รู้จักตำแหน่ง Chief Culture Officer

รู้จักตำแหน่ง Chief Culture Officer

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราเริ่มมีตำแหน่งงานใหม่ๆเกิดขึ้นเรื่อยๆในระดับ C-Suite (ระดับงานที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “Chief”)

 เช่นตำแหน่ง CHRO (Chief HR Officer) ตำแหน่ง CPO (Chief People Officer) ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงด้านการบริหารคน นอกจากนี้ก็มีตำแหน่ง CIO (Chief Information Officer) ของสายงานสารสนเทศ และเราก็คงเคยได้ยินตำแหน่งงาน CCO (Chief Communication Officer) ที่บางองค์กรแปลว่าประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการสื่อสาร ทั้งนี้แต่ละองค์กรแปลคำว่า Chief ไม่เหมือนกัน บางแห่งเทียบตำแหน่ง Chief ว่าเป็นผู้จัดการใหญ่ก็มี ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรว่าจะเทียบตำแหน่งนี้ว่าอะไร อย่างไรก็ตามโดยทั่วไปตำแหน่ง Chief ของสายงานต่างๆหมายถึงผู้บริหารระดับสูงสุดของสายงานนั้นๆ และบรรดา Chief ทั้งหลายมักจะอยู่ในบอร์ดบริหารขององค์กรด้วย ซึ่งการประชุมบอร์ดมักประชุมกันในห้องประชุมใหญ่ประมาณห้องสวีท (Suite) ของโรงแรมระดับ 5 ดาว ฝรั่งจึงเรียกพวกผู้บริหารระดับ Chief ว่าเป็นพวก “C-Suite”

สำหรับตำแหน่ง CCO นอกจากจะหมายถึงตำแหน่ง Chief Communication Officer แล้ว ยังอาจหมายถึงตำแหน่ง Chief Culture Officer ที่หลายคนอาจยังไม่ค่อยคุ้นหูและไม่ทราบว่าตำแหน่งนี้มีหน้าที่ทำอะไรด้วย ในประเทศไทยเรา ดิฉันเองก็ยังไม่เคยเห็นตำแหน่งนี้ปรากฏมีอยู่กับองค์กรใด ความจริงอาจจะมีแล้วในบางองค์กรก็ได้ แต่ ณ เวลานี้ยังไม่ใช่ตำแหน่งที่แพร่หลายแน่นอน ส่วนในต่างประเทศโดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกานั้นได้มีมาได้ประมาณเกือบ 10 ปีแล้ว

โดยนิตยสารฟอร์จูนได้อ้างถึง“กูเกิล”ว่าเป็นตัวอย่างที่เป็นที่รู้จักดีที่สุดในเรื่องการสร้างตำแหน่งงาน Chief Culture Officer ขึ้นในปีค.ศ. 2006 โดยผู้ที่ดำรงตำแหน่ง CCO คนแรกของกูเกิ้ลคือสเตซี่ ซัลลิแวน ผู้ซึ่งควบ 2 ตำแหน่งเลยคือประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่าย HR และฝ่ายวัฒนธรรม

โดยหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของการเป็น CCO ก็คือดูแลรักษาวัฒนธรรมหลักของกูเกิ้ลอันได้แก่ ความมุ่งมั่นมีพลังไม่ย่อท้อ และการเปิดกว้างด้านความคิดและข้อมูล เนื่องจากในช่วงเวลานั้นกูเกิ้ลได้เติบโตขยายธุรกิจออกไปทั่วโลก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีคนทำหน้าที่รักษาวัฒนธรรมองค์กร (Culture Keeper)ไว้ให้คงอยู่ไม่สั่นคลอน เสื่อมสลายไป

นอกจากกูเกิลซึ่งเป็นผู้นำด้านนวัตกรรมที่นิยมทำอะไรใหม่ๆอยู่ตลอดเวลาอันรวมถึงการสร้างตำแหน่ง CCO นี้ องค์กรที่ทำธุรกิจด้านอื่นที่มีความเป็นอนุรักษ์นิยมกว่าก็ยังสร้างตำแหน่งงานนี้ขึ้นด้วยเช่นกัน เช่น องค์กรด้านการเงินการธนาคารอย่าง ธนาคารนอร์ธ เจอร์ซีย์ คอมมิวนิตี้ ซึ่งในตอนแรก CEO ของธนาคารได้รับการต่อต้านคัดค้านจากบอร์ดที่ไม่เห็นความสำคัญของตำแหน่งงานนี้และไม่เข้าใจว่าตำแหน่งนี้มีงานที่ต้องทำเป็นอะไรบ้าง

ทั้งนี้จอน คัสเซนบาค ที่ปรึกษาอาวุโสของบริษัทบู๊ซ และคอมปานีได้ให้ความเห็นว่าโดยลำพังเพียงชื่อตำแหน่ง “ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายวัฒนธรรม” นั้นฟังดูไม่ขลัง ไม่สื่อให้รู้ว่าต้องทำหน้าที่อะไรอย่างชัดเจน ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วการดูแลรักษาวัฒนธรรมให้คงอยู่เป็นเรื่องสำคัญ

เขากล่าวว่าหนึ่งในสาเหตุหลักที่ทำให้วัฒนธรรมองค์กรมีอันสั่นคลอน เสื่อมสลายก็เพราะว่าผู้บริหารไปเน้นการสื่อสารส่งข่าวให้ข้อมูลมากกว่าการปฏิบัติ พูดง่ายๆก็คือพูดหรือพ่นมากกว่าทำนั่นเอง การรักษาวัฒนธรรมไม่ใช่แค่งานการประชาสัมพันธ์ สร้างคำขวัญหรูๆแล้วทำโปสเตอร์หรือออกแบบสติ๊กเกอร์เก๋ๆไว้ส่งกันตามไลน์หรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ แต่งานสร้าง ดูแลและรักษาวัฒนธรรมเป็นงานที่มีเนื้อหารายละเอียดมากมาย เป็นงานที่เคยอยู่ในฝ่ายงาน HR มาก่อน แต่เมื่อ HR มีงานมากขึ้นและเรื่องของการบริหารวัฒนธรรมได้รับความสำคัญมากขึ้น องค์กรหลายแห่งจึงได้แยกงานนี้ออกมาจากงาน HR แล้วตั้งเป็นแผนกงานใหม่ให้เป็นเรื่องเป็นราวเสียเลย

ทำไมถึงต้องมีแผนกงานด้านวัฒนธรรม? เนื่องจากวัฒนธรรมเป็นค่านิยม ความเชื่อหลักขององค์กรที่สอดแทรกอยู่ในชีวิตความเป็นอยู่และกระบวนการทำงานขององค์กรในทุกอณูอย่างที่หลายคนไม่ตระหนักถึง การเกิดขึ้นและดำรงอยู่ขององค์กรล้วนเกิดมาจากความเชื่อและค่านิยมอย่างใดอย่างหนึ่งขององค์กร ซึ่งความเชื่อและค่านิยมนั้นก็คือวัฒนธรรมขององค์กรนั่นเอง

วัฒนธรรมองค์กรมีผลกระทบถึงการกำหนดเป้าหมายธุรกิจกลยุทธ์การทำงานและกระบวนการทำงานขององค์กรทุกขั้นตอน ยกตัวอย่างเช่นองค์กร ABC มีวัฒนธรรมเรื่องการรักษาความซื่อตรงและรักษาสิ่งแวดล้อม การกำหนดเป้าหมายธุรกิจขององค์กรย่อมต้องสะท้อนวัฒนธรรมนี้ด้วยการไม่ทำธุรกิจอย่างฉ้อโกงและทำลายสิ่งแวดล้อม

กลยุทธ์การทำธุรกิจและกระบวนการทำงานก็ต้องส่งเสริมวัฒนธรรมนี้เช่นกัน เวลาจะคัดสรรบุคลากรมาทำงาน การอบรม การประเมินผลและการให้รางวัลตอบแทนก็ต้องมีมาตรฐานและกระบวนการที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมเช่นกัน จึงเห็นได้ว่าการเกิดขึ้นและดำรงอยู่ขององค์กรขึ้นอยู่กับการมีวัฒนธรรมที่ดี มั่นคงและยั่งยืน องค์กรที่มีอายุเก่าแก่และประสบความสำเร็จอย่างยาวนานและยั่งยืนอย่างเช่น กลุ่มปูนซิเมนต์ไทย โตโยต้า จีอี ล้วนมีวัฒนธรรมองค์กรที่ได้รับการถ่ายทอดและสืบทอดผ่านเป้าหมาย กลยุทธ์และกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง

เรื่องของการมีผู้ดูแลกำกับรักษาวัฒนธรรมขององค์กรจึงเกิดขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจว่าพนักงานทุกระดับขององค์กรเข้าใจซึมซาบและปฏิบัติงานโดยยึดวัฒนธรรมองค์กรอย่างมั่นคง โดยที่สามารถวัดผลลัพธ์ได้จากการที่พวกเขาสามารถสร้างผลิตภัณฑ์และบริการออกสู่ลูกค้าและทำให้ลูกค้าภายนอกตระหนักถึงวัฒนธรรมขององค์กรผ่านสินค้าและบริการเหล่านั้น

 

ตัวอย่างผลงานของฝ่ายงานด้านวัฒนธรรมคืออะไร? บางคนก็ยังรู้สึกงงๆไม่เข้าใจงานด้านนี้อยู่ดี จึงขอยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรมอีกสักหน่อย CCO ของฝ่ายจะทำงานปรึกษาหารือกับ CEO และ CHRO ตลอดจน CMO เพื่อทำความเข้าใจร่วมกันถึงวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องการสื่อถึงพนักงาน ลูกค้าและสาธารณชนทั่วไป

จากนั้น CCO จะดูแลการถ่ายทอดวัฒนธรรมองค์กรสู่สิ่งตีพิมพ์ทั้งหลายขององค์กรว่ามีตราหรือโลโก้ที่สื่อวัฒนธรรมถูกต้อง CCO จะทำงานร่วมกับ CHRO ในเรื่องการกำหนดมารยาทระเบียบปฏิบัติในการทำงานของพนักงานให้สะท้อนวัฒนธรรมองค์กร ทำการจัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจและส่งเสริมวัฒนธรรมภายในองค์กร ช่วย CHRO สร้างแบรนด์นายจ้างที่สะท้อนวัฒนธรรมองค์กร ร่วมมือกับ CMO จัดกิจกรรมสำหรับลูกค้าที่เผยแพร่วัฒนธรรมองค์กร ดูแลภาพลักษณ์ทั่วไปขององค์กร และเมื่อองค์กรมีกิจการขยายสู่นานาประเทศ หรืออยู่ในระหว่างการเปลี่ยนแปลงซึ่งมีผลกระทบต่อวัฒนธรรม เช่นอยู่ในช่วงควบรวมกิจการ หน้าที่ของ CCO ก็คือต้องร่วมมือทำงานกับ CHRO และแผนกงานอื่นๆเพื่อดูแลรักษาวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องการให้คงอยู่ผ่านปัจจัยต่างๆดังกล่าวมาแล้ว

 อย่างไรก็ตามในความเห็นของดิฉัน งานของ CCO เป็นงานที่คาบเกี่ยวกับแผนกงานอื่นๆ โดยเฉพาะฝ่าย HR มาก นอกจากนี้หากองค์กรมีฝ่ายงานด้านการสื่อสารและประชาสัมพันธ์อาจมีผลทำให้งานของ CCO ดูสับสนซ้ำซ้อนกับงานแผนกอื่นๆได้ง่ายๆถ้าไม่มีการแบ่งแยกความรับผิดชอบให้ชัดเจน นี่ก็คือข้อควรระวังหากคิดจะสร้างตำแหน่งงาน CCO ขึ้นมานะคะ