การลดค่าเงินหยวน (2)

การลดค่าเงินหยวน (2)

ฝ่ายที่กังวลเกี่ยวกับการอ่อนตัวของค่าเงินหยวนมีเหตุผลสนับสนุน ดังนี้

1. การอ่อนตัวของค่าเงินหยวน สะท้อนการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกของจีน ที่ตัวเลขล่าสุดติดลบถึง 8% ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งหลังจากการประกาศตัวเลขดังกล่าวไม่กี่วัน ธนาคารกลางจีนก็เริ่มลดค่าเงินหยวนในวันที่ 11 สิงหาคม ทั้งนี้ การลดค่าเงินหยวนสามารถมองได้ว่าเป็นการกลับตัว (U-turn) ทางนโยบายเศรษฐกิจ กล่าวคือในช่วง 2005-2012 ธนาคารกลางจีนปรับเงินหยวนให้แข็งค่ามาโดยตลอด เพื่อเพิ่มกำลังซื้อของคนจีนและเพื่อส่งเสริมการใช้จ่ายภายในประเทศ (ทั้งการบริโภคและการลงทุน) ให้เป็นหัวจักรหลักการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แทนที่การส่งออก แต่การให้เงินหยวนอ่อนค่าลงในช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นการสะท้อนว่าจีนยอมกลับมาอาศัยการส่งออกให้เป็นหัวจักรขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง

2.การผ่อนคลายนโยบายการเงินที่ได้ทำมาอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ การลดดอกเบี้ยและการลดทุนสำรองของธนาคารนั้น เป็นเพิ่มสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเพื่อผ่อนคลายการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ ซึ่งมีแนวโน้มทำให้เงินหยวนอ่อนค่า (เมื่อปริมาณเงินเพิ่มขึ้น “ราคา” ของเงินก็ต้องลดลงด้วย) แต่หากธนาคารกลางจีนจะตรึงอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้อ่อนค่า ก็หมายความว่า จีนจะต้องขายเงินทุนสำรองเพื่อซื้อเงินหยวน แต่การกระทำดังกล่าวทำให้ทุนสำรองพร่องลงไปเรื่อยๆ และเป็นการลดปริมาณเงินหยวนในระบบ ก่อให้เกิดการตึงตัวของสภาพคล่อง ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงิน ดังนั้น การปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่า จึงมองได้ว่าเป็นการเปิดทางให้ธนาคารกลางจีน สามารถผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อเนื่องไปได้อีกโดยไม่มีข้อจำกัด หลายฝ่ายจึงคาดการณ์ว่า เงินหยวนจะอ่อนค่าลงไปอีกหลายเดือนหรือเป็นปี


3. เศรษฐกิจจีนวันนี้ใหญ่กว่าในปี 1994 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการลดค่าเงินหยวนครั้งใหญ่ และเป็นปัจจัยหนึ่งที่มาซึ่งวิกฤติต้มยำกุ้ง วันนี้จีดีพีจีนประมาณ 10 ล้านล้านเหรียญ หรือ 15% ของจีดีพีโลกและเป็นที่สองรองจากสหรัฐเท่านั้น (จีดีพีสหรัฐประมาณ 17 ล้านล้านเหรียญ) นอกจากนั้น จีนยังเป็นผู้ซื้อวัตถุดิบและสินค้าโภคภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดของโลกอีกด้วย กล่าวคือการลดค่าเงินหยวนคือการที่จีนลดกำลังซื้อในตลาดโลก และในขณะเดียว กันก็เพิ่มการขายสินค้าในตลาดโลกในราคาที่ถูกลงอีกด้วย ดังนั้น การลดค่าเงินจึงเป็นการส่งออกเงินฝืดนั่นเอง (แต่จีนก็เห็นสหรัฐ ยุโรปและญี่ปุ่นทำการพิมพ์เงินออกมาเป็นจำนวนมากด้วยนโยบายคิวอี ทำให้เงินสกุลของตนอ่อนค่าลง และได้ผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้น ทำไมจีนจึงจะปรับค่าเงินของตนบ้างไม่ได้?)

ผมคิดว่าคนที่กังวลเกี่ยวกับการลดค่าเงินหยวนมากที่สุดในขณะนี้ น่าจะเป็นนาย Ruchir Shama ที่เขียนบทความลงใน Wall Street Journal เมื่อ 16 สิงหาคม ชื่อว่า A Global Recession May Be Brewing in China โดยนาย Shama กลัวว่า “the next global recession likely will be made in China” แปลว่าภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจโลกครั้งต่อไปน่าจะมีต้นตอมาจากประเทศจีน

นาย Shama ให้ข้อสังเกตว่า เศรษฐกิจโลกนั้นเข้าสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมารวม 7 ปีแล้ว แม้ว่าจะเป็นการฟื้นตัวที่อ่อนแอและกระท่อนกระแท่น แต่หากพิจารณาจากสถิติในอดีต 50 ปี ก็จะพบว่า โดยเฉลี่ยนั้นเศรษฐกิจโลกกลับเข้าสู่สภาวะถดถอยทุกๆ 8 ปี แปลว่าหากเป็นไปตามสถิติในอดีตเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอยในอีกประมาณ 1 ปีข้างหน้า ซึ่งหลายคนคงจะไม่เห็นด้วยกับนาย Shama เพราะจะไม่ได้รู้สึกว่ามีการฟื้นตัวของเศรษฐกิจแต่อย่างใดในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นประชาชนของประเทศกรีซ)

จากสถิติของไอเอ็มเอฟพบว่า ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมานั้น เศรษฐกิจโลกเข้าสู่สภาวะถดถอย 5 ครั้ง กล่าวคือช่วงกลางทศวรรษ 1970 ต้นทศวรรษ 80 และต้นทศวรรษ 90 ช่วงฟองสบู่หุ้นอินเทอร์เน็ตของสหรัฐแตกในปี 2001 ตามมาด้วยครั้งล่าสุดคือวิกฤติการเงินซับไพร์มของสหรัฐในปี 2008-2009 ทั้งนี้ การถดถอยของเศรษฐกิจโลกนั้น ไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจโลกจะต้องหดตัว แต่ตามนิยามของไอเอ็มเอฟนั้น เศรษฐกิจโลกอยู่ในสภาวะถดถอยเมื่อเศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่า 2% ต่อปี ในขณะที่เศรษฐกิจโลกควรขยายตัว 3.5% ต่อปีในภาวะปกติ

ประเด็นสำคัญคือในช่วง 50 ปีที่ผ่านมานั้น เศรษฐกิจโลกถดถอยสืบเนื่องมาจากการชะลอตัว หรือถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐและประเทศพัฒนาแล้วเป็นหลัก แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจที่เป็นหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไม่ใช่สหรัฐ เพราะการโตของสหรัฐคิดเป็นสัดส่วนเพียง 17% ของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่บทบาทของยุโรปและญี่ปุ่นก็ลดลงเหลือไม่ถึง 10% ในขณะเดียวกัน การขยายตัวของเศรษฐกิจจีน (ซึ่งขยายตัว 7-8% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา) คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 1/3 ของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

ปัญหาคือการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนนั้น ขาดความสมดุลและยากที่จะดำเนินต่อไปอย่างยั่งยืนได้ ปัจจุบันจีนยังคงลงทุนมาก (คิดเป็นสัดส่วน 40% ของจีดีพี) แต่บริโภคน้อย (คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของจีดีพีเช่นกัน) ซึ่งแตกต่างจากประเทศส่วนใหญ่ ซึ่งสัดส่วนของการบริโภคจะสูงกว่าสัดส่วนของการลงทุน 2-3 เท่า (ไม่ใช่เท่ากัน) แปลว่าจีนลงทุนสร้างกำลังการผลิตมากเกินความต้องการภายในประเทศ จึงจะต้องนำสินค้าไปขายต่างประเทศ แต่ในระยะหลังที่จีนพยายามปฏิรูปเศรษฐกิจโดยส่งเสริมกำลังซื้อในประเทศเป็นหัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แทนการพึ่งพาการส่งออก และปกป้องตนเองจากผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจโลก ในปี 2008-2009 จีนได้เร่งรัดการลงทุนของทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ พร้อมกับการดำเนินนโยบายที่ยินยอมให้เงิน หยวนแข็งค่า (หรือไม่อ่อนค่าตามเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่อื่นๆ)

แต่ในที่สุดก็ต้องเผชิญปัญหาคือ กำลังซื้อภายในประเทศก็ยังไม่เพียงพอ จึงต้องเพิ่มนโยบายกระตุ้นต่อไปอีกเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะหลัง ที่ต้องเพิ่มการกระตุ้นด้วยนโยบายการเงิน เพราะภาคธุรกิจและรัฐบาลท้องถิ่นที่กู้ยืมเงินมาเป็นจำนวนมากเริ่มประสบปัญหา แต่การเพิ่มปริมาณเงินและสภาพคล่องในระบบที่เกิดขึ้น ในภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวช้าลงและความเชื่อมั่นตกต่ำ ทำให้คนจีนต้องการนำเงินออกนอกประเทศในจำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ผลกระทบที่ตามมานั้นผมขอนำไปเขียนในครั้งหน้าครับ