สร้างนวัตกรรมด้วยการเป็น “องค์กรแห่งการเรียนรู้”

สร้างนวัตกรรมด้วยการเป็น “องค์กรแห่งการเรียนรู้”

นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ทั้งหมดมักจะมีพัฒนาการต่อเนื่องมาจากองค์ความรู้ในด้านต่างๆ ที่ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมมีอยู่ในตัวเองหรือที่ธุรกิจสะสมไว้

ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์ หรือจากการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อค้นคว้าหาความแปลกใหม่ที่เป็นที่ต้องการของตลาดหรือผู้บริโภค

การสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ สามารถทำได้ด้วยปัจจัยสำคัญ 5 ประการ เริ่มต้นจากการพัฒนาบุคลากรในองค์กร การพัฒนาทีมงาน และการพัฒนากรอบความคิดที่เน้นการคิดรวมเป็นระบบ

การพัฒนาบุคลากรให้พร้อมที่จะทำงานในองค์กรแห่งการเรียนรู้ เริ่มได้จากการพัฒนาให้บุคลากรมีความสามารถในการขับเคลื่อนตนเองไปสู่ความฝันใฝ่ในชีวิตและการทำงานที่ได้ตั้งใจไว้

อาจจะเรียกได้ว่า ต้องสร้างให้บุคลากรเริ่มจากการมี วิสัยทัศน์ส่วนตัว เพื่อตอบตัวเองให้ได้ว่า ตัวเองต้องการอะไรในชีวิตและในการทำงาน

คนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคนไทย มักไม่ต้องการหรือไม่กล้าที่จะเปิดเผยความฝันอันสูงสุดของตนให้คนอื่นได้รู้ แต่ผลที่เกิดขึ้นก็คือ เพื่อนร่วมงานหรือผู้บังคับบัญชาก็จะไม่ทราบถึงความต้องการอันนั้นไปด้วย ทำให้องค์กรไม่สามารถกำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กรเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายส่วนบุคคลของพนักงานได้

การทำงานที่จะเดินไปในทิศทางเดียวกัน จึงไม่สามารถเกิดขึ้นได้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวคิดที่ใช้กันในการบริหารธุรกิจปัจจุบัน คือยกอำนาจให้เจ้าของหรือผู้บริหารสูงสุด เป็นผู้กำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กร ซึ่งทำให้กลายเป็นวิสัยทัศน์ส่วนบุคคลของเจ้าของหรือผู้บริหาร ไม่ใช่วิสัยทัศน์ของทุกคนในบริษัท

องค์กรแห่งการเรียนรู้ จะเกิดขึ้นได้ด้วยการสนับสนุนและสร้างบรรยากาศให้สมาชิกแต่ละคนในองค์กรรู้จักประเมินตนเอง ให้ทราบว่าตนมีความต้องการอย่างไร และจะสามารถทำให้เป็นจริงได้อย่างไร

เมื่อนำวิสัยทัศน์ส่วนบุคคลในองค์กรมาผนวกรวมกันเพื่อหาความสมดุลที่เหมาะสมที่สุดได้ ก็จะทำให้ได้ วิสัยทัศน์ร่วมขององค์กร ที่พนักงานทุกคนอยากจะมีส่วนร่วมไปให้ถึง

ถือได้ว่า เป็นขั้นตอนแรกที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้

ขั้นตอนที่สอง ได้มาจากการสังเกตความจริงว่า มีความคิดดีๆ หลายอย่างที่ไม่เคยถูกนำมาปฏิบัติจริง มีกลยุทธดีๆ หลายอย่างที่ไม่ถูกนำมาใช้ หรือมีโครงการทดลองหรือโครงการนำร่องที่ได้ผลดีเยี่ยม แต่ไม่เคยถูกนำมาขยายผล
ทั้งนี้ เนื่องจากการที่เกิดความขัดแย้งจาก กรอบคิดของตนเอง กับกรอบคิดของผู้อื่นที่ได้เสนอความคิดดีๆ เหล่านี้ไว้

ทำให้เกิดการต่อต้าน เนื่องจากเห็นว่าคิดไม่ตรงกัน และหากเป็นความคิดที่ไม่ตรงกันของผู้ที่มีอำนาจบังคับบัญชาสูงกว่า ความคิดดีๆ เหล่านั้นจึงต้องหยุดชะงักไปอย่างน่าเสียดาย

วิธีการพัฒนากรอบความคิดภายในของตนเอง สำหรับบุคลากรในองค์กรแห่งการเรียนรู้ก็คือ การสร้างวัฒนธรรมในการยอมรับความแตกต่างที่หลายหลาย ซึ่งหากฝึกฝนจนทำได้ จะทำให้แต่ละบุคคลสามารถกลับมาวิเคราะห์ได้ว่ากรอบของตนเองคืออะไร โดยเฉพาะในส่วนที่คิดเห็นไม่ตรงกับผู้อื่น

นำไปสู่ การพัฒนาให้กรอบความคิดของตนเอง ให้รอบคอบรัดกุมขึ้น

องค์กรแห่งการเรียนรู้ ยังให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันเป็นทีม โดยเน้นไปที่ การมีวิสัยทัศน์ร่วมกันในทีมงาน และในองค์กรโดยรวม เป็นการยกระดับแรงบันดาลใจในการมุ่งสู่ความสำเร็จในการทำงาน สร้างแรงกระตุ้น และทำให้เกิดความสัมพันธ์ในการทำงานที่ดีระหว่างกัน

ขั้นตอนต่อจากการสร้างวิสัยทัศน์ร่วม ก็คือ การสนับสนุนให้เกิด การเรียนรู้เป็นทีม ซึ่งทำได้โดยการปฏิบัติ การทบทวนผล การวางแผนปรับปรุง และทำซ้ำๆ กันหลายๆ รอบ เพื่อนำความรู้จากสมาชิกแต่ละคนในทีม มาสร้างเป็นปัญญาในระดับที่ลึกกว่าให้กับทีม มากกว่าระดับที่เกิดขึ้นจากสมาชิกคนใดคนหนึ่ง

มีเครื่องมือหลายชนิดที่องค์กรแห่งการเรียนรู้นำมาใช้สร้างการเรียนรู้เป็นทีมได้ เช่น การทำสุนทรียสนทนา เพื่อและเปลี่ยนความคิดเห็นกันในทีมเชิงถกเถียง แต่ไม่ทะเลาะกัน การทำการระดมสมองของทีม หรือ การวิเคราะห์วิจารณ์เพื่อนำไปสู่ข้อยุติในเรื่องใดๆ ของทีมร่วมกัน

หรืออาจใช้เครื่องมือสำหรับการเรียนรู้เป็นทีมเหล่านี้ร่วมกันแบบผสมผสานที่ลงตัวตามความเหมาะสมของหน้าที่และศักยภาพของทีมงาน เพื่อนำไปสู่การเกิดพลังการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมขึ้นมาได้

ทีมที่ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่ทีมที่ไม่มีความขัดแย้งซึ่งกันและกันเลย แต่เห็นว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องที่ดีที่นำไปสู่การแก้ปัญหาและการสร้างสรรค์ที่ดีขึ้น ในขณะที่ ทีมธรรมดา มักจะพยายามซ่อนเร้นความขัดแย้งในทีมไม่ให้ปรากฏออกมา
ขั้นตอนสุดท้าย คือการสร้างให้สมาชิกขององค์กรมีความสามารถในการคิดรวมให้เห็นภาพของการทำงานในองค์กรทั้งระบบ ซึ่งรวมไปถึงระบบย่อยที่อยู่ในระบบใหญ่ด้วย เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันของงานในทุกระบบ มากกว่าการมุ่งดูเป็นเรื่องๆ และมองให้เห็นถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มากกว่าที่จะดูผลลัพธ์เป็นภาพเฉพาะหน้าที่ละภาพ

ลักษณะขององค์กรแห่งการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สามารถสังเกตเห็นได้เด่นชัด มีดังนี้:

เป็นองค์กรที่มองเห็นความไม่แน่นอนต่างๆ เป็นโอกาสในการขยายตัว มีการสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้จากความรู้ในตัวบุคคลของทีมงานแต่ละคน ยอมรับการเปลี่ยนแปลง เปิดเผยข้อมูลให้พนักงานได้รับทราบโดยไม่ปิดบังซ่อนเร้น มอง

องค์กรรวมเป็นระบบที่สัมพันธ์กัน และมีวิสัยทัศน์ เป้าหมายและค่านิยมร่วมกัน

องค์กรแห่งนวัตกรรมจะมีจุดเริ่มต้นมาจากการเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้!!!