IP COMMERCIALIZATION

IP COMMERCIALIZATION

ปัจจุบันแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกได้มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างมาก

หากในประเทศต่างๆ ประสงค์ที่จะขึ้นมาอยู่ในระดับแถวหน้าของภาคเศรษฐกิจของโลก การพัฒนาจำเป็นที่จะต้องมีมากกว่าการขยายฐานการผลิต (Manufacturing Driven) หรือการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต (Efficiency Driven) ซึ่งสิ่งเหล่านี้กำลังลดความสำคัญลง เนื่องจากการขยายฐานในการผลิต หรือการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต จะทำให้เกิดภาวะต้นทุนที่สูงขึ้น แต่ผลประโยชน์ที่ได้รับ อาจจะไม่ครอบคลุมต้นทุนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว

2.การพัฒนาทางเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน จึงมีแนวโน้มที่เปลี่ยนจากการให้ความสำคัญกับการผลิตเพียงอย่างเดียว มาเป็นการให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์งานนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ อันเป็นงานอันมีทรัพย์สินทางปัญญาแทน เพื่อนำงานอันมีทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าว มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (Innovation Driven) แทนการพัฒนาและขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจแบบเดิมต่อไป

ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน เช่น การคิดประดิษฐ์งานสร้างสรรค์ตัวการ์ตูนแอนิเมชั่นต่างๆ อันเป็นงานอันมีทรัพย์สินทางปัญญา ผู้เป็นเจ้าของงานตัวการ์ตูนดังกล่าว สามารถอนุญาตให้ผู้ประกอบการอื่นใช้สิทธิในตัวการ์ตูนของตนเอง และผู้ใช้สิทธิดังกล่าวจะต้องจ่ายค่าใช้สิทธิให้กับเจ้าของตัวการ์ตูนนั้นๆ โดยหากตัวการ์ตูนนั้นได้รับความนิยม ผู้เป็นเจ้าของก็จะสามารถสร้างรายได้ได้อย่างมหาศาล ซึ่งการคิดประดิษฐ์และสร้างสรรค์งานดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องดำเนินการขยายฐานการผลิต หรือการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตแต่อย่างใด และหากประเทศใดมีการคิดประดิษฐ์หรือสร้างสรรค์งานอันมีทรัพย์สินทางปัญญาออกมามากเท่าใด รายได้อันเป็นจำนวนมหาศาลก็จะกลับเข้าสู่ประเทศนั้นๆ

3.เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางแล้วว่า ความรู้และนวัตกรรมได้มีบทบาทสำคัญในการเติบโตของระบบเศรษฐกิจต่างๆ ทั่วโลก ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property : IP) ในฐานะสินทรัพย์ประเภทหนึ่ง เป็นตัวเพิ่มมูลค่าที่สำคัญให้กับการเติบโตทางธุรกิจ และยังเพิ่มความสามารถในการผลิต และความมั่งคั่งได้อีกด้วย ดังนั้น ในหมู่ประเทศและภาคธุรกิจ จึงเกิดการรณรงค์สร้างความตระหนักรู้ ถึงความจำเป็นในการวางกลไกและนโยบาย ว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้ ให้มีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะค้นหาทรัพย์สินทางปัญญาในฐานะสินทรัพย์ (Intellectual assets) ที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีอยู่แล้วแต่ไม่ได้ตระหนักถึง เมื่อรู้แล้วว่าตนมีทรัพย์สินทางปัญญา จึงค่อยวางกลไกคุ้มครอง พัฒนา และทำให้ทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านั้น เกิดมูลค่าเชิงพาณิชย์ (commercialization) ต่อไปได้

4.ในระยะกลางและระยะยาว นวัตกรรมที่ได้มาจากการคิดค้นอยู่เสมอ ย่อมเป็นพลังขับเคลื่อนหลักให้กับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนปัจจัยของการพัฒนาทางเศรษฐกิจแหล่งอื่นๆ เช่น การเพิ่มคนงาน การติดตั้งเครื่องจักรและเครื่องมือเพิ่มขึ้น หรือใช้ที่ดินของประเทศเพิ่มขึ้น เป็นต้น เหล่านี้ล้วนแต่จะค่อยๆ หมดความมีประสิทธิภาพลงไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุที่ว่า ยิ่งจ้างคนงานมากเท่าใด ยิ่งใช้เครื่องจักรมากเท่าใด ในท้ายที่สุด พอถึงจุดหนึ่ง การใช้ทรัพยากรมนุษย์และทุนเหล่านี้ ก็จะยิ่งทำให้เกิดสภาวะที่ต้นทุนสูงกว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับในบั้นปลาย ตามกฎแห่งผลตอบแทนลดน้อยถอยลง (Law of Diminishing Returns)

ยิ่งไปกว่านั้น ในอีกแง่หนึ่ง ระบบเศรษฐกิจที่ไม่ได้มีพื้นฐานอยู่บนพื้นฐานของการสร้างสรรค์นวัตกรรม สินค้า บริการและวิธีการผลิตใหม่ๆ แต่ยังมีพื้นฐานอยู่บนการผลิตสินค้าบริการซ้ำๆ กันออกมาเป็นจำนวนมาก โดยใช้กระบวนการผลิตแบบเดิมๆ จะค่อยๆ ลดความมีประสิทธิภาพลง เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product : GDP) นั้นขึ้นอยู่กับมูลค่าที่เกิดจากผลิตผล (output) กล่าวคือ ยิ่งผู้บริโภคได้รับสินค้าหรือบริการชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นจำนวนมากซ้ำๆ แล้ว สินค้าและบริการเหล่านั้นยิ่งมีมูลค่าน้อยลงด้วยตามลำดับ

5.ความสำคัญของการสร้างสรรค์นวัตกรรม ยิ่งเพิ่มมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจจากการขยายตัวของภาคบริการ (Services sector) การแข่งขันของตลาดที่แข็งขันยิ่งขึ้น เนื่องมาจากโลกาภิวัตน์ และการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีการสื่อสารแบบใหม่ โดยที่บริษัทที่ผลิตเทคโนโลยีชั้นสูง มักจะมีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสินทรัพย์หลักของบริษัทในตลาดทุน (90%) หรือแม้กระทั่งภาคการผลิตดั้งเดิม จำนวนองค์ความรู้ที่ตนมีก็เพิ่มโอกาสในการแข่งขันขึ้นเรื่อยๆ เทคโนโลยีข้อมูลและการสื่อสาร (ICT) ได้ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ข้างต้น โดยการลดต้นทุนของการ outsourcing และความร่วมมือกับหน่วยงานและองค์กรอื่นๆ นอกบริษัท ก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายที่กว้างขึ้นในระบบเศรษฐกิจ และเร่งรัดการแพร่กระจายขององค์ความรู้และแนวคิดใหม่ๆ ปรากฏการณ์นี้ได้เปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการกระบวนการการสร้างมูลค่า ขณะที่บริษัทต่างๆ ไม่ได้ค้นหากำไรจากเพียงการขายสินค้าบั้นปลายเท่านั้น แต่ยังค้นหากำไรจากกระบวนการอื่นๆ ของตนที่นำมาสู่สินค้าบริการดังกล่าวอีกด้วย อาทิ การพัฒนาและวิจัย (R&D) การเป็นเจ้าของสิทธิบัตร ซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นภายในองค์กร เครื่องหมายการค้า และสายการจำหน่าย ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ ทรัพย์สินทางปัญญาในฐานะเป็นสินทรัพย์จึงเป็นปัจจัยสำคัญทางกลยุทธ์สำหรับการสร้างมูลค่าของบริษัท

6.ด้วยเหตุนี้ หากต้องการแข่งขันกับเศรษฐกิจโลกได้ จึงมีความจำเป็นที่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องพัฒนาขีดความสามารถในการผลิตงานนวัตกรรม ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมที่สร้างความเจริญให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศได้ และต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมและสนับสนุนวัฒนธรรมการสร้างนวัตกรรม สินค้าบริการ และวิธีการผลิตใหม่ๆ ในภาคการผลิต โดยตั้งเป้าหมายว่าจะต้องสร้าง "วงจรชีวิตทรัพย์สินทางปัญญา" (IP Life Cycle) ซึ่งได้แก่ การสร้างสรรค์ การคุ้มครอง และการทำให้ทรัพย์สินทางปัญญา มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ให้เกิดขึ้นอย่างครบถ้วน เพื่อที่จะสร้างพลังให้กับระบบเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้นเพื่อขับเคลื่อนไปสู่ยุคแห่งความรู้ แต่เนื่องจากประเด็นนี้ยังเป็นเรื่องใหม่กับสังคมไทย รัฐบาลสมควรที่จะมีแผนแม่บท หรือแผนกลยุทธ์ในการเร่งรัดการพัฒนา และการปฏิรูประบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในแง่ของโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์

ปัจจุบัน ประเทศไทยได้พยายามสร้างวงจรชีวิตทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว (แม้จะไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน) อันได้แก่ การสร้างสรรค์ และการคุ้มครอง แต่ยังไม่มีการพยายามสร้างให้ทรัพย์สินทางปัญญามีมูลค่าในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดแต่อย่างใด หากขาดสิ่งนี้แล้วไม่ว่าจะคิดสร้างสรรค์ประดิษฐ์สิ่งใดก็ตาม แต่ไม่สามารถนำมาใช้ในเชิงพาณิชย์ได้ การประดิษฐ์นั้นก็จะไม่มีชีวิตในวงจรธุรกิจ

7.บริบทและสถานการณ์ของการทำให้ทรัพย์สินทางปัญญา มีมูลค่าเชิงพาณิชย์ในปัจจุบัน

7.1 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศไทย

การดำเนินการต่างๆ ในด้านการนำเอาทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้ในเชิงพาณิชย์นั้น จำเป็นจะต้องมีองค์กรที่ช่วยในการสนับสนุน เพื่อให้การดำเนินการนั้นเกิดประสิทธิภาพ รวมถึงผลักดันและวางนโยบายเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการวิจัยและพัฒนา สร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น โดยรัฐบาลนั้นถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยเหลือและสนับสนุนในด้านต่างๆ เนื่องจากรัฐบาลถือเป็นองค์กรหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล ในเรื่องที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญานั้น ประกอบไปด้วยหน่วยงานดังต่อไปนี้เป็นอาทิ

1) กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญานั้น ถือว่าเป็นองค์กรหลักในการดำเนินการทางทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งประกอบไปด้วย การจดทะเบียนคุ้มครองและป้องกันสิทธิทางทรัพย์สินทางปัญญาทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงประชาสัมพันธ์ข่าวสารและเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานที่ให้คำปรึกษาข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินการในทางทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการวางนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญา

2) สำนักคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)

โดย สวทน.นั้น เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นองค์กรที่วางนโยบายต่างๆ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ของประเทศ ส่งเสริมหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน และประชาชน ให้ดำเนินกิจการตามนโยบายและแผนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม รวมถึงประสานงานระหว่างสถาบันวิจัยและหรือสถาบันการศึกษา ในด้านการศึกษาวิจัยและพัฒนาเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายที่ได้วางไว้

7.2 นโยบายรัฐบาลที่เกี่ยวกับการทำให้ทรัพย์สินทางปัญญามีมูลค่าทางธุรกิจ

นโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม นั้น ได้กำหนดขึ้นในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 11 ในหัวข้อ ยุทธศาสตร์การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน เพื่อให้เป็นพลังขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน เน้นการนำความคิดสร้างสรรค์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นทรัพย์สินทางปัญญา วิจัยและพัฒนาไปต่อยอด ถ่ายทอด และประยุกต์ใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์ สังคม และชุมชน โดยสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาและประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรมที่ส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการผลิต ตลอดจนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย และนวัตกรรมให้ทั่วถึงและเพียงพอ ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพในลักษณะของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเมื่อได้มีการวางนโยบายในด้านนี้แล้วนั้น รัฐบาลได้ดำเนินการตามแผน

7.3 นโยบายของสำนักงานคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมแห่งชาติ

ส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนานั้นจะต้องให้ถึง 1% ของ GDP ภายในปี 2559 และเพิ่มขึ้นเป็น 2% ในปี 2564 ซึ่งในปัจจุบันนั้น ค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มีเพียง 0.24% ของ GDP และเพิ่มอัตราส่วนการลงทุนของเอกชนต่อรัฐให้เป็น 70:30 ซึ่งในปัจจุบัน อัตราส่วนนั้นยังมีเพียง 40:60 เท่านั้น

7.4 ความร่วมมือกันระหว่างมหาวิทยาลัยและสถานประกอบกิจการ

หากมหาวิทยาลัยและสถานประกอบกิจการ ร่วมมือกันในการแลกเปลี่ยนความรู้ทางเทคโนโลยี จะส่งผลให้เกิดทรัพย์สินทางปัญญามีคุณภาพขึ้น โดยในปัจจุบันสถานประกอบกิจการขนาดใหญ่เท่านั้น ที่จะมีศูนย์วิจัยและพัฒนาเป็นของตนเอง โดยสถานประกอบกิจการที่ไม่มีศูนย์การวิจัยและพัฒนาเป็นของตนเอง จะต้องทำการซื้อผลงานจากมหาวิทยาลัย หรือนักวิจัยด้วยเงินเป็นจำนวนมากโดยตรง

มหาวิทยาลัยที่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่ไปสู่สถานประกอบกิจการหรือธุรกิจนั้น ยังมีจำนวนไม่มากในประเทศไทย ส่วนมากแล้วการแลกเปลี่ยนนั้นมักเป็นในรูปแบบของการให้คำปรึกษา ในปัจจุบันการถ่ายทอดเทคโนโลยีกันระหว่างมหาวิทยาลัยและสถานประกอบกิจการ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์สำหรับทรัพย์สินทางปัญญานั้น ยังมีจำนวนไม่มากที่ทำการจดสิทธิบัตรให้เรียบร้อย

8.ปัญหาในภาพรวมเกี่ยวกับโครงการของรัฐบาลที่พยายามสร้าง IP commercialization ในประเทศไทย

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาบริบทของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ประกอบกับการดำเนินการต่างๆ ของภาคราชการที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้นแล้ว เห็นได้ว่า การดำเนินการต่างๆ ยังไม่สอดคล้องและได้ผลเป็นรูปธรรม ตามที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ดังกล่าว ในหลายด้าน เช่น การไม่มีหน่วยงานกลางที่มีอำนาจ กำหนดกรอบแนวทางการดำเนินงานสำหรับการใช้ประโยชน์ในงานนวัตกรรม อันมีทรัพย์สินทางปัญญาเป็นการเฉพาะ เพื่อให้โครงการแต่ละโครงการดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน อันจะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีโครงการที่สนับสนุนให้มีการนำนวัตกรรมต่างๆ อันเป็นงานอันมีทรัพย์สินทางปัญญา ไปใช้ประโยชน์ในทางพาณิชย์มากมาย แต่ก็ยังไม่เกิดผลที่ดีเท่าที่ควร ประชาชนและผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็ยังคงเข้าไม่ถึงข้อมูล และไม่ได้ให้ความสำคัญของการคิดค้นและนำเอางานอันมีทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าว ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เพื่อพัฒนาต่อยอดธุรกิจของตนเอง เนื่องจากการดำเนินการของแต่ละโครงการนั้น หน่วยงานภาคราชการแต่ละหน่วยงานต่างๆ ดำเนินการต่างๆ กันเอง โดยไม่มีการประสานความร่วมมือกันหรือบูรณาการร่วมกันแต่อย่างใด

9.ข้อเสนอแนะสำหรับการทำให้เกิด IP Commercialization

9.1 เชิงนโยบาย

ประเทศไทยต้องกำหนดนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยทรัพย์สินทางปัญญาให้เห็นชัดเจนก่อนว่า จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปในทิศทางใด ด้วยวิธีไหน ไม่มีประโยชน์ที่จะกำหนดนโยบายแบบคร่าวๆ อย่างเช่นที่ปรากฏในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างที่แล้วๆ มา หากมีทิศทางที่ชัดเจนแล้ว นักวิจัย นักประดิษฐ์ต่างๆ จะได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ไปในทางเดียวกัน

9.2 เชิงโครงสร้าง

หลังจากที่มีนโยบายที่ชัดแจ้งแล้วว่า ประเทศไทยจะพัฒนาไปในทิศทางไหน จำเป็นต้องมีหน่วยงานที่รับผิดชอบขับเคลื่อนทุกภาคส่วน ให้เป็นไปตามทิศทางนั้น โดยตั้งเป้าหมายให้ครอบคลุมกิจการสร้างสรรค์ การคุ้มครอง และการทำให้ทรัพย์สินทางปัญญามีมูลค่าเชิงพาณิชย์

ฐานข้อมูลการประดิษฐ์ต่างๆ ที่มีอยู่แล้วในหน่วยราชการและมหาวิทยาลัยต่างๆ จะต้องนำมาเผยแพร่ให้ภาคธุรกิจและประชาชนได้รับรู้ และนำมาใช้ประโยชน์ได้ ปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญามีฐานข้อมูลการประดิษฐ์ที่นักประดิษฐ์ทั่วโลกได้นำมาขึ้นทะเบียนไว้แล้ว น่าจะได้รับการเผยแพร่ในทิศทางที่ได้กำหนดไว้แล้วในนโยบาย สิ่งใดที่รับการจดทะเบียนแล้ว นักประดิษฐ์ไทยจะได้ไม่ต้องคิดประดิษฐ์สิ่งที่ซ้ำซ้อนหรือคิดประดิษฐ์ต่อยอดออกไป นอกจากนี้ภาคธุรกิจสามารถขอใช้ข้อมูลเหล่านั้นมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนให้ดีขึ้น

ประเทศสิงคโปร์ประสบความสำเร็จอย่างสูงในการจัดตั้ง Intellectual Property Office of Singapore ให้เป็นองค์กรที่รวมศูนย์อำนาจการบริหาร จัดระบบทรัพย์สินทางปัญญา และประสานงานกับหน่วยงานอื่น

9.3 เชิงพัฒนาและวิจัย

ปัจจุบันประเทศไทยมีนักวิจัยและพัฒนาทั้งในภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัยมากมาย แต่การวิจัยและพัฒนาอาจเป็นไปในลักษณะคนละทิศละทาง และไม่สอดคล้องกับความต้องการของภาคธุรกิจ เมื่อมีนโยบายที่แน่ชัด ภาคธุรกิจก็จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนตามแนวนโยบาย การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของภาคธุรกิจจำต้องอาศัยการพัฒนาและการวิจัยของนักวิจัยและพัฒนา การวิจัยและพัฒนาในลักษณะนี้จะตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ และจะทำให้การวิจัยและพัฒนาไม่เป็นไปในลักษณะที่วิจัยและพัฒนาแล้ว ไม่มีภาคธุรกิจสนใจที่จะนำมาผลิต การวิจัยและพัฒนาในลักษณะนี้จึงเป็นการทำให้ทรัพย์สินทางปัญญามีมูลค่าเชิงพาณิชย์ได้อย่างแท้จริง

ผู้เขียนหวังว่า บทความทางด้านทรัพย์สินทางปัญญานี้จะเป็นประโยชน์ต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติที่กำลังปฏิรูประบบทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทย และให้ข้อคิดต่อ Digital Economy ที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนอยู่

ท้ายที่สุดนี้ ผู้เขียนขอขอบคุณ นางสาวกุลวดี หิรัญวัฒน์ศิริ, นางสาวธัญชนก อิงศรีสว่าง,นายพาทิศ ฮะกีมี และ นายเอื้ออังกูร สันติรงยุทธ ที่ได้ค้นคว้าข้มูลต่างๆ ให้ผู้เขียน


------------------------
ธีรพล สุวรรณประทีป 

บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเคนซี่ จำกัด