มาตรการช่วยเหลือ SME ไทย

มาตรการช่วยเหลือ SME ไทย

ได้เห็นรายชื่อทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาลที่นำทีมโดย ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ท่านผู้ประกอบการคงมีความหวังขึ้นบ้าง

เพราะเป็นทีมที่มีประสบการณ์ในเรื่อง SME มานาน เชื่อว่าจะเข้ามาสานต่อโครงการที่สำคัญและผลักดันมาตรการใหม่ๆ ออกมาได้ทันที โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือ SME ด้วยการให้สินเชื่อผ่อนปรน (Soft Loan) ซึ่งเป็นหนึ่งใน 3 นโยบายหลัก ที่ ดร.สมคิด ผลักดันมาตลอดในช่วงที่เป็นที่ปรึกษานายกฯ

ถ้ามาตราการต่าง ๆ ช่วยเหลือ SME ได้ ก็จะช่วยให้ GDP ของประเทศไม่ติดลบในปีนี้ เนื่องจาก SME เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อน GDP ในไตรมาส 1 มีมูลค่าถึง 1.39 ล้านล้านบาท คิดเป็น 41% ของ GDP ทั้งหมด ในแง่ของการส่งออก ในไตรมาส 1 มีมูลค่ารวม 456,534 ล้านบาท คิดเป็น 25.6 % ของการส่งออกรวม โดยมีตัวเลขการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่ม AEC 121,823 ล้านบาท คิดเป็น 26.7 % ของตลาดส่งออก ถ้า SME เราเข้มแข็ง ปีหน้าเมื่อมีการเปิด AEC จะมีการเชื่อมโยงการขนส่งมวลชนและสินค้า การท่องเที่ยวได้มากขึ้น จะช่วยเพิ่มยอดการส่งออกได้อีกมาก

ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับ SME โดยได้จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เฉพาะกิจ) โดยนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และได้มีมาตราการส่งเสริม SME ระยะเร่งด่วน อาทิเช่น การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ โครงการสนับสนุนเครือข่ายผู้ประกอบการ SME ใน 18 กลุ่มจังหวัด โครงการจัดทำฐานข้อมูล SME แห่งชาติ โครงการศูนย์บริการ SME ครบวงจร โครงการสุดยอด SME จังหวัด และโครงการสนับสนุนและพัฒนา SME ที่มีศักยภาพ เป็นต้น

มาตรการที่เสนอมาทั้งหมด ไม่น่าจะแก้ไขปัญหาเร่งด่วนของ SME ได้ จากตัวเลขผู้ประกอบการ SME ที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. รวบรวมจาก 4 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย และ SME BANK ในปี 2557 มี SME ทั้งสิ้น 2,668,293 ราย แยกเป็นนิติบุคคล 589,026 ราย บุคคลธรรมดา 2,079,267 ราย ปรากฎว่า กลุ่มที่เป็นนิติบุคคล เข้าถึงสถาบันการเงินได้ 82% ขณะที่บุคคลธรรมดาเข้าถึงสถาบันการเงินได้เพียง 18% ถ้ามีการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการ เชื่อว่าจะมีลูกค้าในกลุ่มบุคคลธรรมดาอีกเป็นจำนวนมาก

มาตรการเสริมสภาพคล่อง โดยแบ่งตามกลุ่มผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ

กลุ่มแรก SME ที่มีศักยภาพ ช่วยเหลือตัวเองได้ มีการจัดการและการวางแผนทางการเงินที่ดี บางรายอาจมีปัญหาขาดสภาพคล่องเนื่องจากยอดขายตกต่ำ กลุ่มนี้สถาบันการเงินที่ผู้ประกอบการใช้บริการ คงจะดูแลกันอยู่แล้ว รัฐบาลมีหน้าที่เพียงสร้างความเชื่อมั่น กระตุ้นการบริโภค เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวโดยเร็ว

กลุ่มที่สอง คือกลุ่ม SME ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จนทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ สถาบันการเงิน ควรเข้าไปดูแลผ่อนปรนเงื่อนใขให้สอดคล้องกับความสามารถที่แท้จริง รัฐบาลอาจตั้งกองทุนเสริมสภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ยต่ำผ่านสถาบันการเงินที่ผู้ประกอบการใช้บริการอยู่ เพื่อให้การช่วยเหลือในช่วงนี้

กลุ่มที่สาม คือกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงสถาบันการเงินได้ ในกลุ่มที่เป็นรายย่อยที่มีศักยภาพ แต่ประสบปัญหาสภาพคล่องควรให้ธนาคารออมสินซึ่งมีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศให้การสนับสนุนสินเชื่อโดยเสนอผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสม ในรายที่ไม่มีหลักประกัน บสย. ควรค้ำประกันโดยยกเว้นค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน อย่างน้อย 1 ปี เรื่องเร่งด่วนที่ต้องกระทำเป็นสิ่งแรก คือ การสำรวจความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ SME โดยขอความร่วมมือกับหอการค้าแห่งประเทศไทย ผ่านหอการค้าจังหวัดที่มีอยู่ทั่วประเทศ จัดทำเป็นโครงการเฉพาะกิจในภาวะวิกฤต

Key Success Factor ที่สำคัญมากในภาวะวิกฤตนี้ จะต้องมีสถาบันการเงิน ที่มีบทบาทเป็น Lead Bank เพื่ออัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ สำหรับศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร (SME ONE-STOP SERVICE CENTER) ที่มีอยู่ 7แห่ง คงไม่เพียงพอ ควรให้มีการจัดตั้ง สสว. จังหวัด ให้ครบทุกจังหวัด เพื่อทำหน้าที่ติดต่อเชื่อมโยงภาครัฐและเอกชน ให้ข้อมูลความรู้คำแนะนำในการดำเนินธุรกิจ การอบรมสัมมนา และขึ้นทะเบียน SME

SME เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ต้องทำแผนเร่งด่วนเพื่อเร่งดำเนินการครับ