ส่อง Sell-Off แห่งทศวรรษ

ส่อง Sell-Off แห่งทศวรรษ

หากยกเว้น Black Monday ตลาดหุ้นสหรัฐ ในปี 1987 แทบทุกครั้งที่เกิดการขายหุ้นแบบหนักๆ

มักจะมาจากสาเหตุที่ค่อนข้างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 1997 ฟองสบู่อินเทอร์เน็ต ปี 2001 ซับไพร์มหรือแฮมเบอร์เกอร์ ปี 2008 วิกฤติยุโรป ปี 2011 หรือ Taper Tantrum สมัยเบอร์นันเก้ ปี 2013 ทว่า ในปี 2015 สถานการณ์ที่ตลาดหุ้นสหรัฐตกเกินร้อยละ 15 และ ตลาดญี่ปุ่นตกเกือบร้อยละ 20 ภายใน 2-3 วัน จนน่าจะพูดได้ว่าเป็นการ  Sell-Off แห่งทศวรรษนี้ ก็อาจจะไม่เกินจริงนัก หากจะบอกว่าเป็นเพราะตลาดหุ้นจีนที่ลดลงแบบรุนแรงมาก ก็อาจพูดได้ไม่เต็มปาก เนื่องจากสถานการณ์ตลาดหุ้นที่ตกต่ำในจีน เกิดขึ้นมากว่า 2 เดือนแล้ว

บทความนี้ จะขอแยกแยะว่า อะไรเป็นสิ่งที่เลวร้ายตามเนื้อผ้า และอะไรเป็นสิ่งที่แย่จากอารมณ์หรือ Sentiment เท่านั้น รวมถึงมาตรการที่น่าจะช่วยลดความอ่อนไหวของตลาดในเวลานี้มีอะไรบ้าง

คำถามแรก ปัจจัยใดที่แย่จากพื้นฐานจริงๆ? ผมคิดว่าคำตอบมีอยู่อย่างน้อย 5 ประการ ได้แก่

หนึ่ง อุปสงค์ของเศรษฐกิจจีน มีความอ่อนแอลงกว่าคาดจริง แม้ตัวเลขจีดีพีจะออกมาว่า เติบโตราวร้อยละ 7 ทว่า ตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ กลับชี้ว่าน่าจะน้อยกว่านั้นมาก ดังรูปที่ 1

สอง ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ลดลงอย่างรุนแรง กว่าร้อยละ 40 ตั้งแต่ปี 2012 ดังรูปที่ 2 ส่งผลต่อการชะลอตัวเศรษฐกิจของประเทศส่งออกสินค้าดังกล่าวในละตินอเมริกา ออสเตรเลียและแอฟริกา

สาม เศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวลงในไตรมาส 2 ของปีนี้ อย่างค่อนข้างชัดเจน โดยหดตัวลงร้อยละ 1.6 เมื่อคิดเป็นรายปี ดังรูปที่ 3 เกินกว่าที่หลายคนคาดการณ์ไว้ ตรงนี้หลายท่านเป็นห่วงว่า อุปสงค์ของเศรษฐกิจญี่ปุ่นค่อนข้างแย่กว่าตอนต้นปีเป็นอย่างมาก

สี่ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐ ญี่ปุ่นและยุโรปที่ส่งออกเป็นหลัก หรือ Export Play แย่กว่าที่คาดการณ์ไว้พอสมควร

และ ห้า ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างไทย มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ต่างประสบปัญหาเศรษฐกิจและการเมืองที่ไม่ราบรื่นเกือบจะพร้อมๆ กัน

คำถามที่สอง คือ อะไรที่แย่จากอารมณ์หรือ Sentiment? คำตอบมีอยู่อย่างน้อย 5 ประการเช่นกัน ได้แก่

หนึ่ง ดัชนีของตลาดหุ้นสหรัฐ ณ สัปดาห์ที่แล้ว อยู่ในระดับสูงมากพอที่จะอ่อนไหวต่อแรงกระเพื่อมจากข่าวร้ายหรือความเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะจากนอกประเทศ

สอง เศรษฐกิจสหรัฐเริ่มกลับมาดีในหลายภาคส่วน ทว่า กลับเป็นข่าวร้ายเนื่องจากนั่นหมายความว่าเฟดกำลังจะขึ้นดอกเบี้ยในเร็ววัน ซึ่งเหมือนบีบให้เป็นตัวกดอารมณ์ของตลาดให้คิดถึงเหตุการณ์ปี 2013 ที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด จะลดการทำ QE แล้วตลาดกระเพื่อม

สาม เศรษฐกิจยุโรปโดยภาพรวมดีขึ้นเล็กน้อย ทว่า การส่งออกไปจีนของประเทศอย่างเยอรมันที่ชะลอตัวลง กลบข่าวดีนี้ไปเกือบหมด

สี่ ความคืบหน้าของการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจญี่ปุ่น คืบหน้าไปพอสมควร ทว่า กระแสนโยบายรักชาติของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในการรำลึกครบรอบ 70 ปีของสงครามโลกที่สอง เบียดข่าวดีดังกล่าวตกไป

และสุดท้าย ตลาดติดลบทั้งฝั่งเอเชียและสหรัฐนั้น มีจุดร่วมของสาเหตุที่เชื่อมกันอยู่ จึงทำให้เกิดการลดลงของตลาดแบบเชื่อมโยงกันอย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 3-4 วันที่ผ่านมา

คำถามที่สาม ได้แก่ จะมีตัวช่วยอะไรให้กับการ Sell-off งวดนี้ ที่อาจจะพอจะเห็นในเร็ววัน? ผมเห็นมีอยู่อย่างน้อย 5 ตัวช่วย ได้แก่

หนึ่ง การชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดออกไปจากกันยายนนี้ ซึ่งตรงนี้ นายวิลเลียม ดัดลีย์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก ได้แง้มไต๋การชะลอดังกล่าวออกมาเรียบร้อยแล้ว

สอง มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE ล็อตต่อจากที่หยุดลงในเดือนกันยายน 2016 และมาตรการกระตุ้นรอบใหม่ของธนาคารกลางยุโรป น่าจะจ่ออยู่ในแผนของธนาคารกลางยุโรปไม่นานจากวันนี้

สาม การออกแพ็คเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ และการเรียกความเชื่อมั่นของทางการจีน สิ่งนี้ทางการจีนน่าจะกำลังรอจังหวะเวลาอยู่ เนื่องจากผู้นำเศรษฐกิจจีนเริ่มเก้าอี้อุ่นๆ แล้ว

สี่ การผนึกกำลังของประเทศยักษ์ใหญ่ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในการประชุมธนาคารกลางทั่วโลก ที่ Jackson Hole ณ เมืองไวโอมิ่ง ในวันนี้ อาจได้เห็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ของการผนึกกำลังกันของทางการประเทศต่างๆ

และท้ายสุด QE รอบใหม่ของธนาคารกลางญี่ปุ่น ที่หากไม่ออกมาคงน่าจะแทบไม่ได้แล้วจากภาพรวมในตอนนี้

สัปดาห์หน้า ผมจะเขียนถึงมาตรการและการเปลี่ยนแปลงต่างๆ แบบสุดโต่งอื่นๆ ที่หลายท่านอาจคาดไม่ถึง ซึ่งจะช่วยให้ความผันผวนในตอนนี้ลดลงหรืออาจจะหมดไปครับ

หมายเหตุ หนังสือเล่มล่าสุดด้านการลงทุนด้วยข้อมูลเชิงมหภาคของผู้เขียน “เล่นหุ้นในไทย รวยไกลรอบโลก” เริ่มวางจำหน่ายทั่วประเทศ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้ที่ www.facebook.com/MacroViewและ LINE ID: MacroView ครับ