ว่าด้วย ‘รากหญ้า’ และ ‘บิ๊ก ๆ’ ในการเมืองไทย

ว่าด้วย ‘รากหญ้า’ และ ‘บิ๊ก ๆ’ ในการเมืองไทย

นายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ชอบคำว่า “รากหญ้า” ขอให้คนไทยใช้คำว่า “ผู้มีรายได้น้อย” แทน

 เพราะสังคมไทยไม่ควรจะมีการแบ่งชนชั้น

ในคำปาฐกถาพิเศษเปิดสัมมนา “ปฏิรูปการศึกษาสร้างอนาคตประเทศไทย” ตอนหนึ่งท่านบอกว่า

“...วันนี้ ขออนุญาตใช้มาตรา 44 ไม่ให้ใครในประเทศนี้ ห้ามเรียกคนเหล่านี้ว่ารากหญ้า ให้เรียกว่าคนมีรายได้น้อย มีการศึกษาน้อย ต้องยกระดับพวกเขามาให้เท่าเทียม อย่าไปเรียกว่าเป็นรากหญ้า วันนี้ บ้านเมืองไม่มีการแบ่งแยกชนชั้นแล้ว ไม่มีอำมาตย์ ไม่มีอะไรทั้งสิ้น อำมาตย์ก็คือข้าราชการ เป็นตัวแทนของพระบาทสมเด็จประเจ้าอยู่หัว จะมาดูแลประชาชน...”

คำว่า รากหญ้า ถูกใช้ไปในความหมายทางการเมืองอย่างไรเป็นการตีความของแต่ละคน แต่ที่มาของคำนี้คือ grassroots ในภาษาอังกฤษ

แรกเริ่มคำนี้ไม่ได้เกี่ยวกับคนกลุ่มที่มีรายได้น้อยหรือมาก เป็นคำที่สะท้อนถึงพลังของคนชุมชนท้องถิ่นที่รวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับระดับชาติ

อีกความหมายหนึ่งของ grassroots movement คือขบวนการสังคมชุมชนท้องถิ่นที่เกิดขึ้นอย่างธรรมชาติ เป็นการรวมตัวของคนในชุมชนที่มีความรู้สึกร่วมกันเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชุมชนตนเอง

แตกต่างไปจากความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองที่มีการ จัดตั้ง ที่มีคนบางกลุ่มหรือบางคนหนุนหลังอยู่

อีกนัยหนึ่ง คำว่า ความเคลื่อนไหวระดับรากหญ้า หมายถึงความใกล้ชิดกับคนท้องถิ่น ชาวบ้านธรรมดาที่แตกต่างไปจากคนหรือกลุ่มคนที่มีอำนาจหรือมีตำแหน่งแห่งหนหรือมีฐานะที่ดีกว่าคนอื่น

แต่เมื่อนักการเมืองไทยเอานโยบาย “ประชานิยม” มาใช้ก็หยิบเอาคำว่า “รากหญ้า” มาประกบ ทำให้ตีความว่าเป้าของการหว่านเงินเพื่อประโยชน์ในการหาความนิยมของพรรคการเมือง นั้นคือคนที่ยากจนแร้นแค้นและพึ่งพาตนเองไม่ได้

เพราะความผิดเพี้ยนนี้ คำในการเมืองไทยคำว่า ประชานิยมกับคำว่า รากหญ้าจึงถูกนำมาใช้ในความหมายที่แบ่งแยกระหว่างคนมีอำนาจและมีเงิน กับคนที่ต่ำต้อยไม่มีทั้งเงินและไม่มีทั้งอำนาจต่อรอง

ทั้งที่ความจริงแล้วรากศัพท์ของ “รากหญ้า” มีความหมายตรงกันข้าม เพราะ “ความเคลื่อนไหวรากหญ้า” คือกลุ่มคนที่รวมตัวกันต่อรองกับอำนาจทางการเมืองระดับชาติ หรือหนุนเนื่องการเมืองระดับนโยบายให้สามารถเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่คนในท้องถิ่นต้องการ

จะว่าไปแล้ว หากตีความคำว่า “รากหญ้า” ให้ถูกต้อง พลังจากชุมชนที่เรียกว่า grassroots movement อยู่ตรงกันข้ามกับการเมืองแบบประชานิยมด้วยซ้ำไป

ดังนั้น คำว่า “รากหญ้า” จึงไม่ได้มีความหมายเหมือน “คนมีรายได้น้อย” เสมอไป ยกเว้นเสียแต่ว่าเราจะกลายเป็นเหยื่อของวาทกรรมการเมืองที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งถึงทุกวันนี้

เพราะหากเราเรียกใครกลุ่มหนึ่งว่าเป็น ผู้มีรายได้น้อย ก็จะเกิดคำถามต่อไปว่า “รายได้น้อย” ที่ว่านั้นคือเท่าไหร่ และ รายได้ปานกลาง คือเท่าไหร่ อีกทั้ง เศรษฐี หรือ เจ้าสัว ที่เราได้ยินบ่อย ๆ นั้นจะต้องมีรายได้และทรัพย์สินเท่าไหร่จึงจะตรงความหมายที่เราสื่อสารกันในสังคมไทย

ความจริง ที่เราควรจะต้องถกแถลงกันว่าคำไหนควรใช้หรือไม่ควรใช้เพื่อไม่ให้เกิด คนหลายชนชั้น ในสังคมไทยยังมีอีกหลายคำนัก

ไม่ว่าจะเรียกนายทหารว่า “บิ๊ก” เพื่อสื่อความหมายว่ามีอำนาจบารมีมากกว่าคนอื่น

หรือคำว่า “เจ้าสัว” ที่ตอกย้ำว่ามีคนกลุ่มหนึ่งที่ร่ำรวยมหาศาล แต่ไม่แน่ชัดว่ามีส่วนช่วยสังคมให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้นเพียงใดหรือไม่

ส่วนคำว่า อำมาตย์กับ ไพร่นั้นกลายเป็นประวัติศาสตร์แห่งวาทกรรมการเมืองของความขัดแย้งไปโดยสมบูรณ์แล้ว มิอาจจะนำมาวิเคราะห์ด้านภาษาและนัยของความหมายดั้งเดิมได้เลยแม้แต่น้อย