เสียงประชาชนเพื่อการปฏิรูป (1)

เสียงประชาชนเพื่อการปฏิรูป (1)

นับตั้งแต่มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งจากเวทีประชาพิจารณ์ทุกจังหวัดเฉลี่ยจังหวัดละ 11 เวที

 โดยประมาณ รวมเกือบ 800 เวที และจากการรับฟังความคิดเห็นจากสื่ออื่นๆอาทิวิทยุรัฐสภา โทรทัศน์รัฐสภา ศูนย์รับเรื่อง (Call Center) ตลอดจนโทรศัพท์ โทรสาร กว่าแปดเดือนที่ผ่านมา ถึงวันนี้ สามารถรวบรวมความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศได้เกือบหกหมื่นความเห็นและข้อเสนอแนะ ซึ่งทางทีมงานที่ปรึกษาของคณะอนุกรรมาธิการสังเคราะห์ประเด็นปฏิรูป ในคณะกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความเห็นของประชาชน สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้ดำเนินการบรรจุเข้าระบบไปแล้ว และยังต้องรอส่วนที่เหลือที่กำลังทยอยส่งเข้ามาและพิมพ์เข้าระบบ ซึ่งคาดว่าจะอีกนับหมื่นความเห็นและข้อเสนอแนะ จึงเชื่อได้ว่า เมื่อการดำเนินการรับฟังความเห็นของประชาชนทั้งประเทศสิ้นสุดลง ความเห็นและข้อเสนอแนะเหล่านี้จะเป็นฐานข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยเท่าที่เคยทำมา และน่าจะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาลทั้งกับสมาชิกสภาปฏิรูป คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะกรรมการยุทธศาสตร์แห่งชาติ สภาขับเคลื่อนแห่งชาติ นักวิชาการ นักวิจัยและบุคคลอื่นใดที่สนใจความคิดของคนส่วนใหญ่ของประเทศทั้งในขณะปัจจุบันและในอนาคต

การเก็บข้อมูลของคณะทำงานครั้งนี้มีลักษณะที่แตกต่างจากการทำวิจัยในบางประการอาทิ ไม่เป็นการสุ่มกลุ่มตัวอย่าง ไม่มีคำถามปลายปิดที่ผู้ตอบถูกจำกัดในการแสดงความคิดเห็น ไม่มีการกำหนดให้ต้องเปิดเผยผู้แสดงความคิดเห็น และเปิดกว้างให้แสดงความคิดเห็นได้อย่างเป็นธรรมชาติมากที่สุดตามความรู้สึกนึกคิดเฉพาะตัวว่าอยากเห็นบ้านเมืองเป็นอย่างไรทั้งในปัจจุบันและในอนาคตและเป็นหน้าที่ของคณะทำงานที่ต้องมาจัดหมวดหมู่ให้เข้ากับ 18 ประเด็นปฏิรูป บวกประเด็นที่ 19 คืออนาคตประเทศไทย และที่เหลือได้จัดรวมไว้ในหมวดประเด็นอื่นๆและถือเป็นประเด็นที่ 20 ซึ่งทั้งยี่สิบประเด็นนี้ประกอบด้วยประเด็นปฏิรูปการเมือง ประเด็นปฏิรูปการกีฬา ประเด็นปฏิรูปค่านิยมศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรม และการศาสนา ประเด็นการปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรม และทรัพย์สินทางปัญญา ประเด็นการปฏิรูปแรงงาน ประเด็นปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค ประเด็นการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ประเด็นการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ประเด็นการปฏิรูปเศรษฐกิจการเงินการคลัง ประเด็นการปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น ประเด็นการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ประเด็นปฏิรูปพลังงาน ประเด็นปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและการบริการ ประเด็นการปฏิรูประบบสาธารณสุข ประเด็นการปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประเด็นปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ประเด็นการปฏิรูปสังคมชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาสประเด็นการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ประเด็นอนาคตประเทศไทย และสุดท้ายคือประเด็นปฏิรูปอื่นๆที่ไม่อยู่ในสิบเก้าประเด็นข้างต้น จึงอาจพูดได้เต็มที่ว่าเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกหมู่เหล่าอย่างเท่าเทียมกัน ในการส่วนร่วมแสดงและเสนอแนะครอบคลุมทุกมิติอย่างกว้างขวางที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2558 ทางคณะอนุกรรมาธิการสังเคราะห์ประเด็นปฏิรูป ได้นำเสนอผลงานต่อสภาฯและสภาฯได้มติเห็นชอบให้เผยแพร่ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของประชาชนทั้งหมดได้อย่างเปิดเผย เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยและให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจได้เข้าถึงข้อมูลทั้งหมดที่ต้องการทราบ แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับข้อมูลเชิงลึกที่อยู่ในฐานข้อมูลของรัฐสภานั้น ผู้ต้องการข้อมูลเพื่องานวิจัยจะต้องร้องขอต่อสำนักงานเลขาธิการรัฐสภาเพื่อการเปิดเผยต่อคณะผู้วิจัยเป็นรายๆไป เป็นการต่างหาก

แม้จำนวนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชนจะยังไม่แล้วเสร็จสมบูรณ์ แต่เฉพาะข้อมูลที่ได้รับการบันทึกแล้วกว่าห้าหมื่นข้อความก็ทำให้เห็นความหลากหลายของความเห็น และสามารถจัดหมวดหมู่ได้อย่างน่าสนใจไม่น้อย

หากจะพิจารณายอดรวม จากสถิติของจำนวนความคิดเห็นแยกตามหมวดหมู่ทั้งจากเวทีรับฟังความคิดเห็นประมาณแปดร้อยเวที (แบบฟอร์มชุด ซี หรือ Form C) และจากศูนย์รับฟังความคิดเห็นสภาปฏิรูปแห่งชาติอีกนับสิบช่องทาง ซึ่งเป็นข้อมูลดิบจากประชาชนโดยตรง ณ วันที่ 15 สิงหาคม 2558 พบว่าประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจแสดงมากที่สุดถึงน้อยสุดรวมกว่าห้าหมื่นข้อความ สามารถเรียงลำดับคิดเป็นอัตราร้อยละได้ดังนี้

1. ประเด็นปฏิรูปการเมือง ร้อยละ 13.54

2. ประเด็นปฏิรูปค่านิยมศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรม และการศาสนา ร้อยละ 7.68

3. ประเด็นปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ร้อยละ 7.02

4. ประเด็นปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น ร้อยละ 7.02 (เท่ากับการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์)

5. ประเด็นปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 6.42

6. ประเด็นปฏิรูปสังคมชุมชน เด็ก เยาวชน สตรีผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส ร้อยละ 5.91

7. ประเด็นปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ร้อยละ 5.32

8. ประเด็นปฏิรูปพลังงาน ร้อยละ 4.95

9. ประเด็นปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ร้อยละ 4.79

10. ประเด็นปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม การพาณิชย์ การท่องเที่ยวและการบริการ ร้อยละ 4.58

11. ประเด็นปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร้อยละ 4.32

12. ประเด็นปฏิรูปสาธารณสุข ร้อยละ 3.19

13. ประเด็นปฏิรูปเศรษฐกิจการเงินการคลัง ร้อยละ 3.07

14. ประเด็นอนาคตประเทศไทย ร้อยละ 2.68

15. ประเด็นปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ ร้อยละ 1.24

16. ประเด็นปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค ร้อยละ 1.01

17. ประเด็นปฏิรูปการแรงงาน ร้อยละ 0.78

18. ประเด็นปฏิรูปการกีฬา ร้อยละ 0.50

19. ประเด็นปฏิรูปวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิจัย นวัตกรรม และทรัพย์สินทางปัญญา ร้อยละ 0.30 และ

20. ประเด็นปฏิรูปอื่นๆนอกเหนือสิบเก้าประเด็นข้างต้น ร้อยละ 15.66

เป็นที่น่าสังเกตุว่าประชาชนให้ความสนใจในประเด็นปฏิรูปการเมืองสูงสุดถึงร้อยละ 13.54 และเป็นประเด็นเดียวที่สัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 10 ของทั้งหมด ส่วนประเด็นที่ 2 ถึงประเด็นที่ 18 คือตั้งแต่การปฏิรูปค่านิยมศิลปะวัฒนธรรมจริยธรรมและการศาสนาถึงประเด็นปฏิรูปการกีฬา ต่ำกว่าร้อยละ 10 ทั้งหมด โดยเฉพาะสามประเด็นสุดท้ายคือแรงงาน กีฬา และวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มีผู้เสนอน้อยมาก ไม่ถึงร้อยละ 1 ของทั้งหมด อย่างไรก็ตามสัดส่วนของประเด็นที่ 20 อันเป็นการรวมประเด็นอื่นๆที่เหลือรวมกันแล้วสูงประมาณร้อยละ 15.66 ของทั้งหมด แต่เนื่องจากมีความหลากหลายมากจึงไม่สามารถเจาะลึกได้เท่า 19 ประเด็นหลัก

(อ่านฉบับเต็มในไฟล์แนบ)

-----------------

ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร

นักวิชาการอิสระ