อุดมศึกษา 3.0 : การศึกษาบนฐานสมรรถนะ

อุดมศึกษา 3.0 : การศึกษาบนฐานสมรรถนะ

ถ้าเราเชื่อแนวคิดของนักบริหารที่นำพา Apple ขึ้นมาเป็นบริษัทผู้สร้างนวัตกรรมแถวหน้าของโลก

อย่าง Steve Jobs ที่ว่า “ถ้าตามหลัง ต้องก้าวกระโดด (Leapfrog when behind)” ก็แปลว่า อุดมศึกษาของไทยต้องเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด ถ้าเป้าหมายจะไปติดอันดับในเวทีโลก โดยเริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนแนวคิดการจัดการศึกษาให้ก้าวผ่านอุดมศึกษา 1.0 กระโดดข้ามอุดมศึกษา 2.0 เพื่อไปอยู่ในแถวหน้าของคลื่นกระแสอุดมศึกษา 3.0 ที่กำลังจะมา

หมายความว่า วิธีคิดและออกแบบหลักสูตรที่ต้องไม่ตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่า หลักสูตรเป็น “เบ้าหลอม” ที่จะผลิตให้ผู้เรียนทุกคนออกมามีหน้าตาเป็นพิมพ์เดียวกัน แบบฐานคิดอุดมศึกษา 1.0 ไม่ได้ เพราะฐานคิดดังกล่าว เชื่อว่า “ผู้เรียนไม่รู้อะไร ดังนั้น หลักสูตรจึงต้องออกแบบการเรียนรู้ เป็นส่วนๆ ทีละขั้นทีละตอน โดยมีเป้าหมายว่า เมื่อเรียนจนจบหลักสูตรแล้ว ผู้เรียนจะมีองค์ความรู้ครบทุกด้านตามที่ออกแบบไว้”

หลักสูตรอุดมศึกษา 1.0 จึงเน้นการเรียนแบบบรรยายเยอะๆ ในลักษณะผู้รู้บรรยายให้ผู้ไม่รู้ฟัง มีวิชาเยอะๆ จำนวนหน่วยกิตเยอะๆ เพื่อการเรียนรู้ในห้องเรียน จะได้แน่นๆ เรียนปรับพื้นฐาน เรียนวิชาแกน เรียนวิชาเอก เรียนสัมมนา มีการบ้านเยอะๆ แบบฝึกหัดเยอะๆ จะได้รู้เยอะๆ เรียนเผื่อไว้ให้มากๆ เพราะไม่รู้ว่าจบแล้วจะไปทำงานด้านไหน

วิธีคิดเช่นนั้นใช้ได้ ในช่วงเวลาที่พัฒนาการทางความรู้ และเทคโนโลยีต่างๆ ยังไม่ก้าวไกลและแพร่หลาย เรียกง่ายๆ ว่า เป็นอุดมศึกษา 1.0 หรือยุคก่อนกูเกิ้ลซึ่งมีลักษณะที่ผู้รู้มีอยู่น้อย ผู้ไม่รู้มีอยู่เยอะ และต้องแย่งกัน เข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมีที่นั่งอยู่อย่างจำกัดเท่านั้น โดยที่อุดมศึกษายังถือเป็นอภิสิทธิ์ สำหรับคนบางกลุ่มที่มีศักยภาพและความพร้อมในระดับสูงเท่านั้น

แต่หลังจากอินเทอร์เน็ตแพร่หลาย กระจายไปในแทบทุกระดับและทุกมุมของสังคมโลก กูเกิ้ลกลายเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญแห่งการเรียนรู้ ที่ผู้คนจำนวนมากเรียกกันเล่นๆ ว่า “อาจารย์กู” ความรู้ในสรรพศาสตร์ทั้งหลาย ก็ไม่จำกัดอยู่แต่ในระบบการศึกษาที่เป็นทางการอีกต่อไป จะมีโอกาสได้เข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาหรือไม่ ก็ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญอีกต่อไป ความเท่าเทียมในการเข้าถึงองค์ความรู้ เปิดกว้างจนเกือบไร้ขอบเขต ไม่ว่าจะเป็นในมิติของพื้นที่ เวลา หรือเนื้อหา “ความรู้อาจเรียนทันกันหมด” ตามภาษิตไทยโบราณ จึงกลายเป็นความจริงเชิงประจักษ์ที่พบเห็นได้ในแทบทุกวงการ ในยุคที่ความรู้แทบทุกอย่างอยู่ที่ปลายนิ้วเช่นนี้ ซึ่งเป็นหลักหมายว่า เราได้ก้าวผ่าน ยุคอุดมศึกษา 1.0 เข้าสู่อุดมศึกษา 2.0 หรือยุคกูเกิ้ลเรียบร้อยแล้ว ผู้คนสามารถเรียนรู้ เข้าใจ ทำได้ หรือกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญโดยไม่ต้องผ่านอุดมศึกษาอีกต่อไป

โลกความรู้ที่เปิดกว้างเช่นที่ว่านั้น มีส่วนสำคัญที่ทำให้คนค้นพบความสนใจที่แท้จริง รวมไปถึงศักยภาพที่อาจจะซ่อนเร้นอยู่ของตนเอง จากการที่ได้อ่าน ได้พบ ได้เห็น ในหลากหลายองค์ความรู้ จากศาสตร์ สาขาวิชาต่างๆ ที่แทบไม่มีโอกาสได้รับรู้เลย หากไม่ได้เข้าอยู่ในรั้วสถาบันอุดมศึกษา และทำให้ฐานคิด “เบ้าหลอม” ที่ต้องการผลิตบัณฑิตที่มีมาตรฐานเดียวกัน (Standardization) เริ่มเปลี่ยนแปลงเป็น “เครื่องผสม” โดยออกแบบให้หลักสูตรมีความยืดหยุ่นมากขึ้น มีกลุ่มวิชาที่เป็นแก่นกลางความรู้ แล้วมีแขนงวิชาเอก วิชาโท วิชาเลือก ทั้งบังคับเลือก และเลือกเสรีมากมาย เพื่อ “ต่อยอด” ความรู้ให้สามารถตอบสนองความสนใจที่แตกต่างหลากหลาย (Customization) ของแต่ละคนได้มากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมาย หรือเส้นทางอาชีพที่แตกต่างของแต่ละคน ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำบางแห่งในสหรัฐอเมริกาไปไกลถึงขั้นเปิด “คลังวิชา” ที่รวมวิชาต่างๆ ไว้มากมาย โดยนักศึกษาสามารถออกแบบวิชาเอก โดยการเลือกวิชาที่ สนใจและนำมาประสมประสานเองได้ ซึ่งนำไปสู่การจบการศึกษาด้วย “วิชาเอก” ที่อาจจะไม่ซ้ำกับ ใครด้วยซ้ำไป ซึ่งเป็นฐานคิดที่ไปไกลถึงขั้น Mass Customization ก็ว่าได้

ในยุคหลังกูเกิ้ลหรือยุคที่เทคโนโลยีสังคมเครือข่ายแพร่ขยาย จนทำให้อุปกรณ์อย่างสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์ที่มีหน้าจอแสดงภาพทั้งปวง กลายเป็นเครื่องมือแห่งการสื่อสาร และการเรียนรู้ได้ในทุกที่ทุกเวลา ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงในฐานคิดและรูปแบบการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่ ที่เริ่มจะขยับจาก Gen Z ไปสู่ Gen Alpha (หมายถึง เด็กที่เกิดหลังปี 2010 เป็นต้นมา) ทำให้อุดมศึกษาไทยที่คิดจะก้าวไกลในเวทีโลก ต้องไม่คิดเพียงตอบโจทย์เฉพาะหน้า หากแต่ต้องปรับการจัดการศึกษาขนานใหญ่ เพื่อให้สามารถรองรับเจนเนอเรชั่นที่จะมีความแตกต่าง หลากหลายในระดับบุคคลที่สูงมากกว่าเจนเนอเรชั่นก่อนๆ อย่างมโหฬาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องรูปแบบการเรียนรู้และสื่อสาร รวมไปถึงค่านิยมในเรื่องอาชีพและการทำงาน

เด็กเหล่านี้ไม่ให้คุณค่ากับความรู้ในห้องเรียนที่สามารถหาได้เอง ไม่สนใจกฎกติกาเท่าผลสัมฤทธิ ไม่อดทนกับสิ่งที่เห็นว่าไม่ได้ประโยชน์  ไม่เชื่อว่าความรู้ต้องมาจากอาจารย์  ไม่เห็นว่าความ เชี่ยวชาญ ต้องมาจากผู้ทรงคณวุฒิ ไม่เห็นว่าปริญญามีความหมายเท่ากับทำอะไรแล้วประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักของผู้คน ไม่สนการทำงานกับองค์กรขนาดใหญ่ เพราะสนใจเป็นเจ้านายของตัวเองมากกว่าที่จะไปรับใช้ หรือสร้างความมั่งคั่งให้กิจการที่ไม่ใช่ของตนเอง

ดังนั้น อุดมศึกษา 1.0 หรือ 2.0 จึงมีแนวโน้มไม่ตอบโจทย์เจนเนอเรชั่นหลังๆ อีกต่อไป การจัดการศึกษาแบบที่มี “ผู้เรียนแต่ละคนเป็นศูนย์กลาง” จึงต้องเกิดขึ้นจริง ไม่ใช่แต่เพียงคำพูด และแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมก็ได้เกิดขึ้นแล้วจากการรวมกลุ่มของมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งที่ต้องการเคลื่อนไปสู่แถวหน้าของคลื่นอุดมศึกษา 3.0 ด้วยการจัดการศึกษาบนฐานสมรรถนะของผู้เรียนแต่ละคน การรับเข้าประเมินจากสมรรถนะของผู้เรียนแต่ละคน หลักสูตรที่แต่ละคนจะเรียนก็เพื่อเติมเต็มสมรรถนะที่ขาดหาย หรือยังพร่องไป ซึ่งก็แปลว่าแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเรียนกลุ่มวิชาที่เหมือนกันเลย เพราะหลักสูตรสำหรับแต่ละคนจะถูกออกแบบ และกำหนดให้เรียนอะไร มากน้อยแค่ไหนตามผลประเมินสมรรถนะของแต่ละคน การจบการศึกษาก็เกิดจากการประเมิน ว่าผู้เรียนมีสมรรถนะครบถ้วน เติมเต็ม จากตอนที่ถูกประเมินว่าขาดหายเมื่อตอนรับเข้าแล้วหรือยัง แน่นอนมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งๆ ไม่ต้องเปิดสอนทุกอย่าง เพราะสามารถส่งผู้เรียนไปยังมหาวิทยาลัยในเครือข่ายที่จัดการศึกษาบนฐานคิดเดียวกันได้ คำถามที่อยากชวนอุดมศึกษาไทย และหน่วยงาน กำกับดูแลเชิงนโยบายร่วมกันคิดต่อไปก็คือ เราพร้อมจะไปกับคลื่นอุดมศึกษา 3.0 แล้วหรือยัง

-------------------

เกศินี วิฑูรชาติ

รองอธิการบดีฝ่ายวางแผน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์