดิจิตัลทุกวันนี้มีมากมายหลากหลาย

เวลาที่ใช้ในห้องเรียนควรจะเป็นทำกิจกรรม ครูให้นักเรียนเล่าสิ่งที่อ่านมาจากบ้าน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนความเห็นระหว่างครูกับนักเรียน และระหว่างนักเรียนกันเองเพื่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์ มองทุกอย่างในหลายแง่มุม และไม่บังคับให้นักเรียนต้องเชื่อว่าความจริงมีเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น

นอกจากครูสอนนักเรียนแล้ว ก็ยังจะต้องสร้างระบบ เพื่อนสอนเพื่อนและ พี่สอนน้องเพื่อให้มีการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนกันได้ทุกระดับชั้น

เพราะหัวใจของการศึกษาคือการสร้างคนที่กล้าตั้งคำถาม เพื่อแสวงหาคำตอบและยอมรับว่าคำตอบต่อทุกคำถาม อาจจะมีมากกว่าหนึ่งคำตอบที่ถูกก็ได้

ยุคดิจิตัลทุกวันนี้ นักเรียนสามารถหาความรู้ได้ด้วยตนเองอย่างกว้างขวาง และตลอดเวลา ผู้ทำหน้าที่ครูจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลง เพื่อให้เกิดความตระหนักว่าครูไม่ได้มีหน้าที่ “สอน” อย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว

แต่ครูต้องเป็นผู้แนะนำ, ผู้ชี้ทาง, ที่ปรึกษา, ผู้ให้กำลังใจและเรียนรู้ร่วมกัน

ความหมายของคำว่า “ห้องเรียน” ได้เปลี่ยนไปมากแล้ว แนวคิดใหม่คือต้อง “กลับหัวกลับหาง” ห้องเรียนที่เรียกว่า Flipped Classroom ซึ่งหมายความว่ากิจกรรมในห้องเรียนต้องพลิกบหัวกลับ... ครูไม่สอนหรือเล็กเช่อร์ให้นักเรียนจดแล้วไปทำการบ้านที่บ้าน แต่เด็กไปหาข้อมูลความรู้นอกห้องเรียน และใช้เวลาในห้องเรียนนั้นแลกเปลี่ยนถกแถลงทำกิจกรรม เพื่อต่อยอดความรู้ที่ค้นหาจากแหล่งต่าง ๆ นอกห้องเรียน

การ ปฏิรูปการศึกษาจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มที่ทุกฝ่ายต้องปรับตัวไม่ว่าจะเป็นครู นักเรียน ผู้ปกครอง...ไม่เว้นแม้รัฐมนตรีศึกษาเอง!