อองซานซูจี : ประชาธิปไตยพม่า เหมือน‘เด็กขาดสารอาหาร’

อองซานซูจี : ประชาธิปไตยพม่า เหมือน‘เด็กขาดสารอาหาร’

เธอบอกว่าประชาธิปไตยของพม่าวันนี้เหมือน “เด็กขาดสารอาหาร”

เธอบอกว่าวันนี้รู้แล้วว่าใครเป็นมิตร ใครเป็นศัตรู

และวันนี้เธอก็เลือกแล้วว่าประธานสภาที่ชื่อ ฉ่วยมาน ที่เพิ่งถูก “ปฏิวัติเงียบ” และถูกปลดออกจากตำแหน่งประธานพรรครัฐบาล หรือ USDP (Union Solidarity and Development Party) เป็น มิตร

แต่เธอไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการว่าพรรคทหารเป็น ศัตรู หรือไม่

ล่าสุดพรรค NLD (National League for Democracy) ของเธอประกาศจับมือกับอดีตผู้นำนักศึกษาที่ตั้งเป็นกลุ่มชื่อ Generation 88 เพื่อลงชิงชัยในสนามเลือกตั้งวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้

อองซานซูจีเตรียมทำศึกการเมืองรอบใหม่ เมื่อ 25 ปีก่อน พรรคของเธอชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้น ได้คะแนนเสียงกว่า 80% แต่กองทัพไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง จับเธอกักบริเวณ และปราบปรามคนที่คิดต่างอย่างรุนแรง จนวันนี้ ทหารต้องยอมเปิดประเทศ และให้ประชาชนตัดสินชะตากรรมอีกครั้ง

เธอบอกว่าหากการหย่อนบัตรเลือกตั้งเป็นไปอย่างเปิดเผยและยุติธรรม พรรคของเธอจะชนะท่วมท้น

แต่เธอก็ยอมรับว่ามีความหวั่นใจว่าอาจจะมีการโกงเลือกตั้ง ที่จะทำให้ประชาธิปไตยของพม่าเป็นเพียงรูปแบบผิวเผินเท่านั้น

ถ้าการเลือกตั้งเป็นไปอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม พรรคเราก็จะชนะเลือกตั้งแน่นอน และดูจากรัฐบาลก่อน ๆ นี้ ยังไง ๆ เราก็ตั้งรัฐบาลที่ดีกว่าของก่อนเก่าแน่นอน... อองซานซูจีบอก

ที่เธอกลัวมากคือ การใช้ศาสนาเพื่อเป้าหมายทางการเมือง อันหมายถึงการที่รัฐบาลของประธานาธิบดีเต็งเส่ง และพรรค USDP อาจใช้ศาสนามาเป็นเครื่องมือในการหาเสียง ซึ่งจะทำให้เกิดความแตกแยกและอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้

เธอบอกว่าทางการไม่ได้ทำอะไรกับการที่พรรคของเธอ ได้ร้องเรียนว่าคู่แข่งทางการเมืองได้ โจมตี ลูกพรรคของเธอในงานพิธีศาสนาอย่างน้อยสองครั้ง

แม้จะมีอุปสรรครอบด้าน เธอและพรรค NLD ก็จะไม่ถอย เตรียมส่งผู้สมัครทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 1,000 คนให้ครบเกือบทุกเขตเลือกตั้ง

แต่แม้พรรคเธอจะได้เสียงข้างมากในสภาหลังเลือกตั้ง อองซานซูจีก็ไม่อาจจะเป็นประธานาธิบดีได้ เพราะพรรคกองทัพไม่ยอมยกมือแก้รัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่ห้ามผู้มีคู่แต่งงานหรือลูกเป็นคนต่างด้าวทั้ง ๆ ที่รัฐธรรมนูญฉบับทหารตั้งแต่ปี 2008 นี้เขียนขึ้นเพื่อจะสกัดเธออย่างชัดเจนเพราะสามีผู้ล่วงลับเป็นอังกฤษ และลูกชายสองคนของเธอก็มีสัญชาติอังกฤษเช่นกัน

ประเด็นใหญ่ก็คือว่า หากพรรคของเธอได้คะแนนเสียงส่วนใหญ่ในสภา เธอจะเสนอใครเป็นประธานาธิบดี? คนที่เธอเสนอจะเป็นที่ยอมรับของกองทัพพม่าหรือไม่?

เดิมทีเชื่อกันว่า ฉ่วยมาน ในฐานะที่เป็นประธานสภาและหัวหน้าพรรครัฐบาล และมีความคุ้นเคยกับอองซานซูจีอาจจะเป็น ตัวเลือก ที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้

แต่เมื่อเต็งเส่งจัดการปลด ฉ่วยมาน ออกจากตำแหน่งในพรรคเหลือเพียงเป็นประธานสภาเท่านั้น สมการการเมืองของพม่าหลังเลือกตั้งก็ปรับเปลี่ยนอย่างกะทันหัน

ยิ่งเมื่อ อองซานซูจี บอกว่าเธอจะเปิดเผยชื่อคนที่พรรคจะเสนอเป็นประธานาธิบดีหลังรู้ผลการเลือกตั้ง และ จะเป็นคนจากในพรรคแน่นอน ความไม่แน่นอนทางการเมืองของพม่าก็ยิ่งจะสูงขึ้น

การเมืองพม่ากำลังเข้าสู่ช่วงแปรปรวนครั้งสำคัญอีกรอบ หากประชาธิปไตยพม่าเป็นเสมือน “เด็กขาดสารอาหาร” อย่างที่อองซานซูจีเปรียบเปรย ใครจะเป็นคนป้อนอาหารให้การเมืองพม่าเติบใหญ่อย่างแข็งแกร่ง?

ไม่ว่าโลกตะวันตกจะใช้แรงกดดันเพียงใด ไม่ว่าการเลือกตั้งจะเชื่อมโยงกับคำว่า “ประชาธิปไตย” อย่างไร สุดท้ายก็อยู่ที่ประชาชนคนพม่าจะตัดสินว่า หากทุ่มเสียงส่วนใหญ่ให้กับอองซานซูจีจริง จะยอมให้เธอก้าวขึ้นมาปกครองประเทศแทนกองทัพหรือไม่?

เพราะในวัย 70 นี่เกือบจะเรียกว่าเป็นโอกาสสุดท้ายที่ อองซานซูจี จะอาสามารับใช้ประเทศในฐานะผู้นำได้อย่างเต็มภาคภูมิ