เตรียมรับมือเศรษฐกิจ-การค้าโลกฟุบ

เตรียมรับมือเศรษฐกิจ-การค้าโลกฟุบ

ช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าระวางเรือของการค้าทั่วโลก ปรับตัวลดลงถึง 60%

 เป็นสัญญาณบ่งชี้การค้าโลกที่ซบเซา และเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอ เนื่องจากกำลังซื้อที่หดตัวจนส่งผลให้เกิดภาวะเงินฝืด โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ในขณะที่ดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกในเดือนก.ค.ดิ่งลงต่ำสุดในรอบ 16 ปี ซึ่งล่าสุด ซิตี้กรุ๊ปได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีนในปีนี้จะมีอัตราการเติบโตที่ลดลงเหลือแค่ 4% เท่านั้นแทนที่จะเป็น 7% ตามการคาดการณ์ของทางการจีน และถึงแม้ว่าครึ่งปีแรกที่ผ่านมาจีนมีการเติบโตที่ 6.3% ก็ตาม และหากเป็นไปตามคาดการณ์แล้ว การหดตัวลงของจีนที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่โตเป็นอันดับสองของโลก จะทำให้เศรษฐกิจโลกมีการเติบโตเพียงแค่ 2% แน่นอนว่าจะส่งผลให้เกิดแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยที่ตามมา ประกอบกับในรายงานของ International Grains Council ที่ออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2015 ระบุว่า สต็อกของสินค้าโภคภัณฑ์ที่เป็นอาหารของโลกนั้นมีเหลืออยู่ในปริมาณมากถึง 447 ล้านตัน เป็นตัวเลขสถิติที่สูงที่สุดในรอบ 29 ปี จึงน่าที่จะทำให้เข้าใจไปได้ว่า โลกกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืดที่อาจจะเกิดขึ้นต่อเนื่องอีกหลายปีนับจากนี้เป็นต้นไป

โดยการค้าโลกจนถึงสิ้นเดือนมิ.ย.2016 ก็อาจจะลดลงเหลือ 2% ในทิศทางเดียวกันกับเศรษฐกิจโลก และยังมีปัจจัยบ่งชี้จากราคาข้าวโพดในตลาดล่วงหน้าที่อ่อนตัวลง 6.2% ในปีนี้ รวมถึงราคาข้าวสาลีที่ลดลงถึง 17% ส่งผลให้การซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์มีเพิ่มขึ้นเพียง 6% เหนือระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางด้านการเงินเป็นส่วนสำคัญที่เข้ามากระทบ และเกิดอาการช็อกต่อความต้องการและการค้าโลกที่หดหายไป เนื่องมาจากเม็ดเงินสดนับล้านล้านดอลลาร์ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว ถูกแช่แข็งและติดกับดักอยู่กับภาวะอัตราดอกเบี้ยที่ใกล้ 0 เปอร์เซ็นต์มาเป็นเวลานานถึง 7 ปี ซึ่งกระทบต่อความมั่งคั่งของผู้คนที่จะทำให้มีรายได้ผลตอบแทนลดลง ในขณะที่ผลพวงจากประโยชน์ในการที่ตลาดหุ้นต่างๆมีผลตอบแทนที่ดีขึ้นก็ถูกกันไว้เพื่อปกป้องภาคธุรกิจไม่ให้เกิดการล้มละลาย ยิ่งเศรษฐกิจจีนมีการชะลอตัวจนต้องปรับลดค่าเงินหยวน 4.6% นับตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค.เป็นต้นมา ประกอบกับความผันผวนรุนแรงที่เกิดขึ้นในตลาดหุ้น ตลาดบอนด์ และตลาดอัตราแลกเปลี่ยน กำลังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กำลังซื้อในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและประเทศในตลาดเกิดใหม่เหือดหายไปด้วย

ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่หดตัวลง แต่การประเมินเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังล่าสุด ยังมองแนวโน้มเชิงบวก โดย ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประกาศ ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ วาดการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ยังสามารถขยายตัวได้ที่ 3% โดยที่รัฐบาลกำลังจะออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจระยะสั้น ที่เน้นให้เม็ดเงินกระจายลงไปยังประชาชนผู้มีรายได้น้อย และผลักดันให้เกิดการลงทุนในธุรกิจเอสเอ็มอี โดยหวังว่าจะทำให้เกิดตัวทวีคูณในระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของเม็ดเงินที่จะลงทุนไป ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาเม็ดเงินที่แน่นอน โดยที่ต้องคำนึงถึงข้อจำกัดด้านรายจ่ายของประเทศระยะยาวด้วย อย่างไรก็ตามแผนการพยุงเศรษฐกิจของรัฐบาลอาจมีมาตรการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนระยะปานกลางเพิ่มเติม แต่สัดส่วนต่อจีดีพีของภาครัฐมีเพียง 20% ขณะที่ภาคการส่งออกมีสัดส่วนถึง 77% ส่วนผลกระทบจากเหตุการณ์ระเบิดที่ราชประสงค์ คาดว่าจะกระทบจำนวนนักท่องเที่ยวจะหายไปราว 300,000 คน จากเป้าหมาย 29.9 ล้านคน ซึ่งจะกระทบต่อจีดีพีลดลง 0.05% ดังนั้นเศรษฐกิจไทยในเดือนก.ค.ขยายตัวอย่างเปราะบาง

โดยเฉพาะการแสดงวิสัยทัศน์ครั้งแรกของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่ย้ำเน้นถึง Moment Of Truth ซึ่งมีความหมายว่า คือการรีบเข้าไปแก้ปัญหาในสิ่งที่ต้องแก้ และการรีบเข้าไปสร้างในสิ่งที่ต้องสร้างนั้น โดยมีแนวคิดเชิงบวกเช่นกันว่า ประเทศไทยยังไม่วิกฤติ เพียงแต่อยู่ในภาวะถดถอย ขาดพลัง หากปล่อยไว้จะเป็นปัญหาเรื้อรัง โดยเฉพาะต้องช่วยผู้มีรายได้น้อยและเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มมากขึ้น และสนับสนุนเอสเอ็มอีให้สามารถเพิ่มขีดการแข่งขัน การสร้างคลัสเตอร์กลุ่มสินค้า สร้างนักรบทางเศรษฐกิจ พัฒนาคนรุ่นใหม่ รวมถึงการเร่งมือในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ที่คำนึงถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าจะคำนึงถึงผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างเดียว นอกจากนี้ดร.สมคิดบอกว่า เป้าหมายการบริหารประเทศไม่ได้อยู่ที่การส่งออกเพื่อทำให้จีดีพีมีอัตราการเติบโตสูงๆ แต่ต้องหันมาเน้นการเติบโตจากในประเทศจึงจะทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้ แต่ดูเหมือนแนวนโยบายของทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลประยุทธ์ 3 กลับยังไม่ได้เตรียมการที่จะรับมือหรือมีมาตรการป้องกันความเสียหาย อันเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ทางการเงินโลกที่เต็มไปด้วยความผันผวนที่รุนแรง รวมทั้งความเปราะบางของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่มีแนวโน้มฟุบตัวลง