วิธีสยบวิกฤต

วิธีสยบวิกฤต

ดิฉันขอร่วมแสดงความเสียใจ และส่งกำลังใจไปยังผู้ที่สูญเสียจากเหตุการณ์สี่แยกราชประสงค์

ตลอดจนขอร่วมชื่นชมผู้ที่เสียสละทุกท่าน ที่สำคัญ คือเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ปฏิบัติงานอย่างทุ่มเทเพื่อช่วยยื้อชีวิต และเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัย ที่ทำให้พวกเราอุ่นใจ ไม่กลัว

ตอนนี้ ยามที่บ้านเมืองมีภัย มีเหตุวิกฤตที่โหดร้าย พวกเราคนไทย ต่างตระหนักเต็มหัวใจว่า หากจะเดินก้าวไปข้างหน้า อย่างทั้งแกร่งและไกล เราต้องจับมือกันไว้ แล้วไปด้วยกัน ... Stronger Together 

ยามใดที่เกิดวิกฤต คงมีน้อยท่านที่ไม่คิดว่า หากเป็นเราเองที่ต้องประสบพบเหตุเภทภัย เราควรจะต้องทำอะไรบ้าง

แม้อาจจะคิดช้าไปนิด แต่โชคดีที่ไม่ได้เจอวิกฤตเอง

และก็ยังไม่สาย เพราะต่อไป ทำใจไว้ได้ว่าวิกฤตจะมาอีก

ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตที่เกิดจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงด้านธุรกิจ ที่ทั้งเร็ว และรุนแรงรอบกาย หรือภัยที่เกิดจากธรรมชาติ ที่ผลิกผันเกินคาดในยุคนี้.. และที่สำคัญ 

วิกฤตภัยที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ด้วยกันเอง

วันนี้มาคุยกันเรื่องกระบวนการบริหารวิกฤตฉบับย่อ พอให้เป็นแนวทางสำหรับท่านผู้อ่านไว้ใช้ได้ทั้งในองค์กร ทีมงาน และชีวิตส่วนตัว เพื่อเสริมความพร้อมในการรับมือกับสถานการณ์ที่คับขันขั้นวิกฤต

คำนิยามของวิกฤตในที่นี้คือ สถานการณ์ที่ก่อให้เกิดปัญหาอันส่งผลกระทบอย่างรุนแรงไม่ว่าต่อองค์กร ทีมงาน หรือบุคคล

กระบวนการบริหารสถานการณ์วิกฤตอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล มิใช่เพียงการรู้ว่าต้องทำอะไรยามเกิดวิกฤต หากต้องมีการวางแผนก่อนวิกฤตตลอดจนมีแผนว่าจะทำอย่างไรต่อหลังจากที่วิกฤตคลี่คลายอีกด้วย

สรุปว่า กระบวนการหลักในการบริหารวิกฤต มี 3 ด. คือ 1. ดัก 2. ดำเนินการ และ 3. เดินต่อ

1. ดักวิกฤต

ทำอย่างไรจึงจะดัก กักไว้ ไม่ให้วิกฤตมีโอกาสเกิด

หรืออย่างน้อยลดความเป็นไปได้ในการเกิด

ตัดมันไปที่ต้นตอ

ไม่รอให้มีโอกาสโต

ทั้งหมดนี้ ถือเป็นวิธีป้องกัน

กระบวนการสำคัญในขั้นแรกนี้คือ

1.1 การช่วยกันระดมความคิดว่าวิกฤตที่อาจเกิดได้ น่าจะมีอะไรได้บ้าง

1.2 จากนั้น เรียงลำดับว่า เราจะลงทุนลงแรงดักหรือป้องกันวิกฤตใด เพราะจำนวนวิกฤตที่คิดได้คงมีมากมาย ดักทุกอย่างไม่หวาดไม่ไหว ต้องเลือกดักตัวหลักๆ ตัวเป้งๆ

แนวทางการเลือก คือ มองหาตัววิกฤตที่หากเกิดจะส่งผลกระทบรุนแรง ยิ่งมีสิทธิ์เกิดสูง ยิ่งต้องเลือกแบบไม่ลังเล

1.3 เมื่อเรียงลำดับและเลือกแล้ว ขั้นต่อไปคือ มองหาสาเหตุที่ทำให้วิกฤตนั้นอาจเกิด แล้วไปขจัดที่เหตุ

1.4 บางอย่างสุดวิสัย กันแทบไม่ได้ ก็ต้องปรับแผนดัก เป็นเตรียมการพร้อมไว้ หากเกิดเมื่อใด เรารับมือได้ และมีวิธีลดความรุนแรง

หันมามองตัวอย่างง่ายๆใกล้ตัว การป้องกันวิกฤตในระดับบุคคล เช่น วิกฤตด้านสุขภาพ

วันร้ายคืนร้าย เราเจ็บหัวใจ ล้มทั้งยืน ต้องถูกหามส่งโรงพยาบาล เข้าห้องฉุกเฉิน ต้องถือเป็นวิกฤตชีวิตแน่นอน

ยิ่งเป็นมนุษย์เงินเดือน ทำงานหามรุ่ง กินบะหมี่สำเร็จรูปเป็นอาหารหลัก พักผ่อนไม่พอ ขอแอบเครียดเป็นระยะๆ

พอกะได้ว่า มีสิทธิ์เกิดภาวะโรคภัยได้ไม่ยาก

การดำเนินการขั้นดัก คือ ต้องนั่งวิเคราะห์ว่าตัวเราอาจป่วยเป็นโรคอะไรได้บ้าง ไม่ว่าจะจากกรรมพันธุ์และสารพันวิถีการดำรงชีวิตที่บั่นทอนสุขภาพ

เราน่าจะคิดได้หลายๆโรค ตั้งแต่โรคหัวใจ ไล่ถึง โรคไต ไมเกรน ฯลฯ

จากนั้น จึงเลือกโรคหลักที่วิเคราะห์แล้วว่ามีสิทธิ์เป็นสูง และเมื่อเป็นจะเกิดผลกระทบรุนแรงต่อสุขภาพและชีวิต อาทิ โรคหัวใจ และ โรคไต

ต่อไป ระบุว่าสาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคนี้มีอะไร แล้วดำเนินการขจัดตัวหลักๆที่ทำได้ เช่น ชอบกินของมันเยิ้มแถมจืดไม่ได้ ต้องเค็มจัดจึงสะใจ หรือ ทั้งสูบบุหรี่ กินเหล้า ไม่ออกกำลังกาย ได้ครบสูตร

หากไม่อยากเจอคุณพยาบาลใจดีในห้องฉุกเฉิน อะไรที่เกินๆไป ก็ต้องไล่ลด

บางอย่างดักไม่ได้ ไล่ไม่ไป เช่น เป็นกรรมพันธุ์ ก็ต้องทำใจ ไม่ว่ากัน

เลือกเกิดไม่ได้ แค่กันเหตุที่จัดการได้เต็มที่ ก็ถือว่าดีเยี่ยมแล้วค่ะ

เมื่อขั้นที่หนึ่งกันเจ้าวิกฤตไม่อยู่ จะต้องเริ่มใช้แผนขั้น 2 ว่าจะดูแลรับมือเขาอย่างไร ไม่ให้เขาสร้างปัญหายิ่งใหญ่ และสยบเขาให้ได้อย่างรวดเร็ว

2. ดำเนินการยามเกิดวิกฤต

ในชีวิตจริงต้องตระหนักว่าวิกฤตย่อมมีโอกาสเกิด

แม้เราลงทุนลงแรงในขั้นตอนดักอย่างเต็มที่ ไม่มีประมาทก็ตาม

จึงต้องรับความจริงว่า เกิดเป็นเกิด

หน้าที่เราคือต้องเตรียมรับมืออย่างเก่งแกร่ง และเข้มแข็งกว่าเจ้าวิกฤต

อาทิ โรคหัวใจ แม้พยายามกันอย่างเต็มกำลัง แต่ใจเจ้ากรรมยังยืนยันจะวาย ต้องเตรียมแผนรองรับ เช่น มียาใกล้ตัวยามฉุกเฉิน เป็นต้น

หรือตัวอย่างในองค์กร เช่น อัคคีภัย ซึ่งคาดได้ว่าเป็นวิกฤตที่อาจเกิด หากเกิดและควบคุมไม่ได้ ย่อมส่งผลสูญเสียรุนแรง จึงต้องเตรียมดัก

วิธีดักในขั้นแรก คือการป้องกันไม่ให้เกิด เช่น ห้ามนำวัสดุไวไฟเข้าในอาคาร

แต่หากไฟไหม้จริง แผนฉุกเฉินที่เตรียมไว้ให้ต่างเดินตามยามวิกฤต เช่น การอพยพคนออกจากตึก ก็ต้องใช้ได้ทันที เพื่อบรรเทาความสูญเสีย

ระหว่างนั้นก็เริ่มดำเนินการตามแผนดับเพลิงเพื่อสยบไฟในที่สุด

ความยากลำบากของขั้นตอนนี้คือความกดดัน ในภาวะคับขันทั้งด้านเวลา และผลกระทบที่อาจเกิด

การซ้อมซ้ำๆให้ทำตามแผนได้ ไม่สับสน จึงเป็นหนทางหนึ่งซึ่งจะช่วยลดความโกลาหลยามเกิดของจริง

ที่สำคัญ ผู้นำต้องกล้าตัดสินใจภายใต้ภาวะกดดัน 

ตัวที่จะเป็นหลักชี้นำในการตัดสินใจภายใต้วิกฤต คือเป้าหมายที่เราให้ความสำคัญสูงสุด

เช่น ประเทศชาติต้องมาก่อน ดังนั้น ไม่ว่าจะสับสนอย่างไร ไม่ว่าจะมืดมนจับต้นชนปลายไม่ได้ขนาดไหน ต้องเลือกประโยชน์ของชาติเหนือสิ่งอื่นใด หากทำการใดให้ชาติเสียหาย ต้องยุติทันที

3. เดินต่อ

การบริหารวิกฤตมิได้จบเพียงหยุดวิกฤตให้อยู่ แต่ต้องมองเลยไปว่าต้องทำอย่างไรให้สามารถกลับไปเดินต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเร็วสุดเท่าที่จะทำได้

อาทิ กรณีอาคารเกิดไฟไหม้ ต้องมีแผน “เดินต่อ”ไว้ตั้งแต่ต้น เช่น สำนักงานสำรองต้องไปใช้ที่ไหน ระบบใดต้องเร่งซื้อ เร่งทำก่อน ข้อมูลสำคัญใดต้องสำรองไว้นอกอาคารตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ จะได้มีเผื่อไว้ทำงานต่อไปได้ไม่สะดุด ไม่ต้องหยุดยาว

ท้ายที่สุด สิ่งที่สำคัญยิ่งในกระบวนการนี้ คือ

ต้องต่างหันกลับไปมองว่า ปัญหาที่เกิด สอนอะไรเราบ้าง

ครั้งต่อไป จะได้ทั้งแก้และกันอย่างรู้เท่าทันวิกฤต

ชีวิตเราต้องดีขึ้นค่ะ

Stronger Together